ทางการญี่ปุ่นเผยข้อมูลว่า ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา ตำรวจญี่ปุ่นรับแจ้งความกรณีทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 18 ปี) มากถึง 80,104 คดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มจากปี 2017 ถึง 22.4% และมากกว่าปี 2008 ถึง 13 เท่า
ถือเป็นครั้งแรกที่คดีทำร้ายผู้เยาว์ในญี่ปุ่นพุ่งสูงเกิน 80,000 คดีนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 2004 โดยรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (NPA) ระบุว่าในปี 2018 มีเด็ก 57,326 คนที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายจิตใจ คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของคดีทั้งหมด ส่วนเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายมีจำนวน 14,821 คน นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกจำนวน 7,699 คนที่ถูกทิ้งหรือละเลย ขณะที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศมีจำนวน 258 คน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (NPA) ระบุว่า กรณีทำร้ายเด็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยที่คนรับรู้กันน้อย ดังนั้นจึงต้องการแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์ที่ปรึกษาเยาวชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยจัดหาสถานที่พักพิงให้กับเด็ก หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปยังบ้านของเด็กๆ ที่อาจตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ
กรณีทำร้ายเด็กกลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมญี่ปุ่นทวงถามถึงวิธีจัดการกับคดีอย่างเหมาะสม หลังเกิดคดีที่ มิอะ คุริฮาระ เด็กหญิงวัย 10 ขวบ เสียชีวิตภายในบ้านพักที่จังหวัดชิบะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยพ่อของเธอตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าทำร้ายเธอจนเสียชีวิต ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ศูนย์สวัสดิการเด็ก หน่วยงานท้องถิ่น และโรงเรียนของเธอไม่สามารถช่วยเหลือมิอะอย่างทันท่วงที หลังเธอร้องขอความช่วยเหลือ
โศกนาฏกรรมดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาหามาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้แจ้งกับสภาไดเอทแห่งชาติว่าเขาจะจัดประชุมคณะรัฐมนตรีในวันศุกร์ (8 ก.พ.) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาผลักดันกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อข้อมูลของเหยื่อ
“เด็กหญิงคนนั้นแจ้ง SOS กับเจ้าหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ แต่เราล้มเหลวที่จะตอบสนองอย่างทันท่วงที เราในฐานะรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง” อาเบะ กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: