×

เปิดนิยาม ‘ผู้มีอิทธิพล’ เวอร์ชันชาดา เผยส่วนใหญ่พัวพันยาเสพติด สั่งจังหวัดคิกออฟปฏิบัติการพิเศษ เริ่มจัดระเบียบสังคม

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2023
  • LOADING...
ชาดา ไทยเศรษฐ์

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ที่กระทรวงมหาดไทย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ครั้งที่ 1/2566 โดยฝ่ายเลขาฯ ได้รายงานบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่พิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการระดับจังหวัดจำนวน 66 จังหวัด ซึ่งมีจังหวัดที่ได้รับการประเมินเป็นพื้นที่สีเขียว 10 จังหวัด ไม่พบรายชื่อผู้มีอิทธิพล

 

สำหรับบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล สีแดงและสีเหลือง ได้แบ่งตามพฤติการณ์การกระทำผิด โดยผู้มีอิทธิพลส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รองลงมาคือนายทุนปล่อยกู้นอกระบบ บุกรุกที่ดินสาธารณะ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และเปิดบ่อนการพนันออนไลน์ รวมถึงยังได้รับรายงานรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

กระทรวงมหาดไทยเปิดปฏิบัติการ (Kick Off) ให้จังหวัดและอำเภอจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อเริ่มดำเนินการในส่วนนี้แล้ว พร้อมมาตรการจัดระเบียบสังคม และการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล รวมถึงการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน การควบคุมและดูแลสถานบริการ หรือสถานบริการที่เปิดให้บริการลักษณะเดียวกับสถานบริการ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และมาตรการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด

 

นิยาม ‘ผู้มีอิทธิพล’ เวอร์ชันชาดา

 

ขณะเดียวกันชาดายังได้จำกัดความคำว่า ‘ผู้มีอิทธิพล’ ด้วยว่าเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการหรือสั่งการอันละเมิดต่อกฎหมาย โดยใช้อำนาจทางการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม หรือปัจจัยอื่นใดไปคุกคาม กดขี่ ข่มเหง หรือรังแกประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ดังนั้นผู้มีอิทธิพลจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าอำนาจรัฐเข้มแข็ง ภาครัฐจึงต้องบูรณาการอย่างเข้มแข็ง ทีมอำเภอ ทีมจังหวัดต้องเข้มแข็ง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน

 

“ผู้มีอิทธิพลเกิดจากช่องโหว่ของรัฐ ช่องว่างของอำนาจรัฐ การที่ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ทำให้ประชาชนต้องหาหนทางเอง ถ้าไปเจออิทธิพลดีก็ช่วยประชาชน แต่ถ้าอิทธิพลที่ไม่ดี แสวงหาผลประโยชน์ ก็ทำให้เกิดอาชญากรรมต่างๆ ทั้งเรื่องยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นหากรัฐที่สามารถดูแลประชาชนได้ดี เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ก็จะไม่เกิดผู้มีอิทธิพล สิ่งนี้เป็นต้นตอของปัญหาจากการที่รัฐใช้อำนาจไม่เป็นธรรม” ชาดากล่าว

 

ชาดากล่าวย้ำว่า การป้องกันปราบปรามผู้มีอิทธิพลจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลไกในระดับพื้นที่ โดยในขั้นต้นจะได้แจ้งให้ทุกจังหวัดดำเนินการตรวจสอบ กลั่นกรอง ทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขข้อมูลบัญชีรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงข้าราชการ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ร่วมกับส่วนราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีฐานข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม และเป็นปัจจุบัน รวมทั้งได้กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อที่จะทำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ต้องแยกปลา แยกน้ำ สอบสวนให้ชัดระหว่างผู้เสพและผู้ค้า โดยควรจัดตั้งศูนย์อบรมภาคโดยทีมสหวิชาชีพ ทั้งนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักบำบัด การส่งเสริมและฝึกอาชีพ โดยต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กเยาวชนในคดียาเสพติด

 

10 จังหวัดไร้ผู้มีอิทธิพล ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่ กรวีร์ ปริศนานันทกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกผู้แทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยมีชาดาได้ร่วมชี้แจงด้วย

 

กรวีร์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า รองอธิบดีกรมการปกครองชี้แจงว่า รายชื่อผู้มีอิทธิพลที่แต่ละจังหวัดส่งกลับมายังกระทรวงมหาดไทย จังหวัดสีเขียวที่ไม่มีผู้มีอิทธิพลเลยมีอยู่ 10 จังหวัด แต่ไม่ได้บอกรายชื่อว่ามีจังหวัดใดบ้าง เนื่องจากเป็นความลับทางราชการ

ทั้งนี้ มี 66 จังหวัด 84 อำเภอ เป็นจังหวัดสีเหลือง มีรายชื่อผู้มีอิทธิพล 805 รายชื่อ โดยแบ่งเป็น 180 รายชื่ออยู่ในกลุ่มสีแดงของผู้มีอิทธิพลที่ยังคงมีพฤติกรรมใช้อิทธิพลอยู่ แต่ 625 รายชื่อเป็นผู้ที่เคยมีพฤติกรรมแต่หยุดพฤติกรรมการไปข่มเหงรังแกประชาชน ซึ่งกรมการปกครองยังติดตามพฤติกรรมอยู่อย่างใกล้ชิด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising