CGS-CIMB มอง กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียวในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มชะลอ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวเป็น K-Shaped โดยกลุ่มรากหญ้ายังลำบากอยู่ ขณะที่ NPL ยังน่าห่วง พร้อมแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเอาไว้เพื่อสนับสนุนการลงทุน
เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) แสดงความเห็นในงาน CGS China-ASEAN Business Leaders ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเยอะ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ที่เติบโตได้น้อยกว่าคาด ดังนั้น ยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เศรษฐกิจไทยจะยิ่งชะลอลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยก็ไม่น่ากังวลเท่าสหรัฐฯ หรือยุโรปด้วย
“ผมมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเป็นเรื่องไม่จำเป็น และในความคิดของผมมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตร้อนแรง” เกษมกล่าว
เกษมยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวในรูปตัว K โดยเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจรากหญ้าอย่างเช่น Consumer Finance จะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากขึ้น
พร้อมทั้งยังแสดงความกังวลต่อการดำเนินนโยบายของผู้ให้สินเชื่อกลุ่ม Non-Bank ที่เน้นการเติบโต ‘มากไปเล็กน้อย’ เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นอาจคุ้นเคยกับการเห็นราคาหุ้นซื้อขายอยู่ที่ 4-6 เท่าของ Price to book Value (P/BV Ratio) ดังนั้นเมื่อนักลงทุนเห็นการเติบโตของสินเชื่อเริ่มชะลอ คนจึงเริ่มกังวล และทำให้ราคาหุ้นเริ่มลดลง บริษัทกลุ่มนี้จึงพยายามดันการเติบโตของสินเชื่อให้กลับไปด้วยการหาเซ็กเตอร์ใหม่ๆ
“ก่อนหน้านี้ย้อนกลับไปในช่วงปี 2017-2018 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจไทยโตราว 4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายเราอยู่ที่ 1.5% นั่นแสดงให้เห็นว่าในระดับ 1.75% เศรษฐกิจไทยก็อาจไม่ค่อยไหวแล้ว แล้วต้องอย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะโต 3.5-3.8% ไม่ได้โตมาจากภายใน แต่โตมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่ควรหวังว่าจะเกิดขึ้นถาวร เห็นได้จากการเกิดขึ้นของการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการท่องเที่ยวไทย ดังนั้น ธปท. จึงควรรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเอาไว้ เพื่อสนับสนุนการลงทุน (Investment)” เกษมกล่าว
แม้หลายคนอาจจะกังวลว่าการที่ดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าต่างชาติเยอะจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งเคยเป็นปัญหาของประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม เกษมระบุว่า ในปีที่ผ่านมาแม้ดอกเบี้ยของไทยขึ้นช้ากว่าดอกเบี้ยของ Fed เยอะ แต่ปีที่แล้วก็ยังซื้อสุทธิ (Net Buy) 2 แสนกว่าล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเงินไม่ได้ไหลออก
นอกจากนี้ Circle เศรษฐกิจเรายังไม่เท่ากับหลายประเทศ โดย GDP ของไทยก็ยังไม่ได้กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดเลย ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และไม่เหมือนกับเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐฯ และยุโรป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี