×

ปกรณ์วุฒิ ซักฟอก รมว.ดีอีเอส ผุดร้อยแอปฯ แต่ประชาชนยังถูกลอยแพ ไม่ทำภารกิจ มุ่งแต่จำกัดความคิดประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2021
  • LOADING...
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

วันนี้ (3 กันยายน) การอภิปรายไม่ไว้วางใจวันสุดท้าย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส โดยกล่าวว่า ในฐานะทำงานในวงการเทคโนโลยีดิจิทัลมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เคยฝันว่าอาจจะได้เห็น Unicorn สัญชาติไทยสักตัวหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงโควิด หรือยุคที่เรียกว่า New Normal ที่ทุกคนต่างต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติที่สุดในช่วงที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ ยุคที่การ Digitization ทั่วโลกถูกเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นนับสิบปี ยุคที่ได้เห็นหลายประเทศไขว่คว้าโอกาสนี้ไว้ไม่ให้หลุดลอยไป ในวิกฤตคือความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของโลกยุคใหม่และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะพลิกฟื้นประเทศกลับมาได้

 

“อย่างน้อยที่สุด ในช่วงโควิดน่าจะได้เห็นผลงานของกระทรวงนี้ในการเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการควบคุมโรคหรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนบ้าง แต่เรามีแพลตฟอร์ม Contact Tracing อย่าง ‘ไทยชนะ’ ที่พังไม่เป็นท่า เรามี ‘หมอชนะ’ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่รัฐกลับไปดึงมาจากภาคประชาสังคมแล้วปรับเปลี่ยนจนง่อยเปลี้ยเสียขาไปหมด และเมื่อชัยวุฒิเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ไม่เคยเห็นการปรับปรุงอะไรเรื่องนี้เลย” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ปกรณ์วุฒิกล่าวต่อไปอีกว่า ในเรื่องการจองวัคซีนมีแพลตฟอร์มตอนแรกคือ ‘หมอพร้อม’ ให้ทุกคนทั่วประเทศลงทะเบียนได้ โปรโมตใหญ่โต แต่หลังท่านเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน เดือนพฤษภาคมหมอพร้อมประกาศยกเลิกการลงทะเบียน หลังจากนั้นก็ผุดมาทั้ง ‘ไทยร่วมใจ’ ของ กทม., การลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือ อาการหนักที่สุดคือไปแยกให้แต่ละจังหวัดมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ทั้ง ‘ก๋ำแปงเวียง’ ของเชียงใหม่, ‘ขอนแก่นฉีดแล้วเด้อ’, ‘สงขลาวัคซีน’ แม้กระทั่งจังหวัดที่มีประชากรแค่ 200,000 คน อย่างระนอง ก็ยังแยกแพลตฟอร์ม ‘ระนองพร้อม’ ออกมา

 

“หมอพร้อมที่ยกเลิกไป เพราะว่าแอปพลิเคชันนี้สาธารณสุขเป็นคนทำครับ ตอนที่ประกาศยกเลิก กระทรวงสาธารณสุขยังต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษ บอกว่า ‘หมอไม่ถนัดคอมพิวเตอร์’ ตกลงเรามีกระทรวงดิจิทัลไว้ทำอะไร สุดท้ายประชาชนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะไม่มีเครื่องมือที่คอยเตือน อยากจะไปฉีดวัคซีน ไม่รู้เลยว่าต้องไปลงทะเบียนที่ไหน แอปพลิเคชันไหน ความล้มเหลวทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาพที่คนต้องไปแออัดกันฉีดวัคซีนจนมีคนติดโควิดออกมาเสียเอง”  

 

ปกรณ์วุฒิย้ำอีกว่า ถึงที่พูดมาทั้งหมดเป็นภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลควรทำ แต่ไม่ใช่ภารกิจที่ชัยวุฒิได้รับมอบหมายมาให้ทำ เพราะภารกิจเดียวที่ได้รับมาคือ ‘ภารกิจในการควบคุมความคิดของประชาชน’ เพื่อรักษาอำนาจของระบอบปรสิต ด้วยการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ผูกขาดความจริง และความพยายามในการสอดแนมประชาชน โดยใช้คำว่าความมั่นคงเป็นข้ออ้าง และใช้ปัญหาข่าวปลอมมาบังหน้า

 

“ปฏิบัติการแรกย้อนไปปี 2562 ที่กระทรวงดิจิทัลจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หลังจากนั้นก็ใช้คำว่าข่าวปลอมมาบังหน้า บอกว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ต้องเร่งแก้ไข แต่จริงๆ แล้ว กระทรวงกลับเอางบประมาณเหล่านี้ไปใช้เพื่อความมั่นคงของตัวเอง เพราะฉากหลังมีแต่การกำจัดคนเห็นต่าง ทั้งปิดหูปิดตาด้วยการสั่งให้ปิดโพสต์ ปิดแอ็กเคานต์บนโซเชียลมีเดียของผู้เห็นต่าง รวมถึงการสั่งลบคลิปของธนาธรที่ออกมาเตือนเรื่องหาวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียว ปิดปากประชาชนด้วยคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 มีหลายคดีที่ผู้แจ้งความคือกระทรวงดิจิทัลโดยตรง ปัญหาข่าวปลอมที่บอกว่าจะแก้ ก็แก้ด้วยแค่ 3 วิธี คือ ปราบปราม ดำเนินคดี และข่มขู่ จนประชาชนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่ากระทรวงนี้กำลัง ‘ปราบปรามข่าวปลอม’ หรือปราบปรามสิ่งที่รัฐมองว่าเป็น ‘อาชญากรรมทางความคิด’ กันแน่” ปกรณ์วุฒิกล่าว พร้อมระบุอีกว่า 

 

“รัฐมนตรีชัยวุฒิเข้ามารับตำแหน่งเป็นช่วงที่เรียกว่าพีกที่สุด ​เพราะความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด ทำให้โลกออนไลน์ต้องใช้คำว่า ‘ลุกเป็นไฟ’ แม้กระทั่งคนจำนวนมากที่เคยออกตัวเชียร์รัฐบาลมาตลอดหลายปีก็ยังทนไม่ไหว การชุมนุมบนท้องถนนก็ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐมนตรีเข้ามารับลูกอย่างรวดเร็วครับ ด้วยผลงานแรกคือสั่งจับตากลุ่มย้ายประเทศ ซึ่งต้องถามจริงๆ ว่าจะไปยุ่งอะไรกับเขา”  

 

ปกรณ์วุฒิยังกล่าวต่อไปด้วยว่า จากนั้นชัยวุฒิยังตอกย้ำต่อเนื่อง เอาข่าวปลอมมาบังหน้าเพื่อปิดปากคนเห็นต่างด้วยการเซ็นแต่งตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่มีอำนาจหน้าที่ทั้งการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายรองใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศึกษาการดำเนินงาน การบังคับใช้กฎหมายต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อความมั่นคง ความสงบ และศีลธรรมอันดี

 

“โดยเฉพาะอนุกรรมการชุดที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ที่เต็มได้ด้วยการปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินการเกี่ยวกับคดีความการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ท่านไม่ต้องลุกขึ้นมาตอบว่าทำเพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอม เพราะการเอาแต่ปราบปราม ดำเนินคดี ไล่ฟ้อง มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

จากนั้นปกรณ์วุฒิยังได้ยกตัวอย่างการจัดการข่าวปลอมในยุโรป โดยกล่าวว่าหลักปฏิบัติคือการกำกับดูแลตัวเอง การเฝ้าระวังการซื้อโฆษณาในโซเชียลมีเดีย ความโปร่งใสในการโฆษณาทางการเมือง การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค ส่งเสริมหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ แต่ไม่มีสักข้อที่บอกให้รัฐบาลเอากฎหมายมาปิดปากประชาชน ถ้ากระเหี้ยนกระหือรือจะทำแบบนี้ ควรไปสมัครเป็นตำรวจ อย่ามาเป็นรัฐมนตรี แต่หากจะบอกว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ปิดปากคนเห็นต่าง ก็ขอท้าให้ยกตัวอย่างคดีที่ฟ้องคนที่ปล่อยข่าวปลอมที่เป็นบวกกับรัฐบาลสักคดีเดียวก็ได้

 

“เดือนกรกฎาคมท่านรัฐมนตรีเปิดหน้าว่ามาเพื่อปิดปากคนเห็นต่างจริงๆ ด้วยการออกมาสั่งเอาผิดคนโพสต์ข้อมูลเท็จ 147 ราย ทั้งหมดมาจากการโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงรัฐบาลล้วนๆ หนักไปกว่านั้นคือออกมาขู่ดาราคนมีชื่อเสียงที่ดาหน้าออกมา Call out วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หลังจากนั้นไม่กี่วันรัฐบาลก็ออกมารับลูก ด้วยประกาศภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 29 ​ที่ไม่ได้เอาผิดเฉพาะข้อความที่เป็น ‘ความเท็จ’ แต่อะไรที่รัฐมองว่ากระทบกับความมั่นคงแปลว่าผิดหมด แต่ยังโชคดีที่ศาลแพ่งก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่า การมิได้จํากัดเฉพาะข้อความ ‘อันเป็นเท็จ’ ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครองไว้ ประกาศฉบับนี้ก็เป็นการพิสูจน์ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้กลัว ‘ข่าวปลอม’ แต่กลัวคนเห็นต่างเท่านั้น” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ปกรณ์วุฒิย้ำต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบข่าวสารจากรัฐกับเหตุผลในการจัดการประชาชนในหลายกรณี เช่น การออกมาขู่ดาราที่ Call out ด้วยเหตุผลว่าต้องไม่พูดสร้างความตกใจ ไม่สร้างความสับสนให้สังคม ไม่พูดจนก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าเห็นว่ากรณีเหล่านี้มีความผิดจริงก็มีคดีมาให้ฟ้องจำนวนมาก เช่น วันที่ 31 พฤษภาคม ตอนกลางวัน กทม. ออกประกาศว่าวันรุ่งขึ้นให้สามารถเปิดร้านนวด สถานเสริมความงามได้ แต่ตอนเย็น ศบค. ก็ออกประกาศชะลอคำสั่ง ไม่อนุญาตให้เปิด แบบนี้สร้างความสับสนหรือไม่ ส่วนผลคือวันนั้นมีพนักงานร้านนวด สถานเสริมความงาม ที่ตีตั๋วรถมาจากต่างจังหวัด เพราะคิดว่าจะได้กลับมาทำงาน แต่พอมาถึงกรุงเทพฯ กลับเจอคำสั่งแบบนี้ แบบนี้สร้างความเสียหายหรือไม่ จะเลือกแจ้งความใคร ผู้ว่า กทม. หรือหัวหน้า ศบค. หรืออีกกรณี อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยพูดในสภาว่าเดือนกรกฎาคมวัคซีนจะเต็มแขนคนไทย ก็ไม่มี ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ ทาง ศบค. เคยยืนยันข้อมูลว่าจะได้วัคซีน AstraZenega เดือนละ 10 ล้านโดส แต่สุดท้ายพอวัคซีนไม่มา สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็บอกว่าไม่ได้ระบุวันจัดส่งแบบนี้สร้างความสับสนหรือไม่

 

“หรือตัวท่านเอง ในตอนที่ท่านแก้ตัวให้รัฐบาลเรื่องวัคซีน ท่านบอกว่าในอาเซียน เรามีคนที่ได้ฉีดวัคซีนมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 แต่จากข้อมูล Vaccination Stats Asean 21 กรกฎาคม 2564 วันที่ท่านพูดประโยคนี้ออกมา ณ วันนั้น ประเทศไทยมีสถิติผู้ฉีดวัคซีนวัดตามสัดส่วนประชากรเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน สิ่งที่ท่านพูดก็ไม่ใช่ความเท็จหรอก เพราะอันดับ 2 คือปริมาณโดสทั้งหมด แต่ในรายการเดียวกันที่ท่านพูด ลองไปย้อนดู 10 นาทีก่อนหน้า ท่านพูดไว้ว่า ‘คนสาธารณะ’ เป็นคนที่มีคนรักและศรัทธา เวลาพูดอะไรไปคนก็เชื่อ ดังนั้น เราก็ต้องพูดสิ่งที่มันครบถ้วนถูกต้อง ถ้าพูด ‘ความจริงครึ่งเดียว’ หรือบิดเบือนแล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิด ผมว่ามันก็ไม่ถูกต้อง เราอย่าใช้สิ่งที่เรามีไปในทางที่ไม่ถูกต้อง คนอย่างนี้หรือมีหน้ามาบอกว่าคนอื่นบิดเบือน พูดความจริงครึ่งเดียว ถามจริงๆ ไม่อายตัวเองบ้างหรือ” ปกรณ์วุฒิกล่าว


ปกรณ์วุฒิกล่าวต่อไปว่า ที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดและเป็นการบิดเบือนกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อที่จะทำให้ประเทศอยู่ภายใต้ระบอบปรสิตนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือการเขียนกฎหมายให้อำนาจตัวเองในการสอดแนมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน

 

“ในวันที่ 13 สิงหาคม ในราชกิจจานุเบกษามีการเผยแพร่ ‘ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ’ ซึ่งเป็นประกาศที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อ่านผ่านๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ ‘ปีศาจ’ มักซ่อนอยู่ในรายละเอียดเสมอ เพราะประกาศฉบับนี้ก็คือการระบุรายการของข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่ผู้ประกอบการต่างๆ จำเป็นจะต้องเก็บเพื่อให้รัฐเรียกข้อมูลได้เมื่อจำเป็น ผู้ประกอบการที่ระบุมีตั้งแต่แพลตฟอร์มใดๆ ก็ตามในโลกนี้ที่ให้บริการคนไทย ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตบ้าน ร้านอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งร้านอาหารหรือสถานประกอบการใดๆ ที่มีบริการ Wi-Fi ฟรี ให้ใช้ ซึ่งถ้าร้านเหล่านี้ไม่มีศักยภาพจะหาเครื่องมือที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ ขั้นต่ำก็ระบุว่าต้องติดกล้องวงจรปิด และรัฐสามารถขอข้อมูลนี้ได้ สรุปคือกำลังนิยามภาพในกล้องวงจรปิดว่าเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์กันแล้วใช่หรือไม่ และแน่นอนว่าภาระของผู้ประกอบการก็จะมีมากขึ้น” ปกรณ์วุฒิกล่าว พร้อมระบุต่อไปว่า

 

ในทางกลับกัน ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่งถูกเลื่อนบังคับใช้ออกไปอีกครั้ง ชัยวุฒิอ้างว่าการบังคับใช้จะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการ ตอนที่จะคุ้มครองผู้บริโภคหรือประชาชนบอกว่าไม่อยากเพิ่มภาระผู้ประกอบการ แต่พอเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่จะเพิ่มอำนาจตัวเอง กลับประกาศโดยที่ไม่ได้สนใจภาระผู้ประกอบการแต่อย่างใด สำหรับรัฐบาลนี้ อำนาจตัวเองสำคัญกว่าประชาชนเสมอ  

 

ปกรณ์วุฒิกล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญคือ ประกาศฉบับนี้นิยามขอบเขตของคำว่า ‘ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์’ ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เพิ่มเติมจากประกาศเดิมเมื่อปี 2550 สมัยที่ยังเป็นกระทรวงไอซีที ที่เปลี่ยนแปลงเยอะมาก ภาคผนวก ก มีการเพิ่มประเภทผู้ให้บริการที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ หรือชัดเจนว่ากำลังพุ่งเป้าไปที่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Telegram และ Clubhouse ซึ่งรู้กันอยู่ว่ารัฐบาลกังวลกับ 2 แพลตฟอร์มนี้แค่ไหน และทุกวันนี้ก็ส่งสันติบาลไปแอบฟังตามห้องอยู่ตลอด แต่มากกว่านั้นคือการเขียนกฎหมายเพื่อพยายามไปบังคับให้เก็บข้อมูลเพื่อให้ส่งให้รัฐบาล

 

ข้อ 8 และ ข้อ 9(4) บังคับให้เก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลของผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ถ้าพูดให้เห็นตัวอย่างแบบสุดโต่ง คือ ตามประกาศนี้ ถ้าใครจะเปิด Twitter อาจจะต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน  

 

ภาคผนวก ข ระบุรายละเอียดข้อมูลที่ต้องจัดเก็บ รวมแล้ว 14 ข้อย่อย ซึ่งทั้งหมดไม่มีในประกาศ นิยามข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ปี 2550 แม้แต่ข้อเดียว ยกตัวอย่างเช่น การระบุตัวตนผู้ใช้, วันเวลาในการเข้าออกจากระบบ หรือ Log on และ Log off, การระบุหมายเลขอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, สถานที่ หรือ Location, รายละเอียดของข้อมูล ประเภทของแอปพลิเคชัน หรือรายละเอียดธุรกรรมที่ทำผ่านแอปพลิเคชัน

 

“พูดให้ง่ายๆ มันคือข้อมูลที่บอกว่าใครใช้คอมพิวเตอร์เครื่องไหน ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ข้อมูลเหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าถูกนำไปใช้ผิดวิธีมันจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ​เพราะทุกวันนี้ทุกคนอยู่กับอินเตอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา และถ้ามีข้อมูลมากพอจะสามารถบ่งบอกพฤติกรรมรายบุคคลได้ เช่น สามารถบอกว่านาย A มักจะอยู่ที่ไหนในวันจันทร์-ศุกร์ ตอนกลางวัน มักจะอยู่ที่เดียวกับนาย B ในวันเสาร์-อาทิตย์เย็น เข้าเว็บไซต์ไหนบ่อยๆ และมักจะเข้าตอนกี่โมง มักจะอยู่ในร้านเดียวกับ C D E เดือนละครั้ง ประมาณครั้งละกี่ชั่วโมง หลายๆ ท่านอาจจะเคยสงสัยว่า ทำไมหลายๆ ครั้ง Facebook หรือ Google ถึงรู้ว่าเรากำลังอยากซื้ออะไร อยากไปเที่ยวที่ไหน ก็เพราะเขาใช้ข้อมูลคล้ายๆ ที่อยู่ในประกาศนี้ โดยเขาไม่ได้ใช้ข้อมูลที่ลึกขนาดนี้ด้วยซ้ำ เพราะมีกฎที่ชัดเจนในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ และมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย แต่ที่น่ากลัวที่สุดและไม่มีใครทำคือ ตามประกาศนี้จะทำให้รัฐล้วงข้อมูลได้ทั้งหมด วิเคราะห์พฤติกรรมของทุกคนได้หมด โดยมีการ ‘ระบุตัวตน’ รัฐจะรู้หมดว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นของใคร ชื่อ นามสกุลอะไร บ้านอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร มีรถกี่คัน ทะเบียนอะไรบ้าง” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ปกรณ์วุฒิกล่าวต่อไปอีกว่า การเก็บข้อมูลก็เรื่องหนึ่ง แต่อำนาจในการเรียกข้อมูลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือความงามไส้ที่สุดของประกาศนี้ ตัว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งร่างและแก้ไขโดย สนช. ที่มาจากการยึดอำนาจทั้ง 2 ยุค ในตัวมันเองมีปัญหาเรื่องการนิยามการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และให้อำนาจรัฐจนเกินขอบเขตอยู่แล้ว เพราะในมาตรา 18 ประกอบมาตรา 19 ได้แบ่งประเภทข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ 8 วงเล็บ และได้เปิดช่องยกเว้นไว้ว่า ข้อมูลใน (1) (2) (3) ไม่ต้องขอหมายศาล ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจขอได้ทันที และให้ผู้ประกอบการส่งมอบภายใน 7 วัน ตอนที่ร่างไว้มีการให้เหตุผลว่า ข้อมูล 3 วงเล็บนี้ไม่ใช่ข้อมูลที่อ่อนไหวหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงยกเว้นไว้เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ประกาศเมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ออกโดยอ้างอิงมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อมูลตามมาตรา 26 อยู่ใน (3) แปลว่า ข้อมูล 14 ประเภท ที่ลึกยิ่งกว่าที่แพลตฟอร์มระดับโลกใช้วิเคราะห์ผู้ใช้งาน จะถูกเจ้าหน้าที่ล้วงได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ตำรวจจะบุกค้นบ้านคนยังต้องมีหมายศาล แต่ประกาศนี้จะทำให้เราถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในความทรงจำของทุกคนบนอินเทอร์เน็ตได้ตามอำเภอใจ 

 

“รัฐมนตรีชัยวุฒิกำลังลุแก่อำนาจ ออกประกาศที่เป็นการบิดเบือนหลักการกฎหมาย คุกคามสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่คุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และการแก้กฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการขนาดนี้ ต้องแก้ที่ตัว พ.ร.บ. และนำเข้ามาให้ผู้แทนราษฎรพิจารณา ไม่ใช่ออกเองตามอำเภอใจแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้ได้ ต่อไปรัฐมนตรีไม่ออกประกาศกระทรวงยกเลิก พ.ร.บ. ไปเลยหรือ” ปกรณ์วุฒิกล่าว

.

ปกรณ์วุฒิยังตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำแบบนี้ก่อนหน้านี้เคยทำกันแบบลับๆ ล่อๆ แต่ประกาศนี้คือความอุกอาจอย่างถึงที่สุด เพราะเป็นการเขียนกฎหมายอนุญาตให้ติดกล้องวงจรปิดบนอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐสามารถล้วงข้อมูลได้ทั้งหมดว่าเราทำอะไรกับใครที่ไหนเมื่อไรบ้าง และทำได้ตามอำเภอใจ แล้วประจวบเหมาะเหลือเกิน ที่ กอ.รมน. ก็เพิ่งของบไปทำ Big Data ในงบปี 2565 หมายความว่า ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในประเทศนี้ไม่มีแล้ว ไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือข้าราชการ นักธุรกิจ หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าต่อต้านอำนาจรัฐบาลก็อาจจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐล้วงข้อมูลพฤติกรรมได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องใช้หมายศาล เราจะต้องอยู่ในประเทศแบบนี้กันจริงๆ หรือ

 

ความคลั่งอำนาจจนกล้ากระทำการอุกอาจแบบนี้จะสร้างความเสียหายต่อประเทศอีกมหาศาล เพราะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงประกาศนี้ จุดมุ่งหมายหลักอีกข้อ คือ การพยายามที่จะบังคับใช้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามีการกดดันแพลตฟอร์มอย่างเช่น Facebook Twitter มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขอให้ปิดโพสต์ ปิดบัญชีผู้ใช้ ปิดเพจ ปิดกลุ่มต่างๆ ​ทั้งขอปากเปล่าบ้าง หรือมีหมายศาลบ้าง ซึ่งการปิดกั้นเหล่านี้จะต้องส่งไปที่สาขาต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะแพลตฟอร์มจะดำเนินการให้ก็ต่อเมื่อการกระทำผิดนั้นเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายที่เป็นสากล อย่างเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด ก่อการร้าย ค้ามนุษย์ ไปขอให้เขาปิดแอ็กเคานต์ของคนที่วิจารณ์รัฐบาล เขาจึงไม่ปิดให้ แต่พอโดนปฏิเสธมากๆ เข้า คงพยายามจะใช้ประกาศนี้เพื่อเอากฎหมายไปกดดันแพลตฟอร์มเพิ่มเติม ทั้งการบังคับให้แพลตฟอร์มยืนยันตัวตนผู้ใช้ในไทย และอาจจะมีการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้จากแพลตฟอร์ม ซึ่งมั่นใจว่าแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ก็จะไม่ให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน เพราะมันเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างร้ายแรง

 

ปกรณ์วุฒิยังเตือนว่า หากมีการกดดันอย่างต่อเนื่องมากแบบนี้มากเข้า ก็มีแนวโน้มที่แพลตฟอร์มเหล่านี้จะลดการลงทุนในไทย หรืออาจถอนตัวจากประเทศไทยไป จริงอยู่ที่ประชาชนทุกคนยังใช้งานได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเสียไปคือความร่วมมือที่แพลตฟอร์มมีต่อรัฐ อย่าง Facebook ที่ทุกวันนี้จะให้ความร่วมมือกับรัฐในการปิดกั้นและปิดกลุ่มหรือเพจที่ขายของที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือเซ็กซ์ทอย เป็นต้น หรือถ้าลองย้อนกลับไปตอนเหตุกราดยิงโคราช Facebook ก็ตรวจพบว่าคนร้ายกำลังไลฟ์ในขณะก่อเหตุ จึงปิดเพจของคนร้ายทันที จากนั้นจึงแจ้งไปที่กระทรวง แจ้งเตือนคนที่อยู่ใกล้เคียง และตามลบคลิปที่คนร้ายเปิดขึ้นมาใหม่ให้เรื่อยๆ Facebook ก็ยังมีกระบวนการที่ช่วยตรวจสอบเนื้อหาที่เกี่ยวกับความพยายามฆ่าตัวตาย หากตรวจพบก็จะมีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้การช่วยเหลือ ซึ่งหากมีการถอนตัวจากประเทศไทย ความร่วมมือเหล่านี้ก็จะหายไปทันที

 

“ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการเสียโอกาสในการลงทุนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แพลตฟอร์มระดับโลกไม่ว่าจะ Google, Microsoft, Facebook มีการร่วมมือกันเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต เช่น การวางสายเคเบิลใต้น้ำให้กับประเทศที่มีผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยคือประเทศที่มีผู้ใช้งานหลายๆ แพลตฟอร์มเป็นอันดับต้นๆ และในภูมิภาค ทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ก็ได้รับการสนับสนุนในลักษณะนี้ แต่ด้วยสภาวะทางการเมืองที่ไม่นิ่งมาตั้งแต่มีการรัฐประหาร จนตอนนี้ก็ยังมาออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแบบนี้ เราอาจไม่ได้เห็นความสนับสนุนแบบนี้ในประเทศไทย” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ปกรณ์วุฒิกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีบริษัท Venture Capital ที่พร้อมจะลงทุนกับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มีไอเดีย มีศักยภาพ และสำหรับ VC เหล่านี้ เงินลงทุนหลักล้านดอลลาร์ หรือ 10 ล้านดอลาร์ ก็ไม่ระคายขนหน้าแข้งเขา แต่กับรัฐบาลที่ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะออกกฎหมายอะไรที่ไม่เอื้ออำนวยกับการประกอบธุรกิจดิจิทัลหรือไม่ ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะยอมเอาเงินมาเสี่ยงลงทุนในประเทศแบบนี้ สิ่งที่จะเสียไปทั้งหมดมันคือความฝันของคนอีกหลายล้านคนที่เห็นว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญที่สุด แต่รัฐบาลนี้ก็ยอมให้โอกาสของประเทศพังทลายลงต่อหน้าต่อตา เพียงเพราะต้องการรักษาอำนาจของตัวเองไว้

.

“ที่อภิปรายมาเป็นเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับกระทรวงดิจิทัลสูงมากจริงๆ แต่เหตุผลที่เราไม่เคยเห็นกระทรวงนี้และรัฐมนตรีคนนี้ทำอะไรเพื่อพัฒนาโอกาสทางเทคโนโลยีดิจิทัลเลย ก็เพราะมุมมองของรัฐต่อเทคโนโลยี ไม่ใช่โอกาสทางเศรษฐกิจ แต่รัฐกำลังเห็นว่าเทคโนโลยีนี้คือภัยคุกคามร้ายแรงต่ออำนาจที่ตัวเองพยายามปกปักษ์รักษาอยู่ คงเคยได้ยินคำว่า ผู้ที่ควบคุมประวัติศาสตร์ได้ก็จะเป็นผู้ที่กุมชะตาอนาคต ซึ่งประวัติศาสตร์จะถูกเล่าโดยผู้ชนะเสมอ และไม่มีทางที่พวกเขาจะปล่อยให้ผู้คนได้ยินประวัติศาสตร์ที่เล่าโดย ‘ผู้ถูกกดขี่’ เมื่อก่อนอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ แค่คุมทีวี วิทยุแค่ไม่กี่ช่อง หนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูที่สุด ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และเกิดเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไม่จำกัดโดยไม่มีใครสามารถปิดกั้นได้ เทคโนโลยีนี้จึงทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเรื่องราวจากฝั่งของ ‘ผู้ถูกกดขี่’ นั้นเป็นอย่างไร และเทคโนโลยีนี้ทำให้ประชาชนเห็นว่า แท้จริงแล้ว ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ไม่ใช่ระบอบปรสิตที่กัดกินประเทศ ไม่ใช่นายทุนที่ผูกขาดเศรษฐกิจไว้กับตัวเอง ไม่ใช่พวกขุนศึก ศักดินา ที่กดหัวคนอื่นให้ต่ำกว่า แต่ประชาชนต่างหากที่เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ในประเทศนี้ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนที่ผูกขาดอำนาจถูกท้าทายและสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

 

“ในสายตาของรัฐ สิ่งนี้จึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรง และจำเป็นต้องถูกควบคุมอย่างเร่งด่วนที่สุด ดังนั้น แทนที่จะสร้าง Ecosystem ให้เทคโนโลยีนี้เติบโต จึงต้องหยุดยั้ง และสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ระบอบปรสิตงอกงามแทน ไม่สำคัญเลยว่ารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจะชื่อชัยวุฒิหรือชื่ออะไร เพราะภายใต้โครงสร้างอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำตามที่ผู้มีอำนาจชี้นิ้วสั่งเท่านั้น แต่ในเมื่อวันนี้ท่านคือคนที่รับตำแหน่งนี้ และเลือกที่จะบิดเบือนหลักการของกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทำลายเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เลือกที่จะรับใช้ระบอบปรสิตที่กัดกินประเทศ เหยียบย่ำความฝันของประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดีด้วยการแช่แข็งขังประเทศไว้กับอดีต ทำลายโอกาสของประเทศในยุคที่ท้าทายที่สุด ผมก็ไม่สามารถไว้วางใจท่านได้อีกต่อไป” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ปกรณ์วุฒิยังทิ้งท้ายว่า ขอเป็นเสียงที่พูดแทนประชาชนอีกหลายล้านคนที่มีความฝันว่าในยุค Digital Disruption จะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยศักยภาพอันเต็มเปี่ยมที่พวกเขามี ประชาชนทุกคนรู้ดีว่านี่คือยุคที่เป็นโอกาสสามารถสร้างประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองและลูกหลานให้ดีขึ้นได้ และสร้างความฝันของพวกเขาให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเขาเอง และขอพูดแทนพวกเขาว่า ท่านไม่สามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยได้อีกต่อไปแล้ว เอาอดีตของพวกท่านกลับคืนไป และคืนอนาคตให้พวกเขาเสียที

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X