×

จับตามติอัตราดอกเบี้ยของเหล่าธนาคารกลางชั้นนำ อีกปัจจัยชี้นำทิศทางราคาทองคำช่วงท้ายปี 2024 


30.11.2024
  • LOADING...
ดอกเบี้ย

หลังจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่ 2,789.99 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ราคาทองคำปรับตัวลงเรื่อยมา แล้วยิ่งปรับตัวร่วงลงอย่างหนักหลังตลาดทราบถึงผลการคว้าชัยในการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตพรรครีพับลิกัน และอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมทั้งการครองเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันทั้งในสภาสูง (Senate) และสภาล่าง (House) 

 

ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ราว 1 สัปดาห์ ราคาทองคำปรับตัวลงราว 7% และเป็นการปรับตัวลงจากระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งล่าสุดราว 8% หรือ 250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเคลื่อนไหวในระดับสูง 

 

อย่างไรก็ดี หลังจากนักลงทุนซึมซับกับผลการเลือกตั้งดังกล่าวไปแล้วระดับหนึ่ง ประกอบกับสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น อันกระตุ้นการเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาทองคำจึงฟื้นตัวขึ้น แต่กระนั้นด้วยแรงกดดันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาทองคำลดช่วงการฟื้นตัวดังกล่าวลง และมีแนวโน้มว่าราคาทองคำจะยังเคลื่อนไหวสลับขึ้นลงต่อไปเช่นนี้อีกสักระยะ 

 

หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ยังคงกดดันราคาทองคำ คือการทรงตัวในระดับสูงของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยในช่วงหลังการเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นแตะระดับดัชนี 107.0 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับดัชนี 108.0 ได้ในสัปดาห์ถัดมา ซึ่งระดับดังกล่าวนับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี 

 

สถานการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากการตอบสนองของนักลงทุนต่อแนวทางการดำเนินนโยบายของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล การตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ และการกีดกันแรงงานข้ามชาติ ทั้งหมดนี้ถูกประเมินว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการคลังของสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง ซึ่งรัฐบาลอาจต้องออกขายพันธบัตรเพิ่มมากขึ้น 

 

ประกอบกับส่งเสริมการค้างตัวในระดับสูงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ สร้างความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อันเป็นผลให้นักลงทุนมีการเผื่อโอกาสที่ Fed อาจไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เท่ากับที่เคยส่งสัญญาณไว้ 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าล่าสุดนักลงทุนจะมีความหวังเพิ่มมากขึ้นต่อแนวโน้มที่ Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนธันวาคม หลังรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) ระบุว่า กรรมการ Fed ล้วนยังเห็นพ้องถึงความเหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับข้อมูลด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา นับว่ายังบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากระแสคาดการณ์ของตลาดต่อขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในระยะข้างหน้า หรือในปี 2025 พบว่าถูกปรับลดลงเหลือเพียง 0.5% หรือเท่ากับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพียง 2 ครั้ง นับเป็นกระแสคาดการณ์ที่มีทิศทางที่เข้มงวดมากกว่าเมื่อเทียบกับที่ Fed ส่งสัญญาณไว้ โดยจากรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือนกันยายน ระบุถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสุดท้ายในปี 2025 ของ Fed ที่ระดับ 3.4% หรือเท่ากับการปรับลดด้วยขนาด 1%  

 

จากกระแสคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าแนวทางการดำเนินนโยบายของทรัมป์จะจำกัดขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับการประเมินของนักวิเคราะห์หลายรายที่ชี้ว่า Fed อาจส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่ลดลงในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ แม้ว่ารายงานการประชุม FOMC รอบเดือนพฤศจิกายนไม่ได้ระบุถึงการหารือของกรรมการ Fed ถึงผลกระทบของแนวทางการดำเนินของทรัมป์ แต่กรรมการบางส่วนให้ความเห็นว่า หากเงินเฟ้อค้างตัวในระดับสูง Fed อาจต้องพิจารณาหยุดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง 

 

อนึ่ง ค่าเงินดอลลาร์ที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากจะมาจากคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยของ Fed แล้ว ยังคงมีผลมาจากคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำแห่งอื่นร่วมด้วย โดยในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับดัชนี 108.0 มีส่วนถูกหนุนจากค่าเงินยูโรที่ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกที่ล้วนออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ นักลงทุนจึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ในการประชุมเดือนธันวาคม 

 

แม้ว่าในปัจจุบัน นักลงทุนลดทอนความเป็นไปได้ดังกล่าวลง แต่กระนั้นส่วนใหญ่ของตลาดประเมินตรงกันว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ECB โดยภายในสิ้นปี 2025 มีคาดการณ์ว่า ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเข้าใกล้ระดับ 2% ขณะที่ Fed อาจอยู่ที่กรอบ 3.75-4% 

 

ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ถูกประเมินว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วยขนาดที่ลดลงคล้ายกับ Fed เนื่องด้วยแผนงบประมาณของ ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ ที่เปิดเผยออกมาในช่วงปลายเดือนตุลาคม พบว่ามีแนวโน้มหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะอันใกล้ ประกอบกับอัตราการเติบโตของค่าจ้างงานแรงงานที่ทรงตัวในระดับสูง ทำให้ BOE ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายการนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าที่ 2% 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/24 ของอังกฤษ พบการเติบโตเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวลงจากระดับ 0.5% ในไตรมาส 2/24 แต่ในปัจจุบันนักลงทุนให้น้ำหนักราว 20% ต่อคาดการณ์ที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.5% ในเดือนธันวาคม

 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไม่ควรละทิ้งโอกาสที่ BOE อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม โดยเฉพาะหากข้อมูล GDP เดือนตุลาคมออกมาย่ำแย่กว่าคาดการณ์ BOE อาจเลือกปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหาก BOE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือนักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ BOE มีแนวโน้มที่เงินปอนด์และยูโรจะปรับตัวอ่อนค่าลง สร้างแรงหนุนต่อค่าเงินดอลลาร์เพิ่มเติมได้ 

 

นอกจากนั้นตลาดยังคงจับตากับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น (BOJ) โดยหลัง คาซุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ให้ถ้อยแถลงที่บ่งชี้ถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับผลสำรวจของ Reuters ที่ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ราว 56% คาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.5% ในเดือนธันวาคม จากแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินเยน 

 

นักลงทุนจึงเพิ่มน้ำหนักขึ้นเหนือระดับ 60% ต่อคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ ในเดือนธันวาคม ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีส่วนกระชับช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่กระนั้นด้วยหลายฝ่ายยังคงประเมินว่าช่องว่างดังกล่าวอาจหดแคบลงได้จำกัด ตามคาดการณ์ขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ลดลง ทำให้แม้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ แต่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไม่ไกลจากระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ แม้ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมแล้วก็ตาม 

 

อนึ่ง หาก BOJ ส่งสัญญาณที่เข้มงวดต่อการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหนือความคาดหมาย อาจมีผลให้ตลาดประเมินถึงช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่ถูกประเมินไว้ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ 

 

จากทั้งหมดข้างต้นบ่งชี้ว่าระดับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่มีแนวโน้มค้างตัวในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำแห่งอื่นอย่างสหภาพยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น จะเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวในระดับสูง คอยกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลง ด้วยเหตุนี้แนะนำนักลงทุนติดตามมติอัตราดอกเบี้ยและผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำโดยเฉพาะ Fed เพื่อประเมินทิศทางค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อันมีส่วนชี้นำราคาทองคำในช่วงท้ายปี 2024 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X