ธนาคารกลาง 6 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ร่วมกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) หารือกันนัดแรกกลางเดือนเมษายนนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC)
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่าในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ ผู้นำของธนาคารกลาง 6 แห่งและธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) จะจัดประชุมขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง
การประชุมที่จะถึงนี้นับเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกลุ่มธนาคารกลางที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นในแวดวงของหน่วยงานกำกับด้านการเงินเกี่ยวกับเทรนด์ของสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะลิบราของเฟซบุ๊กและหยวนดิจิทัลของประเทศจีน
โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับ BIS เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)
ธนาคารกลางวางแผนที่จะหารือเกี่ยวกับวิธีการที่สกุลเงินดิจิทัลสามารถปรับปรุงการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมถึงมองหามาตรการรักษาความปลอดภัยที่อาจจำเป็นต้องใช้
“เป็นเรื่องปกติที่จะต้องพิจารณาวิธีการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้สะดวกยิ่งขึ้น” มาซาซูมิ วากาตาเบะ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ขณะนี้ประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะเปิดตัว CBDC ได้ก่อนในกลุ่มประเทศหลักๆ หลังรายงานของธนาคารประชาชนจีนระบุว่าได้ทำการทดสอบเงินหยวนดิจิทัลแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เริ่มมองความเป็นไปได้ของ CBDC อย่างจริงจังมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงความล้าหลังของประเทศจีน หากจีนเปิดตัวสกุลเงินหยวนดิจิทัลที่ใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งอาจเทียบเคียงกับสถานะของเงินดอลลาร์
ทางกลุ่มมีเป้าหมายจะจัดทำรายงานฉบับเบื้องต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน และรายงานขั้นสุดท้ายในฤดูใบไม้ร่วง
ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่าหากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการชำระเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีความต้องการสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ธนาคารควรวางรากฐานของเทคโนโลยีและเตรียมพร้อมที่จะรับมือได้ทัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
เรียบเรียง: ชัชชญา อังคุลี
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinance.com