เมื่อฤดูเลือกตั้งสหรัฐฯ มาถึง หลายคนจับตาว่าใครจะได้เป็นแคนดิเดตของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ซึ่งเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ในการลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่กว่าจะถึงวันนั้นยังมีเวลาหลายเดือนที่บรรดาผู้สมัครจะต้องฟันฝ่าบนเส้นทางสมรภูมิเลือกตั้งขั้นต้นซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อชิงชัยสู่การเป็นตัวแทนพรรค
ระบบเลือกตั้งขั้นต้นที่เดโมแครตและรีพับลิกันใช้เฟ้นหาแคนดิเดตพรรคนั้นมีด้วยกันสองระบบหลักๆ คือแบบคอคัส (Caucus) และไพรมารี (Primary) ซึ่งแต่ละรัฐจะเลือกใช้ต่างกัน โดยเราได้เห็นตัวอย่างไปแล้วกับการเลือกตั้งแบบคอคัสที่รัฐไอโอวาและไพรมารีในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งเป็นศึกเลือกตั้งขั้นต้นสองสนามแรกที่ผ่านพ้นไปแล้ว
ระบบทั้งสองแบบต่างกันอย่างไร
คอคัส
อธิบายง่ายๆ ก็คือคอคัสเป็นการประชุมของบรรดาแกนนำพรรคหรือสมาชิกพรรคตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการนัดหมาย ซึ่งจะเป็นโรงเรียน หอประชุม โรงยิม ร้านอาหาร หรือสถานที่สาธารณะใดก็ได้ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับตัวเลือกผู้สมัครและนโยบายต่างๆ ก่อนจะมีการลงคะแนน ซึ่งการโหวตอาจใช้วิธีหย่อนบัตรลงในหีบหรือยกมือโหวตแบบเปิดเผย โดยผู้มีสิทธิ์โหวตจะต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น
ผู้ที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดจะได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegate) ในจำนวนที่ลดหลั่นกันเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค ซึ่งตัวแทนเหล่านี้จะไปโหวตเลือกแคนดิเดตคนสุดท้ายกันอีกที
รัฐใดใช้ระบบเลือกตั้งแบบคอคัส
มลรัฐที่ใช้ระบบคอคัสมีน้อยกว่าแบบไพรมารีมาก ประกอบด้วย รัฐไอโอวา, เนวาดา, นอร์ทดาโคตา และไวโอมิง (เฉพาะเดโมแครต)
นอกจากมลรัฐข้างต้นแล้วยังมีดินแดนของสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบนี้ด้วย เช่น อเมริกันซามัว, หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ และเกาะกวม
โดยผลเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐไอโอวาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดของฝั่งเดโมแครตคือ พีต บุตติเจจ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินเดียนา (26.2%) ตามมาด้วย เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ (26.1%), เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์ (18%), โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีในยุคบารัก โอบามา (15.8%) และเอมี โคลบูชาร์ วุฒิสมาชิกรัฐมินนิโซตา (12.3%)
สำหรับสัดส่วนผู้แทนผู้ลงคะแนนที่แคนดิเดตแต่ละคนได้จากศึกคอคัสในรัฐไอโอวานั้น บุตติเจจได้ไป 14 คน ขณะที่แซนเดอร์สได้ 12 คน ส่วนวอร์เรน, ไบเดน และโคลบูชาร์ ได้ไป 8, 6 และ 1 คน ตามลำดับ
ขณะที่ฝั่งรีพับลิกัน ศึกเลือกตั้งคอคัสที่ไอโอวา โดนัลด์ ทรัมป์ นำโด่งเป็นที่หนึ่ง ได้คะแนนโหวตมากถึง 97.1% ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง บิล เวลด์ (1.3%) ขาดลอย ได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนน 39 คน ขณะที่เวลด์ได้ไปเพียง 1 คน
ไพรมารี
เป็นระบบเลือกตั้งขั้นต้นที่นิยมใช้ในหลายรัฐของประเทศ เป็นการลงคะแนนหรือกาชื่อผู้สมัครในคูหาเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกแคนดิเดตของพรรคโดยตรง ซึ่งบางรัฐกำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบไพรมารีของพรรคนั้นๆ ได้ แต่บางรัฐก็อนุญาตให้ร่วมโหวตได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคมาก่อน
ส่วนสถานที่จัดการเลือกตั้งไพรมารีนั้นสามารถเป็นได้ทั้งโรงเรียน ห้องสมุด หรือสถานที่อื่นๆ ตามแต่จะกำหนด
รัฐใดใช้ระบบเลือกตั้งแบบไพรมารี
ระบบไพรมารีเป็นรูปแบบที่ทั้งเดโมแดรตและรีพับลิกันเลือกใช้ในรัฐส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ระบบนี้ยังแบ่งย่อยเป็นการโหวตแบบเปิด ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนโหวตเลือกแคนดิเดตโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกหรือสังกัดพรรคการเมืองนั้นๆ กับอีกแบบคือแบบปิด ซึ่งเปิดรับเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าคูหากาชื่อผู้สมัครได้
รัฐที่ใช้ระบบไพรมารี ได้แก่ อะแลสกา, แอละแบมา, อาร์คันซอ, แอริโซนา, แคลิฟอร์เนีย, คอนเนตทิคัต, โคโลราโด, เดลาแวร์, ฟลอริดา, จอร์เจีย, อิลลินอยส์, ฮาวาย, ไอดาโฮ, อินเดียนา, แคนซัส, เคนทักกี, ลุยเซียนา, เมน, มิชิแกน, แมริแลนด์, แมสซาชูเซตส์, มินนิโซตา, มิสซิสซิปปี, มิสซูรี, มอนแทนา, เพนซิลเวเนีย, โรดไอแลนด์, เนแบรสกา, นิวแฮมป์เชียร์, นิวยอร์ก, นิวเม็กซิโก, นิวเจอร์ซีย์, นอร์ทแคโรไลนา, โอไฮโอ, โอคลาโฮมา, ออริกอน, เซาท์แคโรไลนา, เซาท์ดาโคตา, เทนเนสซี, เท็กซัส, ยูทาห์, เวอร์มอนต์, เวอร์จิเนีย, วอชิงตัน, เวสต์เวอร์จิเนีย, วิสคอนซิน และวอชิงตัน ดี.ซี.
นอกจากนี้ดินแดนของสหรัฐฯ บางแห่งก็จัดการเลือกตั้งแบบไพรมารีด้วย เช่น หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา และเปอร์โตริโก โดยเดโมแครตยังเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันในต่างประเทศที่เป็นสมาชิกพรรคได้เลือกผู้สมัครด้วย ซึ่งเรียกว่า Democrats Abroad โดยชาวอเมริกันในไทยสามารถโหวตเลือกตามวันและสถานที่ที่กำหนดในกรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่
ยกตัวอย่างการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีในรัฐนิวแฮมป์เชียร์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝั่งเดโมแครตได้ผู้ชนะคือ แซนเดอร์ส (25.8%) ได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนน 9 คน ตามมาด้วยบุตติเจจ (24.5%) ได้ผู้แทน 9 คนเท่ากัน ส่วนอันดับ 3 คือโคลบูชาร์ (19.9%) ได้จำนวนผู้แทนผู้ลงคะแนน 6 คน
ส่วนฝั่งรีพับลิกัน ทรัมป์กวาดคะแนนเสียงในศึกไพรมารีที่นิวแฮมป์เชียร์ไปถึง 85% ได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนนจากรัฐดังกล่าวไปครบทั้ง 22 คน
ในขณะที่เดโมแครตยังคาดเดาได้ยากว่าใครจะได้เข้าวิน แต่ฝั่งรีพับลิกันนั้นนักวิเคราะห์คาดว่าทรัมป์จะลอยลำแบบทิ้งห่างคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น โดยรีพับลิกันได้ยกเลิกการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีหรือคอคัสในรัฐอะแลสกา, แอริโซนา, ฮาวาย, แคนซัส, เนวาดา, เซาท์แคโรไลนา และเวอร์จิเนีย ซึ่งคาดว่าคณะตัวแทนผู้ลงคะแนนทั้งหมดจากรัฐเหล่านี้จะเทคะแนนโหวตให้กับทรัมป์
ตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegates)
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น การเลือกตั้งทั้งแบบไพรมารีและคอคัสเป็นการชิงจำนวนตัวแทนที่จะไปโหวตให้ตนในที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค (Convention) ซึ่งใครมีผู้แทนจากรัฐต่างๆ ได้มากกว่าก็มีโอกาสได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตของพรรคสูง โดยแต่ละรัฐจะจัดสรรตัวแทนผู้ลงคะแนนในจำนวนที่ไม่เท่ากัน และมีกฎเกณฑ์การคำนวณที่แตกต่างกัน
โดยการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตจะจัดขึ้นที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน ระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2020 ส่วนการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรครีพับลิกันจะจัดที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคม 2020
สำหรับพรรคเดโมแครตนั้น หากใครต้องการเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องได้คะแนนโหวตจากตัวแทนผู้ลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่อย่างน้อย 1,991 คน จากทั้งหมด 3,979 คน
ส่วนรีพับลิกัน ผู้สมัครต้องได้คะแนนจากตัวแทนในที่ประชุมใหญ่อย่างน้อย 1,276 คน จากทั้งหมด 2,551 คน จึงจะได้เป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่
ศึกดีเบตประชันวิสัยทัศน์ก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่ 3 พฤศจิกายน 2020
เมื่อได้ตัวแทนจากทั้งสองพรรคแล้ว ไฮไลต์ที่น่าจับตามองคือการดีเบตระหว่างตัวแทนพรรค ซึ่งประชาชนอเมริกันและทั่วโลกจะได้เห็นนโยบายทั้งในและต่างประเทศได้เด่นชัดขึ้น เริ่มจากเวทีแรกที่เมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินเดียนา วันที่ 29 กันยายน จากนั้นจะดีเบตกันครั้งที่ 2 ที่เมืองแอนน์อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน วันที่ 15 ตุลาคม ขณะที่การดีเบตครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี
ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป หรือทรัมป์จะรักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัย น่าติดตามตั้งแต่ตอนนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: