สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนแบรนด์ดังเจ้าตลาด เดาว่าคงจะพอรู้จัก ‘CASETiFY’ สตาร์ทอัพแบรนด์ดังที่สร้างสรรค์เคสโทรศัพท์หน้าตาสวยงาม ไปจนถึงแอ็กเซสซอรีต่างๆ มากมายออกมาล่อตาล่อใจกันทุกสัปดาห์กันเป็นอย่างดี แล้วอยากรู้ไหมว่าแบรนด์นี้เขามีเคล็ดในความสำเร็จอย่างไร จึงทำยอดขายแตะหลัก 300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท!
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปยังผู้ให้กำเนิด CASETiFY อย่าง Wesley Ng ซึ่งถอดบทเรียนวิชาธุรกิจจากกิจการร้านอาหารของที่บ้านในประเทศฮ่องกงมาได้อย่างน้อยหนึ่งข้อ “เพราะร้านแบบนี้ไม่ได้มีทุนมาหนุนหลัง สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้มีชีวิตรอดต่อไปได้มีอย่างเดียวก็คือกำไร”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ป๊อปอัพสโตร์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ยอดขายพุ่ง ‘CASETiFY’ ตั้งเป้าลุยตลาดไทยเต็มตัว เตรียมเปิด ‘CASETiFY Studio’ ถาวรภายในปี 2023
- อะไรทำให้ ‘CASETiFY’ เคสมือถือจากฮ่องกงประสบความสำเร็จทั่วโลก ยึดเกาะสมาร์ทโฟนเหนียวแน่น
- CASETiFY ปักหมุด เปิดป๊อปอัพสโตร์แห่งแรกในไทย ณ เซ็นทรัลเวิลด์ แล้ววันนี้
อ่านถึงตรงนี้หลายคนน่าจะตบเข่าฉาด! ไม่บอกก็รู้อยู่แล้วไหมว่าจะทำธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ต้องมีกำไร แต่เรื่องนี้ซีอีโอ CASETiFY ในวัย 41 ปีบอกว่า เขานำปรัชญาการทำธุรกิจในแบบเดียวกันมาใช้ในการบริหารกิจการของตัวเขาเอง ซึ่งเป็นบริษัทเทคที่ผลิตเครื่องประดับโทรศัพท์ซึ่งไปได้ไกลกว่าแค่การทำเคสโทรศัพท์มาก โดยยอดขายในปีที่ผ่านมาสามารถขายเคสโทรศัพท์ได้แล้วมากกว่า 15 ล้านชิ้นทั่วโลก
“สุดท้ายมันวนกลับมาที่สิ่งเดียวก็คือการทำกำไร เรื่องความสามารถในการทำกำไรมันเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามอย่างมากจนถึงตอนนี้” Wesley กล่าว “สำหรับบางบริษัทพวกเขาต้องเผาเงินเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต แม้จะไม่ถึงกับทุกบริษัทก็ตาม ซึ่งถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องนัก
“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในการทำธุรกิจจากพ่อกับแม่ก็คือจงทำธุรกิจที่ทำเงินได้และหากำไรได้ นั่นแหละคือทางที่เราจะไป”
อย่างไรก็ดี ซีอีโอแห่ง CASETiFY มาทั้งที ไม่ได้มาแค่เคล็ดวิชาบทเดียวแน่นอน ยังมีเคล็ดวิชาอื่นมาฝากด้วย
1. พึ่งพาตนเองดีกว่าพึ่งลมหายใจคนอื่น
ย้อนกลับไปในวันแรกก่อตั้ง CASETiFY ในปี 2011 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว จุดแข็งของพวกเขาอยู่ที่การเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถ ‘ปรับแต่ง’ (Customize) เคสโทรศัพท์มือถือของตัวเองด้วยการใช้ภาพจาก Instagram
จากจุดนั้น CASETiFY กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ต้องการใช้เคสโทรศัพท์ที่ดูเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การขยายไลน์การผลิตไปมากกว่าแค่เคสโทรศัพท์ แต่ยังมีเคส AirPod, เคส MacBook, Wallet สำหรับติดกับ MagSafe และไม่ได้มีแค่สินค้าสำหรับแบรนด์อย่าง Apple แต่มีสินค้าสำหรับ Samsung ด้วย
แต่ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ CASETiFY ประสบความสำเร็จอย่างสูง Wesley และผู้ร่วมก่อตั้งเริ่มต้นทุกอย่างด้วยแนวทางในการพึ่งพาตัวเองด้วยเงินลงทุนแรกแค่ 2 แสนดอลลาร์ หรือราว 6.9 ล้านบาท และยังคงแนวทางนี้ต่อมา ซึ่งแตกต่างจากสตาร์ทอัพรายอื่นที่ใช้เงินทุนจากนักลงทุนผ่านการระดมทุนเข้ามา
ตรงนี้เองกลายเป็นจุดแข็งสำหรับพวกเขาเมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย CASETiFY ที่ไม่เคยพึ่งพาลมหายใจจากคนอื่นจึงอยู่รอดได้อย่างสบาย ซึ่งสำหรับสตาร์ทอัพจะเรียกแนวทางนี้ว่า Bootstrapping หรือการไม่พึ่งพาเงินทุนจากคนอื่นนอกจากทุนตัวเอง
การเติบโตของ CASETiFY จึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระมัดระวัง แต่ตอนนี้มีเป้าหมายที่จะเปิดร้านค้าให้ได้ 100 สาขาทั่วโลกภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยที่เวลานี้มีร้านค้าแล้ว 21 แห่งทั่วโลก ซึ่งลูกค้าสามารถออกแบบเคสของตัวเองและเดินกลับมารับได้ภายในเวลา 30 นาที
2. ผู้ไม่รู้ย่อมฉลาด
ถึงจะศึกษาศาสตร์การทำธุรกิจจากร้านอาหารของที่บ้านที่เปรียบเหมือนกับการลับมีดทุกวันโดยไม่รู้ตัว แต่สำหรับ Wesley ที่เรียนด้านการออกแบบมา การต้องมาทำธุรกิจของตัวเองมันเป็นอีกโลกอย่างสิ้นเชิง
นั่นทำให้เขาต้องการที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ และต้องการเรียนรู้ในระยะเวลาอันสั้นที่สุดด้วย “เราจะสั่งสมความรู้ทั้งหมดนี้ในระยะเวลาอันสั้นได้อย่างไร และจะนำมาใช้ในธุรกิจได้อย่างไร? หนึ่งในทักษะที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีคือทักษะในการเรียนรู้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และต้องรู้อย่างถูกต้องในเรื่องนั้นด้วย”
สิ่งที่เขาทำคือการพยายามทำตัวให้เล็ก เป็นผู้ไม่รู้ที่คอยสอบถามขอวิชาความรู้จากผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ทั่วโลกโดยไม่อายที่จะบอกเล่าความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น จนเรียกว่าแทบไม่มีอะไรเหลือให้ปิดบัง ซึ่งบางครั้งมันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่อยากแชร์ความผิดพลาดที่น่าอายเหล่านี้
สิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันระหว่างการแชร์ความผิดพลาดของตัวเองให้คนอื่นฟัง คือความรู้และประสบการณ์ของผู้ประกอบการรายอื่นที่ก็เคยผิดและพลาดมาเหมือนกัน ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เป็นทั้งการรับและการให้ในเวลาเดียวกัน
3. เจ้าของกิจการไม่ใช่เรื่องของทุกคน
ถึงคำว่า ‘เจ้าของกิจการ’ หรือผู้ประกอบการจะฟังดูดุดันไม่เกรงใจใคร แต่ซีอีโอแห่ง CASETiFY กลับรู้สึกว่าก่อนที่จะคิดเป็นเจ้าของกิจการ ต้องคิดก่อนว่าตัวเราเองเหมาะที่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือไม่
ถ้ารู้สึกสนใจอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเองขึ้นมา Wesley แนะนำให้ลองค้นหาคำตอบให้ชัดขึ้นด้วยการไปลองทำงานในสตาร์ทอัพขนาดเล็ก หรือหาโอกาสในการได้ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าของกิจการดูว่าชีวิตจริงกับภาพที่วาดฝันไว้มันแตกต่างกันแค่ไหน
“เรียนรู้กับมันดู ใช้เวลาให้มากที่สุดเท่าที่อยากใช้ การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องรีบ”
สำหรับตัวเขาเอง สิ่งที่เป็นแรงผลักดันของเขาในการทำงานทุกวันคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เขาจะหลงรักจากหัวใจ ซึ่ง CASETiFY ก็คือสิ่งที่เขารัก และการได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของคนที่ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน คือพลังที่ทำให้เขาและ CASETiFY ก้าวเดินต่อไป
อ้างอิง: