ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติประเมินผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และการเจรจาเปิดตลาด ชี้ ธปท. ห่วงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลัก เนื่องจากมีสัดส่วน SME สูง มองวิกฤติรอบนี้เป็นโอกาสในการปรับตัวเพื่อยกศักยภาพในการแข่งขันของไทย
วันนี้ (16 กรกฎาคม) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ไทยพยายามเจรจาเปิดตลาดกับสหรัฐฯ โดยระบุว่า เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในคณะเจรจาฯ จึงไม่ทราบรายละเอียดว่า การเปิดเสรีครอบคลุมรายการสินค้าอะไรบ้าง
กระนั้น ธปท. ได้ประเมินว่า นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และการเจรจาเปิดตลาดจะส่งผลกระทบในหลายช่องทาง ได้แก่ (1) กลุ่มผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ (2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาเปิดตลาด และ (3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วน SME สูงที่สุด
“ธปท. เคยได้แสดงความกังวลไปหลายครั้ง เกี่ยวกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลัก เนื่องจากกลุ่มนี้ มี SME ค่อนข้างเยอะ และมีความเปราะบางสูง เทียบกับกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ซึ่งจะมีสัดส่วนของบริษัทข้ามชาติและบริษัทใหญ่สูงกว่า” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวในงาน Money & Banking Awards 2025 ซึ่งจัดโดยวารสารการเงินธนาคาร
สำหรับประเด็นที่ว่า ไทยจำเป็นต้องเปิดตลาดการค้าเสรีกับสหรัฐฯ หรือไม่ ดร.เศรษฐพุฒิ ย้ำว่าแต่ละประเทศต้องพิจารณาสถานะของตนอย่างรอบคอบ
นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ยังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสรุปความชัดเจนในการเจรจา และการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
“ตอนนี้เราเริ่มเห็นข่าวการเจรจาของประเทศอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ ทยอยออกมา แม้จะยังไม่มีประกาศรายละเอียด แต่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เราจะต้องเจรจาให้ครบ จบ และชัดเจน นอกจากนี้ หลังจากเห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ออกมาแล้ว ไทยก็ต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ว่าจะเป็น การบรรเทาผลกระทบ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสินค้าส่งผ่าน (Transshipment) ซึ่งยังไม่ปรากฏ ทำให้ ธปท. ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมองว่า ประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนของไทย
ชี้หัวใจแก้ปัญหาคือ ‘การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน’
นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ย้ำว่า สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ “เรามักเน้นเรื่องระยะสั้น ลืมเรื่องระยะยาว ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่เน้นเรื่องตัวเลขส่งออกหรือลงทุน แต่ต้องคำนึงถึงมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ด้วย”
“ปัญหาพวกนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของฝั่งการเงินเท่านั้น เนื่องจากไทยยังมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย ดังนั้น การปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง”