วันนี้ (3 สิงหาคม 2564) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดมีจำนวนมาก แม้จะขยายเตียงรองรับกว่า 1.85 แสนเตียงก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ได้จัดระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่น ดูแลติดตามอาการ และมีหน่วยเชิงรุกในชุมชน หรือ CCR Team สนับสนุนการดำเนินงาน ใน กทม. มีแล้วประมาณ 200 ทีม
ขณะที่ในช่วงล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์นี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทได้จัดหน่วย CCR Team โดยบุคลากรสาธารณสุขจิตอาสาหลายสาขาวิชาชีพในภูมิภาค เช่น แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญในการจัดบริการปฐมภูมิ จำนวน 39 ทีมภูธร จากภาคเหนือ 7 ทีม ภาคกลาง 10 ทีม ภาคตะวันออก 2 ทีม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 ทีม และภาคใต้ 9 ทีม ร่วมดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 40 กว่าทีม
“หน่วยเชิงรุก CCR Team มีความสำคัญในการช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม. เนื่องจากช่วยแยกผู้ติดเชื้อในชุมชนไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ โดยเข้าไปตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในชุมชนด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษาที่บ้านหรือชุมชนตามระบบ ให้ยารักษา หากมีอาการรุนแรงจะส่งต่อ ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงร่วมบ้านหรือร่วมงานมาตรวจหาเชื้อ รวมถึงฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ นอกจากนี้ทาง กทม. มีการจัดหาถุงยังชีพ และภาคเอกชนร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้อาหารมาสนับสนุน ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการใช้เตียงในโรงพยาบาล” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของทีม CCR Team กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3 แสนชุด ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองวันละ 35,000 ราย โดยภายใน 7 วันจะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ราย คาดว่าอาจพบผลบวก 15% หรือประมาณ 32,500 ราย โดยประมาณ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์อย่างน้อย 6 แสนเม็ด เริ่มดำเนินการวันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม 2564) เป็นวันแรก