วันนี้ (28 พฤษภาคม) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครแถลงผลงาน 2 ปี ในหัวข้อ ‘2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่’
ชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นการมารายงานผลงาน 2 ปีให้กับประชาชน ถือเป็น 2 ปีของความท้าทาย และสิ่งที่ตกผลึกคือกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าเที่ยวแต่ประสิทธิภาพยังไม่สูงมาก ทั้งความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีคุณภาพ และที่ผ่านมาเชื่อว่าทางผู้บริหารได้พยายามเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพของเมืองเพื่อให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น ซึ่งได้ทำในหลายมิติ หลายนโยบายกว่า 200โครงการ
2 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน ซึ่ง 6 ด้านที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างถาวรคือ
- การเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เจ้าหน้าที่ กทม. ‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน’ โดยใช้ Traffy Fondue ในการแก้ไขปัญหา จนถึงปัจจุบันมีเรื่องที่ประชาชนแจ้งมาแล้วกว่า 590,000 เรื่อง และแก้ไปแล้วประมาณ 500,000 เรื่อง โดยที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องสั่งการ
- การกระจายอำนาจสู่ประชาชน โดยเอางบประมาณลงไปในชุมชน ลงไปในเขต ให้มากขึ้น
- เรื่องความโปร่งใส ยืนยันว่ารับเรื่องทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ หากเมืองไม่โปร่งใสไม่มีทางมีประสิทธิภาพได้ และจะเสียทรัพยากรไป เพราะจะทำให้คนมีเส้นถึงจะมีสิทธิ์ ดังนั้นที่ผ่านมามีการสั่งเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตออกไปแล้วประมาณ 30 คน
- การใช้เทคโนโลยีเพื่อมาปรับปรุงการให้บริการ
- การมีส่วนร่วมกับประชาชนในการทำกิจกรรมต่างๆ ใน กทม. มีคนรุ่นใหม่มามีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่าเมืองนี้จะเปลี่ยนได้ถ้าทุกคนร่วมกัน
- กล้าทำปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาสำคัญ คือเรื่องหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ที่ต่อเนื่องมานาน กทม. จึงได้มีการจ่ายหนี้ชุดแรกไปแล้ว ในงานระบบส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 23,000 ล้านบาท รวมถึงโอนกรรมสิทธิ์โครงการส่วนต่อขยายมาเป็นของ กทม.
ชัชชาติกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการลดการผูกขาด โดยจะเสนอรัฐบาลยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมทุนตามกฎหมายให้โปร่งใส และมีประโยชน์มากที่สุดกับประชาชน
รวมถึงความท้าทายเรื่องระบบการศึกษา การพัฒนาระบบสาธารณสุข เพราะเป็นตัวช่วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ เชื่อว่านโยบายและโครงการต่างๆ มากมาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของเมืองจะเป็นผลในระยะยาว และอีก 2 ปี แม้ตนเองไม่อยู่แล้ว แต่โครงสร้างนี้จะยังอยู่ น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และถ้ามีประโยชน์จะขยายผลไปที่จังหวัดอื่นและระดับประเทศไทย
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้ทำมานั้นหากผ่าน 4 ปีไปแล้ว ผมไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังอยู่คือโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คือให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเสียงของประชาชนมีพลังมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวว่า สิ่งที่ยังต้องปรับปรุง เนื่องจากปัจจุบันยังมีพฤติกรรมผักชีโรยหน้าอยู่ ซึ่งยังไม่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันที่ยังมีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพล แต่เราก็ไม่กลัวและเดินหน้าต่อ รวมถึงฝาท่อที่ กทม. ต้องไปควบคุมคุณภาพ รถที่จอดริมถนน รวมถึงหาบเร่ที่ลงอยู่บนถนน ซึ่งเมื่ออยู่บนถนนจะเป็นอำนาจของตำรวจ ดังนั้นจึงต้องเป็นการบูรณาการ
ดังนั้นจึงต้องทำ 3 ส่วน คือปรับปรุงพนักงานของ กทม. ให้จริงจังขึ้น บูรณาการหน่วยงานให้เข้มข้นและให้ดีขึ้น และแก้ระเบียบที่ล้าหลัง
ชัชชาติยืนยันว่า กทม. ก็จะทำงานเต็มที่ เพื่อให้คนเหนื่อยน้อยลงและเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เพื่อให้คนอยู่ในครอบครัวและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
หากให้คะแนนเต็ม 10 ชัชชาติกล่าวว่าขอให้คะแนนที่ 5 คะแนน เพราะจริงๆ เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องให้คะแนน และ กทม. ยังต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป โดยน้อมรับคำติทุกข้อมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
ชัชชาติกล่าวต่อว่า หลังจากนี้คนจะใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น เพราะต้นทุนชีวิตคือคนจะใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปเสียเวลาการเดินทาง ไม่ต้องเอาคุณภาพชีวิตไปเสี่ยงกับมลพิษต่างๆ เชื่อว่า กทม. ไม่ได้มีนโยบายที่เป็นแชมเปียนเรื่องเดียว ต้องมีนโยบายเป็นร้อย เพราะไปผูกพันกับชีวิตคนหลายเรื่อง ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ในหลากหลายมิติ