×

ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูล ‘ติดเชื้อโควิดซ้ำ’ น่ากังวลหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
29.03.2022
  • LOADING...
ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูล ‘ติดเชื้อโควิดซ้ำ’ น่ากังวลหรือไม่

วันนี้ (29 มีนาคม) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการพบการติดเชื้อซ้ำของโรคโควิดภายในเวลา 1 เดือน คือสิ่งที่น่ากังวลใจหรือไม่ เพราะเหตุใด ในรูปแบบของการถาม-ตอบ กับคำถาม 4 ประเด็นที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจการติดเชื้อซ้ำของโควิดมากขึ้น ดังนี้

 

  1. การติดเชื้อโควิดซ้ำภายใน 1 เดือน และติดในช่วงนี้ (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2565) น่ากังวลใจหรือไม่ เพราะเหตุใด 

 

คำตอบคือ ‘น่ากังวล’ เพราะการแพร่ระบาดในช่วงนี้ของประเทศไทยและของโลกเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 มาเป็น BA.2 โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงจัดให้ BA.1 และ BA.2 เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแล และรักษา BA.1 และ BA.2 ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ยังไม่มีข้อมูลมารับมือกับการติดเชื้อโควิดซ้ำในรอบนี้

 

  1. การพบผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 จากนั้นภายใน 20-60 วันถัดมาจะมีโอกาสพบการติดเชื้อซ้ำอีกครั้งซ้ำหรือไม่ และมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน

 

คำตอบคือ มีข้อมูลการศึกษาผลการติดเชื้อซ้ำในผู้ป่วยโควิดของประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1,848,466 คน ได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดเข้าถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว พบว่ามีการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 187 ราย และในจำนวนนี้มี 47 ราย พบว่ามีการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1 มาก่อนที่จะติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 ในระยะเวลาระหว่าง 20-60 วัน (นับจากวันที่ติดเชื้อ BA.1)

 

โดยสรุปจากผู้ติดเชื้อ 1,848,466 คน มีการติดเชื้อจาก BA.1 มาก่อนที่จะติดเชื้อ BA.2 ซ้ำจำนวน 47 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย

 

  1. เหตุใด WHO ยังคงจัดให้สายพันธุ์ย่อยอย่าง BA.1 และ BA.2 เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยในโอมิครอน และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแล และรักษา BA.1 และ BA.2 ที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อซ้ำในช่วงหลัง

 

คำตอบคือ เพราะข้อมูลที่ WHO ได้รับจากทั่วโลก สรุปได้ว่าการติดเชื้อซ้ำจาก ‘BA.1 แล้วไปติด BA.2 ซ้ำ’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อยครั้งนัก ประกอบกับผู้ติดเชื้อซ้ำ BA.2 ไม่มีอาการไม่รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 

 

อันหมายถึงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อ BA.1 ยังคงสามารถป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตจาก BA.2 ได้ดี แม้มีอัตราช่วยได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ประกอบกับผู้ติดเชื้อซ้ำ BA.2 ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับฉีดวัคซีน นั่นจึงอาจเปรียบได้ว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ดีกว่าในกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย

 

  1. มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนย่อย BA.2 ครั้งแรก แล้วย้อนกลับมาติดเชื้อสายพันธุย่อย BA.1 หรือบรรดาสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้า เช่น เดลตา ได้หรือไม่

 

คำตอบคือ จากการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในประชากรประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2564 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1.8 ล้านคน ยังไม่พบการติดเชื้อ BA.2 ครั้งแรก แล้วกลับมาติดเชื้อ BA.1 หรือบรรดาสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้าซ้ำอีก ซึ่งพอสรุปได้ว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ BA.2 ตามธรรมชาติ มีโอกาสสร้างเกราะคุ้มกันการติดเชื้อ BA.1 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ได้ดี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X