วันนี้ (5 มิถุนายน) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวอุทาหรณ์สาวถูกแมวที่เลี้ยงไว้กัดที่เท้า สุดท้ายเนื้อตาย ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อจากน้ำลายแมว จากข้อมูลดังกล่าวขอเรียนว่า สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม เพราะความน่ารัก เฉลียวฉลาดของมัน บางครั้งสุนัขและแมวอาจกัดหรือข่วนคนที่เล่นกับมัน เพราะสัตว์เลี้ยงถูกทำให้ตกใจ แมวมีเขี้ยวแหลมยาวกว่าเขี้ยวสุนัข จึงอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียลึกเข้าไปในกระดูกและข้อ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของแผลแมวกัดส่วนมากเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบอยู่บนผิวหนังของคนที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว แล้วเข้าสู่บาดแผลแมวกัด ผู้ที่ถูกสัตว์กัดที่ไปพบแพทย์หลัง 8 ชั่งโมง มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนมากบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยว บริเวณรอบๆ จะมีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงที่เรียกว่า ‘แบคทีเรียกินเนื้อคน’ แบคทีเรียจะปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนเกิดอาการปวดแผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผล เนื้อตายสีดำเป็นแหล่งที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล แพทย์จะให้พักรักษาในโรงพยาบาลและจะรีบผ่าตัดเอาเนื้อตายสีดำออกจากแผล พร้อมทั้งฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า แนวทางการดูแลรักษาแผลแมวกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำยาฟอกฆ่าเชื้อ ถ้ามีหนองให้เจาะระบายหนอง ถ้าเป็นแผลฉีกขาดเพราะแมวขย้ำ เป็นแผลเปิดไม่ควรเย็บแผล ปล่อยแผลเปิดและล้างแผล ป้องกันการติดเชื้อลุกลามในเนื้อเยื่อชั้นลึกใต้ผิวหนัง อย่าลืมฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย หากสัตว์เลี้ยงไม่เคยฉีดวัคซีน คนที่ถูกกัดต้องรีบฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ยาปฏิชีวนะที่ควรใช้ฆ่าเชื้อครอบคลุมแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อคือ Amoxicillin / Clavulanic acid ที่แพทย์จะสั่งจ่าย รับประทาน 7-10 วัน