วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามกรอบเวลา 50 วัน โดยระบุว่าน่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเราพยายามทำให้เร็ว โดยการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะอยู่ในกรอบ 50 วันที่กำหนดไว้
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า หลังจากที่รอบแรกพิจารณาในหลักการไปแล้วและได้ปรับในวาระที่ 2 ในรายละเอียด ซึ่งตอนนี้ได้เข้าคณะกรรมการและเห็นหน้าตาเป็นกรอบค่อนข้างชัดเจน พร้อมยอมรับว่ามีการปรับเปลี่ยนจากร่างเดิมมากพอสมควร แต่สาระสำคัญยังคล้ายๆ เดิม
สำหรับการระบุให้ชัดเจนว่าคาสิโนต้องมีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ ปกรณ์มองว่า เบื้องต้นควรมีการกำหนดไว้ แต่ตัวเลขยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องไม่เกิน 10% แต่ถ้าจะน้อยกว่า 10% ก็แล้วแต่คณะกรรมการนโยบายจะพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งคิดว่าคงจะต้องพิจารณาในแง่ของการลงทุนด้วย เพราะมีการระบุไว้แล้วว่าการลงทุนต้อง 1 แสนล้านบาท และค่าใบอนุญาตอีก 5 พันล้านบาท ซึ่งก็ต้องแล้วแต่คณะกรรมการ ต้องดูแผนที่นักลงทุนเสนอเข้ามา
“เรื่องนี้เราทำตามนโยบายของรัฐบาล ผมเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้น เท่ากับฝ่ายข้าราชการประจำทำตัวเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง ซึ่งจะผิดหลัก ส่วนที่พยายามเรียกร้องกันนั้น ผมเข้าใจดีถึงความสนใจในเรื่องนี้ของทุกภาคส่วน รวมถึงความห่วงใย แต่ก็ต้องเข้าใจเรื่องระบบในการทำงานด้วยว่า ฝ่ายข้าราชการประจำจะไปทำตัวเป็นฝ่ายบริหารเสียเองมันไม่ถูกเรื่อง ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องนโยบายก็อยู่ที่ทางรัฐบาลจะพิจารณา ไม่ใช่มากดดันที่กฤษฎีกา ว่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ ผมไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรขนาดนั้น” ปกรณ์กล่าว
ส่วนข้อกังวลของนักวิชาการ เนื่องจากร่างกฎหมายระบุไว้ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสามารถหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้ก่อน เหลือเท่าใดจึงค่อยนำส่งเป็นเงินแผ่นดิน ปกรณ์กล่าวว่า ด้วยหลักของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ภาษีต้องเข้ารัฐ