ภายใต้ไลฟ์สไตล์ของวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของโควิด-19 คำถามที่ว่าห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าแบบ ‘Brick and Mortar’ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ได้ผุดขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะหลังจากที่คนส่วนใหญ่เลือกเดินห้างกันน้อยลง สภาวะเศรษฐกิจไม่ดีที่ทำให้คนรัดเข็มขัดกันใช้จ่ายมากขึ้น
ประจวบเหมาะกับการทำตลาดอย่างอึกทึกครึกโครมของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง Lazada และ JD เรื่อยไปจนถึงสิงคโปร์อย่าง Shopee ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีส่วนไม่น้อยในการทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการช้อปปิ้งออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวันกันไปแล้ว
Central Retail (CRC) หรือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งในผู้เล่นที่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากการระบาดของโควิด-19 เพราะเมื่อคนเดินห้างน้อยลง กำลังซื้อไม่แข็งแรง ต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไม่ได้ รายได้จากช่องทางการขายสินค้าออฟไลน์ของพวกเขาก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน
โชคยังดีที่เซ็นทรัลเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการดันกลยุทธ์การตลาดแบบผสมผสานช่องทาง หรือ Omnichannel มาโดยตลอด ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผ่านการทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลพัฒนาช่องทางออนไลน์ต่อท่อเข้ากับสโตร์ออฟไลน์ เพื่อให้เกิดความไร้รอยต่อในแง่การใช้บริการซื้อขายสินค้าระหว่างสองช่องทาง จนในที่สุดผลลัพธ์ดังกล่าวก็เริ่มออกดอกออกผลผลิบานในช่วงที่โควิด-19 ระบาดพอดี
นิโคโล กาลันเต้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล รีเทล กางข้อมูลเปรียบเทียบให้สื่อมวลชนได้เห็นชัดๆ ว่า ในช่วงที่ผ่านมายอดขายของเซ็นทรัล รีเทล ผ่าน Ominichannel ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง
อัตราการเติบโตของยอดขาย Omnichannel ของ CRC ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา (เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
ไตรมาส 1/63: +99%
ไตรมาส 2/63: +344% (จากผลกระทบของโควิด-19 และล็อกดาวน์)
ไตรมาส 3/63: +234%
รวม 9 เดือน: +230%
คาดการณ์ทั้งปี 2563: + มากกว่า 200%
ปัจจุบันลูกค้าของเซ็นทรัลในสัดส่วน 10% เป็นลูกค้าของแพลตฟอร์ม Omnichannel ของเซ็นทรัลด้วย ขณะที่สินค้ายอดฮิตที่มียอดขายเติบโตสูงสุดผ่าน Omnichannel ได้แก่
- สินค้าในกลุ่มแฟชั่น: ยอดขายเติบโต 335% ในช่วงไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 16% จากยอดขายทั้งหมด
- สินค้าในกลุ่มฮาร์ดไลน์ (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าตกแต่งบ้าน): ยอดขายเติบโต 98% ในช่วงไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 7% ยอดขายทั้งหมด
- สินค้าในกลุ่มอาหาร: ยอดขายเติบโต 89% ในช่วงไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 3% จากยอดขายทั้งหมด
เมื่อจำแนกตามประเภทสินค้า สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ความสวยความงาม (Beauty) มียอดขายเติบโตที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้วที่ 162% ตามมาด้วยสินค้ากีฬา (Sports) ที่ 136%, สินค้าในกลุ่มโทรทัศน์และความบันเทิง (TV & Entertainment) ที่ 118% และสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ในบ้านและครัว (Home & Kitchen) ที่ 65%
จุดนี้เองที่นิโคโลชี้ให้เห็นว่าสินค้าของเซ็นทรัลใน 3 กลุ่มแรก ซึ่งประกอบด้วย Beauty, Sports และ Home & Kitchen นั้นสามารถทำยอดขายได้สูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายต่อจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล จะปักธงให้ตัวเองกลายเป็นผู้นำแพลตฟอร์ม Omnichannel ของแบรนด์สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ให้ได้ และถือเป็น Core Target ทางธุรกิจของ CRC ในตอนนี้
เนื่องจากสินค้ากลุ่มแมสสามารถทำกำไรบนช่องทางออนไลน์ได้น้อยกว่าสินค้าไลฟ์สไตล์อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าในเชิงภาพรวม สินค้ากลุ่มแมสจะมียอดขายมากกว่า 80% ของจำนวนการทำธุรกรรมบนช่องทางออนไลน์ทั้งหมดก็ตาม (ยอดขายสินค้าไลฟ์สไตล์บนช่องทางออนไลน์ของ CRC มีสัดส่วนที่ 20% แต่สามารถทำกำไรได้ถึง 80%)
ขณะที่ในช่วงมหกรรมช้อปปิ้ง 11.11 ที่เพิ่งจบลงไปนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่เปิดเผยว่า CRC มียอดขายออนไลน์ในปีนี้เพียงแค่วันเดียวได้สูงกว่า 230 ล้านบาท เติบโตราว 1.7 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และโตเฉลี่ยมากกว่ายอดขายในวันปกติมากถึง 8 เท่าตัว
ทั้งนี้เมื่อจำแนกยอดขายในวันดังกล่าวจะพบว่า CRC มีรายรับรวมทั้งหมดที่ 789 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายจากออนไลน์ 230 ล้านบาท หรือราว 29.15%, ยอดขายจาก New Channels (LINE และ Facebook) 85 ล้านบาท หรือ 10.7% ส่วนยอดขายออฟไลน์อยู่ที่ 475 ล้านบาท หรือ 60.20%
จากจุดนี้จะเห็นว่ายอดขายออฟไลน์วันที่ 11.11 ของ CRC ยังคงครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดอยู่ ขณะที่ยอดขายออนไลน์และ New Channels มีสัดส่วนรวมกันที่ 39.85% เท่านั้น
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ 11.11 ปีที่แล้วจะพบว่าอัตราการเติบโตของยอดขายออฟไลน์ลดลงที่ -5.75% ส่วนออนไลน์ขยับเพิ่มขึ้นมาที่ +98% เลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มสวิงไปที่ช่องทาง ‘ออนไลน์’ และ ‘Omnichannel’ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นั่นจึงทำให้หัวเรือใหญ่ของเซ็นทรัล รีเทล ตั้งเป้าจะขับเคลื่อนทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทมามุ่งเน้น Omnichannel แบบรุกหนักเต็มตัว โดยตั้งเป้าว่าในปีหน้า ลูกค้าของเซ็นทรัล รีเทล จะต้องมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ให้ได้ (จาก 10% ในปีนี้) และจะผนึกรวมเอาทั้งออฟไลน์และออนไลน์ของเซ็นทรัลเข้าด้วยกันให้ได้แบบไร้รอยต่อมากที่สุด เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคและลูกค้า โดยคาดว่าการหลอมรวมช่องทาง Omnichannel ของ CRC จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงไตรมาส 1/64
ซึ่งกลยุทธ์ของเซ็นทรัล รีเทล ในการผลักดัน Omnichannel จะประกอบไปด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
- เพิ่มจำนวนรายการสินค้าที่จำหน่ายบน Omnichannel เป็น 2 เท่าตัวในปี 2564 จากปัจจุบันที่มีจำนวน 1 ล้านชิ้น และจะขยับขึ้นเป็น 3 เท่าตัวในปี 2565
- เปิดตัวแอปพลิเคชันช้อปปิ้งใหม่ ‘Central App’ ให้ช้อปออนไลน์ได้เต็มตัว ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลข่าวสารทั่วๆ ไปเหมือนในปัจจุบัน
- ‘Cross Listing’ นำสินค้าทั้งหมดของแบรนด์ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ทั้ง Power Buy, Supersports, ไทวัสดุ ฯลฯ มาขายผ่านช่องทางออนไลน์เดียวกัน เพื่อความลื่นไหลของประสบการณ์การช้อป ไม่ต้องสลับเข้าออกเว็บหรือแอปพลิเคชันตลอดเวลา โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้จริงในปี 2564
- ขยายความหลากหลายของประสบการณ์ Omnichannel ให้ละเอียดขึ้น เช่น เพิ่มทางเลือกการ Pick up สินค้าให้มากกว่าเดิมตามความสะดวกของลูกค้า
- เปิดตัวช่องทางการขายแบบ Omnichannel ใหม่ๆ
ส่วนประเด็นที่แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์มักจะจัดเทศกาลช้อปกันถี่ในทุกๆ เดือนจนทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความสนใจน้อยลงนั้น นิโคโลแสดงความเห็นว่าตัวเขาเองก็เริ่มมองว่ากลยุทธ์ดังกล่าวในปัจจุบันเริ่มหวังผลได้น้อยลงแล้ว
“ใช่ ผมมองว่ามันคลิเช่ (11.11 หรือ 10.10) และผู้บริโภคเองก็เริ่มสนใจเทศกาลช้อปแบบนี้น้อยลงแล้ว ในระยะยาว ผมเชื่อว่าการอัดโปรโมชันแจกส่วนลดส่งเสริมการขายแบบนี้จะไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง เต็มที่ก็ราว 1-2 ปีต่อจากนี้ เพราะผู้คนจะเริ่มชินชากับเทศกาลช้อปรายเดือนกันจนมองเป็นเรื่องปกติในที่สุด”
ส่วนสาเหตุที่ CRC จัดแคมเปญในช่วง 11.11 นิโคโลให้เหตุผลว่าเป็นกลยุทธ์ระยะสั้นๆ เพื่อหวังผลที่จะศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้ตรงจุดมากที่สุด และต่อยอดไปสู่การพัฒนาฟีเจอร์และบริการใหม่ๆ ออกมาเท่านั้น และยังให้สัญญาอีกด้วยว่าในอนาคตเราจะได้เห็นเซ็นทรัล รีเทล พัฒนาประสบการณ์การใช้งานช่องทางออนไลน์ให้ดีเทียบเท่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ ยกระดับการขนส่งโลจิสติสก์ การทรานส์ฟอร์มให้ร้านค้าออฟไลน์มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงเติมรสชาติความหวือหวาเข้าไปด้วยการเพิ่มฟีเจอร์เกมหรือชาเลนจ์ต่างๆ บนแพลตฟอร์ม
นอกเหนือจากประเด็น Omnichannel แล้ว CRC ยังมองถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาสโตร์ค้าปลีกออฟไลน์แบบไร้แคชเชียร์เหมือนที่ Amazon Go หรือแบรนด์ค้าปลีกในจีนเริ่มนำร่องให้บริการกันไปแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเราจะได้เห็นร้านค้ารูปแบบดังกล่าวในช่วงเวลาใด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์