×

หอการค้าไทยชี้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ปรับลด’ ครั้งแรกรอบ 5 เดือน ผลพวงการเมืองไร้ขุนคลัง ลุ้น ‘ช้อปดีมีคืน’ ช่วยเปลี่ยนเกม

08.10.2020
  • LOADING...
หอการค้าไทยชี้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ปรับลด’ ครั้งแรกรอบ 5 เดือน ผลพวงการเมืองไร้ขุนคลัง ลุ้น ‘ช้อปดีมีคืน’ ช่วยเปลี่ยนเกม

วันนี้ (8 ตุลาคม) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ‘ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยต่อเศรษฐกิจโดยรวม’ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 42.9% ซึ่งถือว่ามีการ ‘ปรับลด’ เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้คลายล็อกให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม

 

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยต่อเศรษฐกิจโดยรวมปรับลดนั้น ศูนย์พยากรณ์เชื่อว่าเป็นผลมาจาก ความกังวลที่กลุ่มตัวอย่างในผลสำรวจมีต่อสถานการณ์การเมืองจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเหมือนในอดีต, ช่วงสุญญากาศของกระทรวงการคลังที่ไร้ ‘ขุนคลัง’ นานเกือบเดือนเต็ม นับตั้งแต่ที่ ปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีลาออก

 

รวมถึงประเด็นปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาการ ‘ว่างงาน’ และกำหนดแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

 

ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนในระหว่างการให้ข้อมูลว่า ต่อจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ มาตรการต่างๆ และท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) อย่างใกล้ชิดว่าจะดึงดูดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาได้เหรือไม่ เช่นเดียวกันกับสถานกาณ์ด้านการเมือง

 

ทั้งนี้ความกังวลหลักที่ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีต่อภาคเศรษฐกิจไทยคือ ‘ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว’ ยังคงไม่ฟื้นตัว โดยเกรงว่าหากไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันเวลา ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม ก็จะเริ่มเห็นสัญญาของการปลดพนักงาน และปัญหาการว่างงานที่ฉาบภาพชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลังจากเดือนตุลาคมจะนับเป็นช่วงสิ้นสุด ‘Heaven Period’ (สิ้นสุดมาตรการขยาย NPL)

 

“ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะถือเป็น ‘ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ’ ที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจ เพราะหากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวยังไมฟื้นตัว เราอาจจะได้เห็นการปลดคนงานในจำนวนกว่า 500,000 รายขึ้นไป อย่างไรก็ดี หากรัฐสามารถดำเนินมาตรการ ‘จ่ายคนละครึ่ง’ ได้อย่างทันท่วงที เราก็น่าจะเริ่มได้เห็นสัญญาณบวกในการประคองภารธุรกิจการท่องเที่ยวให้เดินต่อไปได้”

 

ส่วนมุมมองความเห็นที่มีต่อโครงการช้อปดีมีคืน (ลดหย่อยภาษีวงเงินการใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวานนี้ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่าเป็นมาตรการที่ดี เนื่องจากถือเป็นการดึงเงินจากภาคเอกชนที่รัฐบาลไม่ต้องควักเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยตัวเอง ซึ่งมีการประเมินว่าน่าจะมีประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านรายที่เข้าร่วมโครงการนี้ และใช้สิทธิ์เต็มเพดานที่ 30,000 บาท ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ขยายตัวได้ถึงราว 0.5-0.7%

 

เมื่อบวกกับโครงการคนละครึ่งและสวัสดิการแห่งรัฐ ก็น่าจะมีส่วนช่วยที่ทำให้เม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าหลักแสนล้านบาท และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ปรับขึ้นที่บวก 2-3% กลับมาเติบโตที่ระดับ -4% ถึง -5% ได้ไม่ยาก (จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 น่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ -6% ถึงราว -7%)

 

สำหรับมุมมองที่กลุ่มผู้ประกอบการมีต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจไทยนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรก 2564 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคเห็นสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising