วานนี้ (24 มกราคม) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์หลัก ‘BA.1’ และสายพันธุ์ย่อย ‘BA.2’ และ ‘BA.3’ ในประเทศไทย ระบุว่า ธรรมชาติของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อเกิดมีสายพันธุ์หลักก็จะติดตามมาด้วยการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ในกรณีของโอมิครอนจะมีสายพันธุ์หลักเป็น B.1.1.529 หรือ BA.1 แล้วเริ่มมีการกลายพันธุ์ไปอีก 2 สายพันธุ์ย่อย คือ BA.2 และ BA.3
โอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วโลกทั้งสิ้น 514,417 ราย (8%) พบในประเทศไทย 561 ราย (23%) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ‘อู่ฮั่น’ ประมาณ 60-70 ตำแหน่ง (จากจีโนมทั้งสาย 30,000 ตำแหน่ง)
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถูกนำมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วทั้งสิ้น 10,811 ราย (น้อยกว่า 0.5%) พบในประเทศไทย 2 ราย (1%) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นประมาณ 70-80 ตำแหน่ง
ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจพบ BA.2 จำนวน 1 ตัวอย่าง ด้วยเทคโนโลยี MassARRAY Genotyping ซึ่งกำลังยืนยันผลด้วยเทคนิค Long Read, Whole Genome Sequencing คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้
ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.3 ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างทั่วโลกประมาณ 86 ราย (0.5%) ยังไม่พบในประเทศไทย (Not Detected) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นประมาณ 55-65 ตำแหน่ง
การคัดกรองทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นเพื่อแยกสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนออกจากกันมักจะตรวจโดยวิธี RT-PCR 3 ตำแหน่ง บน 3 ยีน
โดยเดลตาจะถูกตรวจพบด้วย RT-PCR ครบทั้ง 3 ยีน ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 ตรวจด้วย RT-PCR เพียง 2 ใน 3 ยีน เนื่องจากตรวจไม่พบ S ยีน หรือมี ‘S Target Failure (SGTF)’ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์เกิดการขาดหายไปของกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 69-70 (del 69-70) บนโปรตีนหนามจนตัวตรวจจับ (PCR primers) จับยีน S ไม่ได้
BA.2 บางครั้งถูกเรียกว่าสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Variant) เพราะสามารถตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้ง 3 ยีน ทำให้แยกไม่ออกระหว่างเดลตากับ BA.2 เพราะเดลตาก็ตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้ง 3 ยีนเช่นกัน
สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ประกาศให้ BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องสอบสวน (Variant Under Investigation: VUI) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565
ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี ‘จีโนไทป์’ จึงไม่ประสบปัญหา S Target Failure (SGTF) สามารถพัฒนาให้ชุดตรวจตรวจจับทั้ง BA.1, BA.2, BA.3 และ เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา ไปพร้อมกันได้ในหลอดเดียว (Single Tube Reaction) ภายใน 24-48 ชั่วโมง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม
BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากที่สุดประมาณ 70-80 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนทางคลินิกว่ามีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 หรือไม่ แต่คาดคะเนจากข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าอาจแพร่ติดต่อได้เร็วกว่าโอมิครอน BA.1 อยู่บ้าง
BA.2 เคยได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะหมดความสนใจไป เพราะมีการระบาดอยู่ในวงจำกัด https://www.facebook.com/CMGrama/posts/4586461878128223
แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีการระบาดแพร่กระจายมากขึ้น โดยนักวิจัยสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างจากทั่วโลกได้แล้วทั้งสิ้นถึง 10,811 ราย ส่วน BA.3 ทั่วโลกสามารถถอดรหัสทั้งจีโนมมาได้เพียง 86 ตัวอย่าง กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นน้อยที่สุดประมาณ 55-65 ตำแหน่ง ไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากนัก
อ้างอิง: