วานนี้ (15 ธันวาคม) ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน รัชดาภิเษก เขตดินแดง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย หัวข้อ ‘Bring Back to Communication Disorders Academic Meeting’
การประชุมในวันนี้มี กฤษณา เลิศสุขประเสริฐ นายกสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการและบุคลากรสมาคมฯ, วิทยากร, นักแก้ไขการพูด, นักแก้ไขการได้ยิน, พนักงานวิทยาศาสตร์และผู้สนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม
ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องการสื่อสารสำคัญมาก อย่าง แสนดี (ลูกชาย) ถ้าเขาสื่อสารไม่ได้ ชีวิตก็จะมีข้อจำกัดเยอะ ตนว่าปัญหาที่ท้าทายอีกอย่างในปัจจุบันในฐานะพ่อแม่ จะพบความซับซ้อนของอาการเยอะขึ้น การวินิจฉัยมีหลากหลายอาการ ตอนที่ตนพาลูกไปรักษาที่ออสเตรเลียก็วิเคราะห์ออกมาหลายอย่างจนไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ซึ่งมีผลกับการบำบัด ตนว่านักบำบัดเองอาจจะต้องเข้าใจบริบทที่กว้างขึ้นด้วย เพราะคงไม่ได้ทำแค่บำบัดลูก คงต้องเป็นการบำบัดจิตของพ่อแม่ด้วย
ทุกคนอาจจะเจอน้องๆ ที่มีปัญหามาเยอะ แต่พ่อแม่เจอคนเดียว ซึ่งลูกเป็นเหมือนแก้วตาดวงใจ เพราะฉะนั้นหน้าที่คงไม่ใช่แค่บำบัดเรื่องการพูด แต่บำบัดเรื่องความรู้สึก กำลังใจให้ก้าวเดินต่อไป เพราะฉะนั้นทุกคนเป็นส่วนสำคัญ ต้องบอกว่าอาชีพนี้มีความหมายมากต่อชีวิตคน สามารถเปลี่ยนชีวิตของคน ของเด็กคนหนึ่งได้ ของผู้ใหญ่คนหนึ่งได้ ต้องขอบคุณทุกท่านแทนครอบครัวของเด็กหูหนวกและคนที่มีปัญหาการพูดการได้ยินด้วย
จากนั้นชัชชาติได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘How to achieve parental empowerment of children with communication disorders and their families’ แบ่งปัน 5 บทเรียนชีวิตที่ได้เรียนรู้จากการดูแลรักษา แสนดี-แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชาย ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ที่ทำให้มองโลกเปลี่ยนไป เข้าใจคนหูหนวกมากขึ้น
ประกอบด้วย 1. เรื่องที่ไม่คาดคิดในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ 2. หยุดหวังปาฏิหาริย์ ไม่มีใครแก้ปัญหาของเราได้นอกจากตัวเราเอง 3. ต้องเข้าใจปัญหาให้ดีที่สุด พยายามหาทางออกที่ดีที่สุด (ด้วยตัวเอง) 4. พยายามให้มากที่สุด อย่ายอมแพ้ 5. หากำลังใจ แรงบันดาลใจในการก้าวต่อไป
สำหรับการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อให้สมาชิกได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นบุคลากรผู้ร่วมวิชาชีพยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อนำไปพัฒนางานของตน รวมทั้งติดตามความเป็นไปของวิชาชีพ เพราะศาสตร์และองค์ความรู้ของวิชาชีพนี้ สามารถช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติของการสื่อความหมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น