ช่อง 3 ประกาศโครงการเออร์ลี่รีไทร์ เริ่มจากฝ่ายข่าวก่อน จ่ายสูงสุด 10 เดือน ตอกย้ำวิกฤตวงการทีวีดิจิทัล
แม้ว่าหลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่าช่อง 3 หรือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ จะมีรายได้หลายร้อยล้านบาทจากกระแสของละครดัง ‘บุพเพสันนิวาส’ และช่วยทำให้สื่อใหญ่ย่านพระราม 4 กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ด้วยภาวะการแข่งขันของวงการโทรทัศน์และผลประกอบการของช่อง 3 ที่กำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางช่องประกาศโครงการสมัครใจลาออก หรือเกษียณก่อนกำหนด ให้เงินชดเชยสูงสุด 10 เท่าของเงินเดือน โดยเริ่มจากฝ่ายข่าวก่อน ซึ่งตรงกับแนวคิดของหลายช่องตอนนี้ที่เริ่มมองว่าฝ่ายข่าวต้นทุนสูงและสร้างรายได้น้อยกว่ารายการบันเทิงและวาไรตี้ จึงเน้นปรับลดช่วงข่าวลง
ผลประกอบการของช่อง 3 เมื่อเริ่มต้นอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล มีกำไรปี 2557 กว่า 4.4 พันล้านบาท ปีต่อมา 2558 กำไรลดลงเหลือประมาณ 3 พันล้านบาท ปี 2559 กำไรลดฮวบลงมาที่ 1.2 พันล้านบาท จนเมื่อผลประกอบการปี 2560 ถูกรายงานออกมาก็ทำให้ทั้งวงการธุรกิจตกใจ เมื่อสื่อแถวหน้าอย่างช่อง 3 มีกำไรเหลือเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องความขัดแย้งพี่น้องตระกูลมาลีนนท์ หรือกระทั่งการเปลี่ยนมือไปให้ ‘คนแดนไกล’ ซึ่งท้ายที่สุดผู้บริหารช่อง 3 ก็ออกมาปฏิเสธ
ไม่ใช่แค่ช่อง 3 เท่านั้นที่ประกาศโครงการลาออกโดยสมัครใจเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ ปี 2560 มีทีวีดิจิทัลหลายรายที่ประกาศลดคนเพื่อควบคุมระดับต้นทุนเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ไล่เลียงตัวอย่างได้ดังนี้
- เดือนมกราคม เครือเนชั่นถือว่าเจอมรสุมหนักที่สุด ประกาศโครงการเออร์ลี่รีไทร์ 3 รอบตลอดทั้งปี 2560 และให้เงินชดเชยตามกฏหมายแรงงานพร้อมกับข่าวเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และขายกิจการที่ไม่ทำกำไร
- เดือนมิถุนายน สถานีโทรทัศน์ TNN24 ประกาศลดต้นทุน 30 ล้านบาทภายในสิ้นปี พร้อมกับการประกาศเลิกจ้างพนักงานฟรีแลนซ์จำนวนหนึ่ง ขณะที่ไทยรัฐทีวีประกาศโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ให้เงินชดเชยสูงสุด 10 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย
- เดือนตุลาคม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสประกาศโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ให้เงินชดเชยสูงสุด 10 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย และสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 48 คน พร้อมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
- เดือนธันวาคม สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีประกาศเลิกจ้างพนักงาน พร้อมให้เงินชดเชยตามกฎหมาย
หลายฝ่ายมองว่าปี 2561 ก็ยังเป็นปีที่ลำบากของอุตสาหกรรมทีวีที่ตอนนี้กลุ่มคนดูแตกกระจาย (Fragmented) ไปตามสื่ออื่นๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนแล้ว สิ่งที่ท้าทายคือพื้นที่ของคอนเทนต์ข่าวที่เคยศักดิ์สิทธิ์และทรงพลัง แต่กลายเป็นภาระในสายตาผู้ประกอบการบางรายจะเหลืออยู่เท่าใดจากนี้ต่อไป
อ้างอิง: