×

โรม เปิดข้อมูลซักฟอก ชัยวุฒิ กล่าวหาเอื้อนายทุนฮุบดาวเทียมไทยคม วางยา ตั้งอนุญาโตตุลาการที่ไม่มีคุณสมบัติ

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2021
  • LOADING...
รังสิมันต์ โรม

วันนี้ (3 กันยายน) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ว่าจงใจใช้อำนาจรัฐมนตรีในการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ในคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม

 

รังสิมันต์ ระบุว่า คดีพิพาททั้ง 3 คดีระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ในปัจจุบัน เกิดมาจากสัญญาสัมปทานที่เดิมเป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมและบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เนื่องจากช่วงปี 2533 รัฐบาลไทยมีโครงการจะยิงดาวเทียมสื่อสารของไทยขึ้นสู่วงโคจร เพื่อจะได้ไม่ต้องเช่าดาวเทียมของต่างชาติ และแม้จะเกิดการรัฐประหารขึ้น กระทรวงคมนาคมของรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยังเดินหน้าโครงการต่อ

 

ผู้ได้สัมปทานคือ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งมี ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานกรรมการบริหารในขณะนั้น ก่อนที่จะขายหุ้นทั้งหมดไปในปี 2549 โดย รสช. ลงนามสัมปทานกับบริษัทไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534

 

“ใจความสำคัญของสัมปทานคือ บริษัทจะเป็นผู้ยิงดาวเทียมขึ้นไปบนตำแหน่งวงโคจรเหนือพื้นโลก บริหารจัดการและให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ และมีสิทธิ์เก็บค่าใช้ช่องสัญญาณจากผู้ที่มาขอใช้ โดยมีระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ และจะได้รับสิทธิ์ขาดในการดำเนินกิจการแต่เพียงผู้เดียว ไร้คู่แข่งในช่วง 8 ปีแรก ส่งผลให้บริษัทกลายเป็นบริษัทเดียวที่ผูกขาดดำเนินกิจการดาวเทียมมาจนถึงปัจจุบัน” รังสิมันต์ กล่าว

 

รังสิมันต์อภิปรายต่อไปว่า ทั้งนี้เงื่อนไขของสัมปทานระบุว่า บริษัทมีหน้าที่ดูแลรักษาให้ดาวเทียม หรือเปลี่ยนดาวเทียมทดแทนดาวเทียมที่ชำรุดไปตลอดระยะเวลาสัมปทาน แต่ดาวเทียมทุกดวงที่สร้างขึ้นตามสัญญานี้จะตกเป็นของกระทรวงคมนาคม และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กระทรวงทันที และดาวเทียมยังจะต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้อยู่บนวงโคจร

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่สัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุด บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ กำลังมีข้อพิพาทกับกระทรวง 3 คดี ได้แก่ คดี 97/2560 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ฟ้องรัฐบาลเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 อ้างว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวงไม่เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน เพราะสัญญาระบุว่าบริษัทจะยิงดาวเทียมเพียง 4 ดวง ดาวเทียม 2 ดวงนี้จึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวง ส่วนคดี A27/2020 และคดี 93/2563 เป็นกรณีที่รัฐบาลและบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ฟ้องกันและกันเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายดาวเทียมไทยคม 5

 

สัมปทานนี้ทำให้เกิดผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่หลายฝ่ายจ้องเข้ามาตักตวง 2 ก้อน ได้แก่

 

  1. ผลประโยชน์จากดาวเทียมที่ตกเป็นคดีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับไทยคม ตามสัญญาสัมปทานปี 2534

 

  1. ผลประโยชน์จากดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานนี้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564

 

โดยปกติแล้วเมื่อมีคดีพิพาท รัฐมักติดต่อไปยังอัยการสูงสุดให้จัดหาพนักงานอัยการมารับตำแหน่งอนุญาโตตุลาการ เมื่อจัดหาแล้วจะเสนอชื่อให้กับทางกระทรวง แล้วกระทรวงต้องนำไปแจ้งกับคู่ความอีกฝ่ายในเวทีพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งก่อนหน้าที่ชัยวุฒิจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีอะไรปรากฏว่ามีการเอื้อประโยชน์หรือล้มคดี แต่ภายในเวลาเพียง 6 เดือนที่ชัยวุฒิเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ มีความพยายามเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการถึง 3 ครั้งจนน่าสงสัย

 

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 หรือเพียง 3 เดือนหลังจากที่ชัยวุฒิเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดให้เปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการให้เป็นอนุญาโตตุลาการคนเดียวทั้งหมด 3 คดี เพราะทั้ง 3 คดีมีแนวทางเดียวกัน อีกทั้งยังกล่าวหาว่า สุรางค์ นาสมใจ อนุญาโตตุลาการคดี A27/2020 อยู่แต่เดิม ถูกคู่ความคัดค้านเพราะมีผลประโยชน์ขัดกันและขาดความเป็นกลาง

 

ภายในวันเดียวกัน มีหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการแจ้งแต่งตั้ง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นอนุญาโตตุลาการในทั้ง 3 คดี โดยใน 2 คดีแรกให้แทนคนที่เป็นอยู่เดิม ถือเป็นการลงนามคัดเลือกตัวเอง เสนอให้กับกระทรวงดิจิทัลฯ แล้ว กระทรวงดิจิทัลฯ รับรู้

 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ ระบุว่า อนุญาโตตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งได้จาก 3 กรณี คือ 1. เสียชีวิต 2. ขอถอนตัว หรือ 3. ถูกคัดค้านจากคู่ความอีกฝ่ายถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ แล้วถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง 

 

หมายความว่าการคัดค้านอนุญาโตตุลาการคนใดคนหนึ่งจะทำได้โดยคู่ความฝ่ายอื่นเท่านั้น ฝ่ายที่ตั้งหรือร่วมตั้งอนุญาโตตุลาการคนนั้นขึ้นมาจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการของตัวเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่อัยการสูงสุดมาเป็นอนุญาโตตุลาการเอง กระทรวงดิจิทัลฯ เองก็รู้อยู่แล้วว่าแต่งตั้งคนที่ขัดกับหลักความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากอัยการสูงสุดมีหน้าที่แต่งตั้งทีมสู้คดี เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือมีทุนทรัพย์ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

 

เมื่อกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามกำจัดอนุญาโตตุลาการคนเดิมออก และกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลาง สุรางค์จึงส่งหนังสือด่วนที่สุดให้กระทรวงดิจิทัลฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือหลักฐานกลับมาภายใน 15 วัน พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยคมเคยคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการคนอื่นมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ไม่เคยคัดค้านเธอเลย ทำให้ต่อมากระทรวงดิจิทัลฯ กลับลำ ทำหนังสือด่วนที่สุดกลับไปขอโทษสุรางค์ และแต่งตั้งเธอกลับมาเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีนั้นเช่นเดิม

 

อย่างไรก็ตาม สุรางค์ทำหนังสือขึ้นอีกฉบับระบุว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ยอมชี้แจงเรื่องที่สุรางค์ถูกกล่าวหา ถือเป็นการปฏิบัติราชการโดยไม่ยึดมั่นอยู่บนความสัตย์จริง อีกทั้งยังระบุว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ละเมิดหลักความเป็นอิสระและเป็นการของอนุญาโตตุลาการ

 

นอกจากนี้ สุรางค์ ยังระบุว่า ข้ออ้างของชัยวุฒิที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการให้ทั้ง 3 คดีเป็นคนเดียวกันเพราะทั้ง 3 คดีมีแนวทางเดียวกันนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะแม้สัญญาสัมปทานจะเป็นสัญญาเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เรื่องหนึ่งเป็นการดำเนินคดีว่าดาวเทียม 7 และ 8 อยู่ในสัญญาสัมปทานหรือไม่ ส่วนอีกเรื่องเป็นการดำเนินคดีว่าต้องยิงดาวเทียมใหม่ทดแทนไทยคม 5 หรือไม่

 

“สุรางค์ได้ทิ้งท้ายหนังสือว่า อีก 2 คดีมีการดำเนินการไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติราชการปกติ อาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นและเสื่อมศรัทธาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสาธารณชน เธอจึงไม่ขอเข้าไปข้องแวะด้วย” รังสิมันต์ กล่าว

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ข่าวคราวที่ผ่านมาของ วงศ์สกุล อัยการสูงสุดนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น การไม่สั่งฟ้องคดีทายาทเศรษฐีหมื่นล้านขับรถชนคนตาย ไม่สั่งฟ้องคดีค้ามนุษย์อาบอบนวด ไม่สั่งฟ้องคดีฟอกเงินซื้อขายที่ดิน

 

นอกจากนี้ วงศ์สกุล ยังเคยเรียนหลักสูตรหาเครือข่ายเส้นสาย อย่างหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย หรือ นธป. ของศาลรัฐธรรมนูญ รุ่นที่ 6 ปี 2561 ร่วมรุ่นกับ ‘แย้ม’ ซึ่งปัจจุบันเข้าถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทไทยคม

 

รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า “เรื่องราวเหล่านี้ชวนให้สงสัยว่าที่กระทรวงดิจิทัลฯ ภายใต้ชัยวุฒิ ได้เลือกวงศ์สกุลมาเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น มันช่วยสร้างความเชื่อมั่นอะไรให้กับสังคม หรือว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับใครบางคนกันแน่ อย่าลืมว่าการตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นคนเดียวกันในทุกคดีนั้น ถ้าบุคคลนั้นถูกครอบงำหรือมีวาระแอบแฝงแล้ว นี่คือการสร้างความย่อยยับให้กับทุกคดีพร้อมๆ กัน ชัยวุฒิและกระทรวงฯ ดิจิทัลได้เล็งเห็นเรื่องนี้หรือไม่”

 

อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่ถึง 1 เดือน วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 วงศ์สกุล ขอถอนตัวออกจากทั้ง 3 คดี โดยตั้ง ธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ ที่เคยเป็นอนุญาโตตุลาการคดี 97/2560 มาก่อน ซึ่งตอนนั้นขอถอนตัวไปก่อนจะเปลี่ยนเป็นวงศ์สกุล แต่ที่น่าสังเกตคือ ธีระวัฒน์เองยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของอัยการสูงสุด แต่กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่เห็นด้วยและขอให้หาคนอื่นมาแทน

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 อัยการสูงสุดได้แต่งตั้ง พฤฒิพร เนติโพธิ์ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงของทั้ง 2 คดีที่เหลือ โดยที่กระทรวงดิจิทัลฯ รับทราบและนำเข้าเวทีพิจารณาคดีเป็นที่เรียบร้อย

 

อีกเช่นเคย พฤฒิพร ไปเรียนหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป. ) รุ่น 7 ปี 2562 อยู่ร่วมรุ่นกับ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัทไทยคมฯ และ พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ปัจจุบันเข้าถือหุ้นจำนวนมากในไทยคมฯ ที่เป็นลูกหม้อที่ทำงานในบริษัทนั้นมาตั้งแต่ปี 2538

 

หลังฝ่ายไทยคมฯ ยื่นฟ้องคดี ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 อัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานดำเนินคดีขึ้นมา โดยหนึ่งในนั้นคือ พฤฒิพร เนติโพธิ์ ซึ่งเป็นคณะทำงานทีมต่อสู้คดีให้กับฝ่ายกระทรวงที่ถูกฝ่ายไทยคมฯ ฟ้องมา ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ก็รับรู้ เพราะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานที่มี พฤฒิพร รวมอยู่ด้วยเช่นกัน

 

รังสิมันต์ อธิบายต่อว่า พฤฒิพร ที่เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานสู้คดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้กับฝ่ายกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ย่อมรู้จุดแข็งจุดอ่อนของข้อมูลและสำนวนคดี ไม่ต่างอะไรกับการเอาอดีตทนายความที่เคยถูกจ้างให้ทำคดีมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน ย่อมเป็นที่กังขาถึงความเป็นกลาง ถึงความเป็นอิสระ ถึงประโยชน์ทับซ้อนได้

 

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ค.4/2557 ก็เคยวางหลักไว้ว่า หากมีข้อเท็จจริงว่าพนักงานอัยการเคยได้รับมอบอำนาจให้ว่าต่างแก้ต่างทางคดีแล้ว ก็ย่อมมีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระได้

 

ดังนั้นทั้งเรื่องสายสัมพันธ์ที่น่ากังขาและโดยตำแหน่งแล้ว ต่อให้สุดท้ายผลการพิจารณาออกมาชี้ขาดว่าฝ่ายกระทรวงเป็นผู้ชนะ ก็จะถูกฝ่ายไทยคมฯ เอาไปเป็นเหตุขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยอ้างว่ากระทรวงตั้งคนที่ตัวเองรู้ดีว่าเป็นคณะทำงานสู้คดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตนให้มาเป็นอนุญาโตตุลาการ แสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริต

 

“การที่กระทรวงดิจิทัลฯ ทราบดีว่าพฤฒิพรเป็นคณะทำงาน และรู้ดีว่าอาจถูกไทยคมฯ เอามาถอนคำชี้ขาดถ้าผลคดีไม่เป็นคุณกับไทยคมฯ แต่ก็ยังจะตั้งมา จะทำให้คดีนี้ ฝ่ายกระทรวงไม่มีทางชนะได้เลย ซึ่งจะทำให้รัฐเสียโอกาสจากทั้ง 2 คดี มูลค่าเกือบ 18,000 ล้านบาท” รังสิมันต์ กล่าว

 

รังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า หลังจากรัฐประหาร คสช. ตั้งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เพื่อบริหารจัดการดาวเทียมเมื่อสิ้นสุดสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 แต่ไม่สามารถทำตามแนวทางของ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า PPP (Public Private Partnership) ได้ เพราะไม่สามารถทำได้ก่อนสัญญาสิ้นสุด กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเสนอแนะว่าควรมอบหมายให้บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้บริหารจัดการแทน

 

ปัจจุบัน CAT ได้ควบรวมกิจการกับ TOT ตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ หรือก็คือกำกับโดยชัยวุฒิ

 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ก็มีการลงนามสัญญาระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับ NT ว่า กระทรวงฯ มอบสิทธิในการบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2534 ให้กับ NT โดยชัยวุฒิในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้ลงนามสัญญาด้วยตัวเอง

 

ต่อมาไทยคมฯ เจรจากับ NT เพื่อขอเป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ต่อไปหลังสิ้นสุดสัญญา และ NT ก็มีแนวโน้มจะรับข้อเสนอของไทยคม ทั้งที่ NT เคยบอกว่ามีศักยภาพจะดำเนินการเอง แต่เรื่องนี้กลับวกมาที่ไทยคมฯ อีกครั้ง

 

ความตกลงเกิดขึ้น 2 ชุดด้วยกัน ชุดแรกคือ NT จะจ้างไทยคมฯ ให้เป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ต่อไปประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี และในความตกลงชุดที่ 2 NT กลับตกลงให้บริษัทลูกของไทยคมฯ ชื่อว่า ทีซี บรอดคาสติ้ง เข้ามาซื้อความจุในช่องสัญญาณจากดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนี้ไปให้บริการลูกค้าเองในสัดส่วนถึง 80% ของความจุทั้งหมด ในราคาปีละประมาณ 283 ล้านบาท

 

รังสิมันต์ กล่าวว่า นี่คือ ‘อัฐยายซื้อขนมยาย’ เพราะสุดท้ายเครือไทยคมฯ จ่ายให้ NT แค่ 83 ล้านบาทเท่านั้น จากการใช้งานดาวเทียมของรัฐถึง 2 ดวง นี่คือการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ. ร่วมทุน หาวิธีการที่ไม่ต้องดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ใช้วิธีการหักค่าหัวคิวอย่างที่รัฐวิสาหกิจไทยทำมาตลอด

 

“นี่ไม่ต่างอะไรกับสัมปทานจำแลง แทบไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาที่มีแค่ไทยคมฯ ที่ผูกขาดธุรกิจดาวเทียมไว้ และจะยังคงผูกขาดต่อไป ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่การที่ชัยวุฒิแอบเอาผลประโยชน์ของประเทศไปประเคนให้เอกชนที่ระบุตัวเฉพาะเจาะจงแบบนี้ ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ควรได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงตลาดด้วยตัวเอง” รังสิมันต์ กล่าว

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปอีกว่า หากเทียบในปี 2563 ที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน รัฐยังได้รายได้จากดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ถึง 559 ล้านบาท แต่ดีลใหม่จะเหลือปีละ 80 ล้านบาทเท่านั้น และยังไม่นับว่าต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และแบ่งรายได้กันระหว่างกระทรวงและ NT

 

รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า ชัยวุฒิใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีมาเอื้อประโยชน์บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือไม่ เพราะชัยวุฒิเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในช่วงตนต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง

 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ทยอยเข้าซื้อหุ้นในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 41.13% ในบริษัทไทยคมฯ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 จนกระทั่งวันที่ 18 เมษายน 2564 หลังชัยวุฒิเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว คณะกรรมการของบริษัทนี้ก็มีมติอนุมัติให้สามารถลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ได้ทั้งหมด หรือก็คือต่อจากนี้สามารถซื้อหุ้นได้สูงสุดถึงไม่เกิน 81.07%

 

ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดวาง พฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการเรียบร้อยแล้ว และก่อนที่กระทรวงจะเซ็นมอบให้ NT ดูแลดาวเทียมหลังสัมปทานเพียง 3 วัน บริษัทนี้ก็เข้าซื้อหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ เพิ่มจนแซงหน้า SINGTEL จากสิงคโปร์ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดมาก่อนหน้านี้ และเมื่อถึงวันที่ 5 สิงหาคม บริษัทนี้ก็ถือหุ้นในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ เป็นสัดส่วนสูงถึง 42.25% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยคมฯ อีกทีหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย

 

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ชัยวุฒิเข้าไปทำงานกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยการชักชวนจาก ธนญ ตันติสุนทร เพื่อนร่วมรุ่นวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และน้องชายของ นลินี รัตนาวะดี ภรรยาของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และรุ่นพี่จากคณะเดียวกันด้วย

 

นอกจากนี้ช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในการลงพื้นที่แจกข้าวกล่องของ กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ จากพรรคพลังประชารัฐ ภรรยาของชัยวุฒิ ก็ยังเป็นข้าวกล่องที่ได้รับอภินันทนาการจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ด้วย

 

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เคยบริจาคเงินให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในปี 2559 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย โดย รังสิมันต์ กล่าวว่า “ตอนที่นั่งเก้าอี้ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ. ประวิตร ก็พยายามเข้าไปกอบโกยและเอื้อผลประโยชน์ในกิจการพลังงานของประเทศ ที่มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เล่นในนั้นด้วย พอมานั่งเก้าอี้ประธาน ก.ตร. ก็ปล่อยปละละเลยให้มีการออกตั๋วช้างแอบอ้างไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และพอมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการอวกาศฯ ก็มีมติร่วมกันกับชัยวุฒิ ยกดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้กับ NT ซึ่งในภายหลังเครือไทยคมฯ ที่มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อม ก็เข้ามาคว้าสิทธิควบคุมดาวเทียมเหล่านั้นและใช้แสวงหากำไรต่อไปได้ โดยที่ฝ่ายรัฐได้ผลประโยชน์เพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น”

 

สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ในวงการดาวเทียม เมื่ออยู่ภายใต้อำนาจของชัยวุฒิที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้วก็จะถูกกินรวบเข้าไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งหมด ส่วนผลประโยชน์ในกิจการด้านอื่นๆ ถ้ายังให้รัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐนำประเทศต่อไป ก็คงไม่พ้นต้องตกในชะตากรรมเดียวกัน

 

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการกินรวบที่เกิดจากกลุ่มทุน ที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจผูกขาด เราอาจจะเปรียบเปรยว่าแทบไม่แตกต่างกับปรสิตที่กัดกินสังคมไทยไม่ให้พัฒนา ด้านหนึ่งปรสิตกลุ่มทุนเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ผ่านการจ่ายเงินให้พรรคการเมือง เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. ออกนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์แก่ปรสิต และส่งสมัครพรรคพวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือคนใกล้ชิดของรัฐบาลเพื่อให้มั่นใจว่าจะผูกขาดทรัพยากรต่างๆ ในประเทศได้ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจ่ายเงินให้กับบรรดาข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ศาล ตำรวจ หรือข้าราชการพลเรือนอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าแขนขาของร่างกายจะเชื่อฟังตามใจปรารถนาของปรสิตกลุ่มทุนที่เข้ามายึดครอง

 

“หนทางเดียวที่จะรักษาอาการป่วยของประเทศนี้คือการทลายปรสิตการเมือง ซึ่งนั่นคือการจัดการทุนผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรี พอได้แล้วกับสัมปทานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน พอได้แล้วกับการใช้เครือข่ายการเมือง เพื่อเอื้อนโยบายให้ตัวเองเติบโตกว่าใครเพื่อน เราต้องจัดการขุนศึก เพื่อให้พวกเขาหยุดเป็นมือเป็นไม้ในการทำลายประชาชน ถึงเวลาที่พวกเขาต้องกลับกรมกอง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง เราต้องจัดการศักดินาให้อยู่ภายใต้กฎหมาย เปลี่ยนศักดินาให้มีสถานะเหมือนกับประชาชนทุกคน เพื่อจะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายและประชาชนอีกต่อไป” รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising