×

หมอแท็กทีมยืนยันมีหลักฐานวิชาการรองรับสูตรไขว้ เตรียมคลอดวารสารระดับโลก ขออย่าทำให้ประชาชนสับสน

โดย THE STANDARD TEAM
01.09.2021
  • LOADING...
Supachai Jaisamut

วันนี้ (1 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา ศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงหลังฝ่ายค้านอภิปรายกรณีการฉีดวัคซีนไขว้

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า ตามหลักการแล้วโรคโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรารู้จักสายพันธุ์เดลตาเพียง 3-4 เดือน ฉะนั้นความรู้ใหม่เปลี่ยนตลอดเวลารวมถึงวัคซีนด้วย ที่สำคัญวัคซีนที่เราใช้กันอยู่มีข้อมูลยังไม่ถึงปี ดังนั้น ความรู้ และสถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา การบริหารจัดการก็จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชน อย่างไรก็ตาม ปกติเราฉีดวัคซีนตามแต่ละบริษัทผู้ผลิต แต่เดลตาทำให้ทุกวัคซีนประสิทธิภาพลดลงหมด  แต่ยังลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต แต่สิ่งที่เราต้องการคือทำให้วัคซีนที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นที่มาของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เป็นการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยว่า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่าปกติ และสามารถฉีดในเวลาสั้นลง 

 

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า กลไกการพิจารณาสูตรวัคซีนต่างๆ สธ. ไม่ได้คิดโดยลำพัง แต่มีคณะกรรมการ มีคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อ ด้านวัคซีน ด้านระบาดวิทยา และอื่นๆ ร่วมประชุมหาข้อสรุป เพื่อปรับการใช้วัคซีนโดยอ้างอิงหลักฐานวิชาการจากข้อมูลที่เรามีและข้อมูลจากทั่วโลก วัคซีนสูตรไขว้ก็มีคณะกรรมการวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พิจารณาเห็นชอบให้นำสูตรนี้มาใช้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยนำข้อมูลจากกรมวิทย์ฯ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเทค และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเห็นได้ว่าผู้เชี่ยวชาญจากแหล่งต่างกัน แต่ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สูตรไขว้มีประโยชน์ในการนำมาใช้ และนำเข้าสู่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยเห็นชอบให้นำมาใช้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ยืนยันว่าผ่านความเห็นของคณะกรรมการวิชาการอย่างรอบคอบก่อนนำมาฉีดให้ประชาชน

 

“ยืนยันว่าในปีนี้เราน่าจะมีวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดส และยืนยันเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าเราจะฉีดวัคซีนตามแผน และเป้าหมายด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ขอให้ทุกคนมั่นใจในทีมงานของกระทรวงสาธารณสุข และประเทศไทย” นพ.โอภาสกล่าว 

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า ส่วนด้านความปลอดภัย ต้องย้ำว่าวัคซีนทุกตัวที่ใช้ในไทย ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ดังนั้นจะมีความปลอดภัยสูง โดยเราฉีดสะสมแล้วกว่า 32 ล้านโดส และไม่มีรายใดที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเสียชีวิตจากวัคซีน

 

“ดังนั้นการตั้งคำถามว่าสูตรไขว้ปลอดภัยหรือไม่ ยืนยันว่าปลอดภัย และฉีดให้คนไทยแล้วกว่า 1.5 ล้านคน จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย เรา สธ. จะดูแลให้ดีที่สุด” นพ.โอภาสกล่าว

 

ด้าน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องมีการอภิปรายซ้ำ เพราะมีการตั้งข้อสงสัย แต่ต้องเรียนว่าการระบาดในช่วงแรกจะเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น วัคซีนที่ผลิตทุกชนิดเป็นรุ่นแรกซึ่งมีสารตั้งต้นจากไวรัสดั้งเดิม แต่เมื่อมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์จี อัลฟา และเดลตา คณะวิชาการที่เกี่ยวข้องไม่นิ่งนอนใจในการนำวัคซีนมาใช้ มีการติดตามภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนว่าสามารถสู้กับสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ มีการกล่าวถึงอาจารย์แพทย์หลายท่าน แต่ขอเรียนว่า ทุกท่านมีความเมตตาต่อกระทรวงสาธารณสุข ที่เข้ามาร่วมให้คำแนะนำ บริหารจัดการ ดังนั้น การที่เราจะใช้วัคซีนใด อย่างไร ท่านได้พิจารณาให้ความเห็นมาโดยตลอด

 

“มีคนบอกว่าเราไขว้สูตรวัคซีนด้วย Sinovac และ AstraZeneca เราไม่ได้ตีพิมพ์วิจัยในวารสารวิชาการ ต้องเรียนกรมวิทย์ฯ กำลังส่งตีพิมพ์ แต่งานวิจัยระดับโลกหลังจากที่ได้ผลวิจัยแล้ว กว่าจะส่งให้วารสารตีพิมพ์จะต้องใช้เวลานาน ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้ หากใครก็ตามที่เป็นผู้บริหารรอให้ตีพิมพ์ก่อนจึงมาบริหารจัดการถือว่าโง่มาก” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับกรมวิทย์ฯ ได้ทำงานวิจัยออกมา และอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกเช่นกัน

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่ต้องจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มก็เกิดจากผลวิจัยที่ออกมาว่า การสู้กับเดลตาด้วยการฉีด Sinovac 1 เข็ม ตามด้วย AstraZeneca ห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ ให้ภูมิคุ้มกันพอๆ กับการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม ซึ่งทำให้ครอบคลุมประชากรจากเดิมมากขึ้น 2 เท่า จึงเป็นความจำเป็นในการซื้อ Sinovac เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สธ. ไม่เคยพูดว่าการฉีด Sinovac 2 เข็ม ยังมีประสิทธิผลต่อเดลตาสูง เนื่องจากงานวิจัยก็ระบุว่าประสิทธิผลลดลงในทุกวัคซีน เราก็มีแผนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับ 3 ล้านคนที่ฉีด Sinovac 2 เข็ม 

 

“อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนไขว้มีความปลอดภัย เนื่องจากมีข้อมูลการฉีด Sinovac เป็นเข็มที่ 1 แล้วฉีด AstraZeneca เป็นเข็ม 2 จำนวนหลายพันคน พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูง และไม่มีผลข้างเคียง ทั้งนี้ ยืนยันว่าเราฉีดสูตรไขว้ SA ไปแล้วกว่าล้านคน ยังไม่พบปัญหาใดๆ จึงขอว่าอย่าพูดให้ประชาชนเกิดความสับสน” นพ.ศุภกิจกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising