วันนี้ (2 เมษายน) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม ‘XE’ (เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565) ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าโควิดทุกสายพันธุ์ที่เราเคยประสบมา
โดยให้ข้อมูลว่า XE เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 x BA.2 ไม่ใช่ ‘เดลตาครอน’ ซึ่งเป็นสายพันธู์ลูกผสมระหว่าง ‘เดลตา x โอมิครอน’ ซึ่งทาง WHO ยังไม่ตั้งชื่อให้อย่างเป็นทางการจนกว่า XE จะแสดงอาการทางคลินิกที่รุนแรงแตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนสายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน หรือ ‘XD’ ทาง WHO แจ้งว่าไม่พบการระบาดที่รวดเร็ว และอาการที่รุนแรงแต่ประการใด
โดยล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม XE จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย และจากการตรวจกรองด้วยเทคโนโลยี Massarray Genotyping พบสายพันธุ์ลูกผสมเดลตาครอนอีก 1 ราย ซึ่งต้องตรวจยืนยันซ้ำด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 โดยมีการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมและอัปโหลดขึ้นไปแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดของโลกแล้วมากกว่า 600 ตัวอย่าง
โดย WHO ประเมินว่า สายพันธุ์ลูกผสม XE มีอัตราการแพร่ระบาด (Growth Advantage) เหนือกว่า BA.2 ถึง 10% อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอข้อมูลจากทั่วโลกที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกระยะหนึ่ง เพื่อยืนยันอีกครั้งถึงความสามารถของ XE
ขณะเดียวกันตามรายงานของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Services Agency) หรือ UKHSA ยืนยันเช่นเดียวกันว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 10% และแพร่ได้รวดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) ถึง 43% ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่
อ้างอิง: