เคสมือถือดีไซน์แปลกๆ หวือหวาสะดุดตาด้วยกลิตเตอร์หลากสี ดูดีมีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยการประทับชื่อเจ้าของเคส และดีกรีความเท่ก็ดูจะยกระดับมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีแบรนด์ชื่อดังในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ตั้งแต่ตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงแสนร่าเริงในคราบแมว ผู้ให้บริการโลจิสติสก์ แบรนด์สติกเกอร์เล็บเจล น้ำอัดลม ไปจนถึงหน่วยงานด้านอวกาศและซอสมะเขือเทศ! มาปรากฏอยู่บนพื้นที่ด้านหลังเคสชิ้นนั้นๆ
หลังก่อตั้งแบรนด์ขึ้นเมื่อปี 2011 โดย Wesley Ng ซีอีโอชาวฮ่องกง ปัจจุบัน ‘CASETiFY’ (เคสติฟาย) ได้ก้าวเข้ามายึดพื้นที่ด้านหลังสมาร์ทโฟนของผู้คนทั่วโลก เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวันที่ ‘สมาร์ทโฟน’ ถูกนับรวมเป็นอุปกรณ์หลักในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้คนจำนวนมากใช้งานเคสมือถือของพวกเขา ด้วยเอกลักษณ์การตีเส้นสีดำพะยี่ห้อ CASETiFY บริเวณกรอบกล้องถ่ายรูป
THE STANDARD ชวนคุณมาทำความรู้จัก CASETiFY ไปด้วยกันว่า อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้แบรนด์เคสมือถือและอุปกรณ์เสริมในกลุ่มเทคโนโลยีสัญชาติฮ่องกงรายนี้โด่งดังไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ และครองใจผู้ใช้งานนับล้านได้อย่างอยู่หมัด
ต้นแบบของสินค้า ‘Personalized’ คลำทางให้เจอว่า ‘อะไรคือส่ิงที่คนต้องการ’
Wesley มักจะบอกอยู่เสมอว่า จุดเริ่มต้นการสร้างแบรนด์ CASETiFY มาจากความคลั่งไคล้ที่มีในการใช้งานแพลตฟอร์ม Instagram ซึ่งเขามักจะได้รับยอดเอ็นเกจเมนต์ดีๆ เสมอในทุกๆ ครั้งที่โพสต์รูปเจ๋งๆ ขึ้นไป (@wildwildwes) นั่นจึงทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสมมติว่าเขานำภาพเจ๋งๆ ของตัวเองบน Instagram มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้จริงๆ
เขาจึงนำความถนัดในวิชาชีพที่ตัวเองมี (Wesley เคยทำงานเป็นนักออกแบบด้าน Interactive) มาเป็นใบเบิกทางสร้างแบรนด์ CASETiFY โดยเขายังเคยให้สัมภาษณ์อีกด้วยว่า หลังจากที่เริ่มไอเดียดังกล่าวแล้ว เขาก็ตัดสินใจยื่นซองขาวลาออกจากงานเดิมมาปลุกปั้นแบรนด์เคสมือถือของตัวเองทันที
หลักคิดง่ายๆ แต่ลอกเลียนแบบได้ยากของ CASETiFY คือ การผสมผสานโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีให้เข้ากัน (ซึ่งเราจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป) ผูกงาน ‘ดีไซน์สุดสร้างสรรค์’ ให้ติดหนึบเข้ากับ ‘ความสามารถในการป้องกัน’ ตัวเครื่องสมาร์ทโฟนให้ได้ ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ CASETiFY และ Wesley ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การทำให้เคสมือถือของผู้ใช้งานหรือเจ้าของแต่ละคนถ่ายทอดความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ (self-expression) ของเจ้าของที่ถือมันอยู่ในมือออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะ Wesley รู้ดีว่า การที่ลูกค้าของเขาจะเลือกซื้อเคสมือถือสักชิ้น เคสนั้นๆ ย่อมจะต้องมีความแตกต่าง ฉีกกฎความจำเจของดีไซน์เคสมือถือที่หนาเทอะทะแบบที่มีอยู่ในท้องตลาด
สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนออกมาได้จากการที่เคสของ CASETiFY เปิดกว้างให้ลูกค้าสามารถเลือกปรับแต่งเคสของตัวเองได้อย่างอิสระ ตั้งแต่วัสดุที่ใช้กับตัวเคส, สี, ชื่อที่ต้องการประทับลงไป (เลือกได้ตั้งแต่ลักษณะของฟอนต์ไปจนถึงการจัดวางเลย์เอาต์ตัวอักษร) นั่นจึงทำให้คนที่ซื้อเคสของ CASETiFY แต่ละคนกลายเป็นเจ้าของเคสที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก!
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดที่ทำให้เคสของ CASETiFY ยังไม่แพร่หลายมากมายเท่าที่มันควรจะเป็นคือ การที่พวกเขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมารองรับแบรนด์สมาร์ทโฟนเพียงแค่สองแบรนด์เท่านั้นคือ Apple และ Samsung
พาร์ตเนอร์กับแบรนด์ดังที่ ‘มีเรื่องราว’ ไม่ยึดติดว่าต้องเป็น ‘แบรนด์แฟชั่น’ เสมอไป
อีกหนึ่งเอกลักษณ์เด่นของ CASETiFY ที่ทำต่อเนื่องมายาวนานจนกลายเป็นที่จดจำของทุกคน และยังกวาดคะแนนความนิยมจากผู้ใช้งานได้อย่างล้นหลามคือ กลยุทธ์การ Collab ทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่ง CASETiFY ไม่เคยยึดติดว่าแบรนด์ที่เขาจะร่วมงานด้วยต้องเป็นแค่แบรนด์แฟชั่นเท่านั้น
เรื่องนี้ Wesley เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Wonderland Magazine ว่า ถึงเขาจะพบว่า CASETiFY ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วในชั่วข้ามคืนจากการที่ผู้คนหลงรักไอเดียการสร้างสรรค์อุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีโอกาสจะได้ใช้ในทุกๆ วันและสื่อถึงความเป็นตัวเอง แต่เขาก็พบว่า CASETiFY ยังมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้อีกมาก ด้วยเหตุนี้ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เขาจึงชวนศิลปินและนักสร้างสรรค์ระดับโลกมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเคสมือถือคอลเล็กชันพิเศษ
“เราได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ พัฒนาโปรแกรมของเราเองที่มีชื่อเรียกว่า ‘CASETiFY Co-Lab’ ซึ่งจะเปิดตัวเคสมือถือคอลเล็กชันพิเศษใหม่ๆ ออกมาในทุกๆ เดือน”
ส่วน ‘แว่นขยาย’ หรือเกณฑ์ที่ Wesley จะใช้ในการคัดกรองแบรนด์ที่ CASETiFY จะร่วมงานด้วยนั้น ซีอีโอจากฮ่องกงบอกว่า เขาจะพิจารณาโดยอิงจากเรื่องราว ความเป็นมาที่น่าสนใจของพาร์ตเนอร์เจ้านั้นๆ เป็นหลัก
“พาร์ตเนอร์ทุกๆ เจ้าที่เข้าร่วม CASETiFY Co-Lab ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวความน่าสนใจของพวกเขาเอง อย่าง Parasite (ภาพยนตร์เกาหลี) เราก็พบว่ามันมีความเข้ากันกับแบรนด์ของเราได้แบบพอดิบพอดี ทั้งฐานแฟนคลับขนาดใหญ่ของเราที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้ ประกอบกับตัวหนังเองก็สามารถทำลายสถิติต่างๆ เป็นที่นิยม ทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์ในเวทีโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับชุมชนผู้ใช้งาน CASETiFY และแฟนหนัง Parasite ได้ด้วยวิธีที่ต่างออกไป
“ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานกับแบรนด์ใดๆ ก็ตามในรูปแบบพาร์ตเนอร์ชิป ทั้งแบรนด์ BAPE, DHL, Vetements หรือความร่วมมือที่เพิ่งเกิดขึ้นไปสดๆ ร้อนๆ กับ Heinz เราจะออกแบบคอลเล็กชันเคสมือถือและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ของเราให้เต็มไปด้วยความสนุก และสร้างสิ่งที่เหนือความคาดหมายอยู่ตลอดเวลา”
แพลตฟอร์มออนไลน์คือ ‘เส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจ’ ยิ่งไปกว่านั้นต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ถูกจุดด้วย
เพราะรู้ดีว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์เคสมือถือและอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีมักจะเป็นกลุ่ม ‘ผู้ใช้งานคนรุ่นใหม่’ ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลัก มีไลฟ์สไตล์ที่คุ้นเคยกับโลกเทคโนโลยี การช้อปสินค้าออนไลน์ ใช้แอปพลิเคชันต่างๆ หรือนิยมฝังตัวเองอยู่บนโลกโซเชียลมีเดียเป็นอย่างดี
ดังนั้นสิ่งที่ Wesley ทำคือ การพา CASETiFY ไปอยู่ทุกหนแห่งบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและโลกออนไลน์เท่าที่เขาจะทำได้ เริ่มต้นจากการเน้นการขายแบบออนไลน์บนเว็บไซต์เป็นหลัก เพื่อจำหน่ายในสเกลระดับโลก (ส่งสินค้าทั่วโลก) โดยมีบริษัทตั้งอยู่ในฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ขณะที่หน้าร้านออฟไลน์ ณ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมดทั้งสิ้น 3 สาขาในฮ่องกง ประกอบด้วย ป๊อปอัปสโตร์ในย่าน Central, CASETiFY Studio ใน Quarry Bay และท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง
และถ้าสังเกตให้ดี หากคุณเคยเข้าไปสอดส่องสินค้าของ CASETiFY ทั้งบนเว็บไซต์หรือผ่านแพลตฟอร์ม Instagram แล้วยังตัดสินใจซื้อไม่ได้สักที Wesley ก็จะดำเนินแผนการตามกลยุทธ์ที่เหี้ยมโหด ด้วยการยิงโฆษณาเคสมือถือชิ้นนั้นๆ ในทุกๆ แพลตฟอร์มที่คุณเข้าไปสำรวจแบบต่อเนื่อง เรียกว่าจงใจหว่านล้อมให้คุณติดกับ ต้องกลับไปซื้อสินค้าของพวกเขาให้ได้ แถมรูปภาพที่ถ่ายโปรโมตก็ยังอลังการเกินกว่าจะเป็นภาพโฆษณาของเคสมือถืออีกต่างหาก
เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับลูกค้าเก่าที่เคยซื้อสินค้าของ CASETiFY มาก่อน ก็จะถูกโน้มน้าวใจให้อุดหนุนสินค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่องไปยาวๆ ในทุกๆ คอลเล็กชัน ด้วยการที่ CASETiFY จะมอบคูปองส่วนลดการซื้อสินค้าให้ผ่านอีเมล แถมในบางครั้งก็ยังให้ส่วนลดที่ยิ่งชวนเพื่อนมาซื้อด้วยกันมากเท่าไร ส่วนลดก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
Wesley ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในประเด็นนี้กับ Wonderland Magazine ว่า ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มดำเนินธุรกิจจนกระทั่งปัจจุบัน Instagram เปรียบเสมือน ‘แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่’ ของ CASETiFY มาโดยตลอด ด้วยเหตุผลนี้เอง เขาจึงให้ความสำคัญกับช่องทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก
“ผมมองช่องทางโซเชียลของ CASETiFY เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจของเรา มันคือเส้นทางในการเชื่อมต่อสื่อสารโดยตรงกับชุมชนผู้ใช้งานของเรา แหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ ทั้งยังเป็นเครื่องมือทำการตลาดที่ดีที่สุดโดยไร้ซึ่งข้อสงสัย
“แน่นอนว่าตัวเลขผู้ติดตามของเราในช่องทางต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ (ผู้ติดตามบน Instagram อยู่ที่ 1.9 ล้านราย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเราเป็นแบรนด์อุปกรณ์เสริมในกลุ่มเทคโนโลยี แต่กุญแจสำคัญที่สุดกลับเป็นการดึงดูดแฟนๆ และผู้คนที่ชื่นชอบแบรนด์ CASETiFY ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดให้ได้ต่างหาก”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำให้ CASETiFY ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์เคสมือถือและอุปกรณ์เสริมในกลุ่มเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระยะเวลาไม่นาน
โดย Wesley ยังเผยเคล็ดลับในการปั้นแบรนด์ของเขาทิ้งท้ายว่า จะต้องโฟกัสไปที่การกำหนด ‘เป้าหมายและภารกิจหลัก’ ของแบรนด์ให้ได้ โดยที่ค่านิยมของแบรนด์จะต้องเป็นรากฐานของทุกสิ่งที่แบรนด์จะตัดสินใจลงมือทำ เพราะถ้าค้นพบทั้งหมดที่กล่าวมาเมื่อไร ทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทางและลงตัวในที่สุด
สำหรับในอนาคตข้างหน้า CASETiFY ยังมีแพลนที่จะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์แบรนด์ต่างๆ ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเปิดตัวไลน์อัปผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ใช้งานเปิดรับพวกเขาแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้คนให้ได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: