หลังจากวันนี้ (9 มิถุนายน) กัญชาทุกส่วน รวมถึง ‘ช่อดอกซึ่งมี THC สูง’ ได้ถูกปลดล็อก จะไม่ถูกกำกับดูแลในฐานะสิ่งเสพติดในประเทศไทย และจะไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการใช้ ไม่มีข้อจำกัดในการวางขายในช่องทางต่างๆ ไม่มีสถานที่ห้ามเสพที่ชัดเจน จนกว่าจะมีกฎหมายที่กำกับดูแลการจัดการกัญชาให้ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ
ทางศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ 10 ข้อควรระวังสำหรับผู้ตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ก่อนใช้ควรศึกษาความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะสั้น-ยาว โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงเช็กว่ายาประจำตัวจะถูกสารในกัญชารบกวนจนเกิดผลร้ายต่อร่างกายหรือไม่
- ผู้มีอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เพราะมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งพบว่าหากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชาก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ
- หากอยากจะลองใช้ แนะนำให้เริ่มแบบ THC (สารเมาหลอนและเสพติด) ในปริมาณน้อย เพราะหากใช้ปริมาณมากอาจเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ บารากู่ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากตัวกัญชา สารละลาย หรือสารปนเปื้อนอื่น หากมีอาการทางระบบทางเดินหายใจควรหยุดสูบในทันที
- ผู้ที่จะทดลองสูบ กรุณาอย่าสูบลึกมาก และอย่าอัด-กลั้นไว้ในปอด เพราะจะได้รับปริมาณสารเข้าสู่ร่างกายเยอะ ทั้งสาร THC และสารระคายเคืองต่างๆ ที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ
- คนรอบตัวที่ไม่ได้สูบมีความเสี่ยงอาจได้รับควันกัญชาได้ ฉะนั้นควรสูบในที่จัดเป็นสัดส่วนของคนสูบเอง เลี่ยงการสูบในที่มีเด็ก คนท้อง หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
- หากใช้กัญชาแล้วมีความรู้สึกว่าใช้บ่อยและเยอะขึ้น หรือเริ่มมีอาการติดจนมีผลรบกวนการทำงาน-การดำเนินชีวิต ให้ลองปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมการใช้กัญชา
- งดขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงหลังใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา และการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุราจะทำให้ความสามารถในการขับยานพาหนะลดลงมาก ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด
- การเลือกผลิตภัณฑ์กัญชา ควรเลือกที่มีความน่าเชื่อถือ มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ระมัดระวังสารปนเปื้อนและเชื้อโรค
- กรณีเจอคนรอบตัวได้รับบาดเจ็บจากอาหารหรือขนมใส่กัญชา (ไม่ทราบว่ามีการปนเปื้อนกัญชาในอาหาร หรือผู้ผลิตใส่กัญชาลงไปผสมโดยไม่แจ้งผู้บริโภค) ให้เก็บรายละเอียดช่องทางการซื้อขาย ผลิตภัณฑ์ที่เหลือ รวมถึงหีบห่อ และติดต่อสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค หรือนำส่งที่โรงพยาบาลพร้อมกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกระจายของผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อน THC โดยไม่ระบุเหล่านี้
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
อ้างอิง: ข้อระวังการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี