×

CEA ครบรอบ 1 ปี เปิด 3 ภารกิจ ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2019
  • LOADING...
CEA

วันนี้ (15 ส.ค.) อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยยังไม่มีองค์กรเฉพาะด้านที่ส่งเสริมและดูแลเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยตรง และยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แม้หลายหน่วยงานของภาครัฐจะให้ความสนับสนุนในมิติต่างๆ ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ไม่มีองค์กรใดดูแลภาพรวมหรือกำหนดนโยบายและทิศทางที่เอื้อต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

 

ดังนั้น การเล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และต้องการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทย จึงส่งผลให้เกิดการจัดตั้ง ‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) (CEA)’ ขึ้น ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ภายใต้แนวทางของคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการยกฐานะและขยายบทบาทจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC เดิม 

 

นอกจากนี้ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวต่อว่า CEA จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ 2 ส่วนคือ การเป็นกลไกระดับหน่วยงาน ในการดำเนินภารกิจและโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการเป็นผู้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2562-2565 เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลักดันให้มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ของ GDP และการส่งเสริมให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวและธุรกิจของประเทศ ผ่านการเดินหน้านโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ภายใต้ภารกิจทั้ง 3 ด้าน ดังนี้

 

1. การพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การจับมือกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาค สมาคมวิชาชีพสร้างสรรค์ผ่านโครงการแนะแนวและส่งเสริมอาชีพสร้างสรรค์ การสร้างคาราวานนักสร้างสรรค์กับ 30 สถาบันการศึกษาใน 26 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมขยายแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดตั้ง TCDC สาขาภาคใต้ พร้อมขยายแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์

 

2. การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มส่งเสริมการตลาด ทั้งเชิงพื้นที่ เช่น เทศกาลงานออกแบบ งานแฟร์ในต่างประเทศและการสร้างช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อคัดเลือกสินค้าสู่ตลาดออนไลน์ โปรแกรมอบรมและแสดงผลงานในต่างประเทศ โดยการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ไทยให้ได้โอกาสในการเชื่อมต่อธุรกิจสูงสุด 

 

3. การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) โดยการร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DEPA) องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มบริษัทพัฒนาเมือง สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิด 4 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเมืองหลัก กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ภูเก็ต และ 30 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดเมืองรอง

 

ทั้งนี้ภายใต้แนวทางของคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการสำนักงานฯ ที่ผ่านมา CEA จึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการเสนอ ‘กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการออกแบบในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก’ ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

 

อย่างไรก็ดี CEA ยังคงเดินหน้าสร้างความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค อาทิ การเปิด TCDC ขอนแก่น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดเทศกาลงานออกแบบ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม 2562 และเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งล่าสุดกับงาน CEA Forum 2019 ครั้งแรก รับวาระครบรอบ 1 ปี เชื่อมโยงนักคิด นักสร้างสรรค์ไทย-ต่างประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโต เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่เข้มแข็งและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสู่การเป็น ‘ศูนย์กลางของการจัดงานเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์ในระดับสากล’ อภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X