ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2566 อันหยูชิง หรือ ชาร์ลีน อัน ดาราสาวชาวไต้หวัน ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียในลักษณะเตือนภัยนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยให้ระวังตำรวจรีดไถเงิน โดยตัวเธอเองได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอและเพื่อนว่าถูกตำรวจตั้งด่านรีดไถเงินไป 27,000 บาท
จากประเด็นนี้นำมาสู่การขยายผลของสื่อมวลชนว่าเรื่องราวที่แท้จริงเกิดอะไรขึ้น พร้อมกับการตีแผ่กระบวนการตั้งด่านที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจไทย และการเปิดตัวพยานคนสำคัญที่อยู่ในเหตุการณ์จาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
ผ่านไป 7 เดือน 8 วันของการดำเนินคดีในชั้นศาล กระทั่งเมื่อวานนี้ (8 พฤศจิกายน) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำคุก 4 นายตำรวจที่เกี่ยวข้องจากกรณีที่เกิดขึ้น คนละ 5 ปี
เกิดอะไรขึ้นกับดาราสาวไต้หวันและกลุ่มเพื่อน
วันที่ 5 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 03.00 น. ที่บริเวณหน้าสถานทูตจีน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ รถแท็กซี่ของกลุ่มดาราสาวที่มุ่งหน้ากลับโรงแรมที่พักได้ผ่านด่านตรวจรักษาความปลอดภัยของตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ห้วยขวาง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจค้นบุคคลในรถโดยสารทั้งหมด
โดยมีการเรียกตรวจทีละบุคคลโดยละเอียด เมื่อทราบว่าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงได้เรียกดูหนังสือเดินทาง แต่กลุ่มของดาราสาวไม่ได้นำติดตัวมาด้วย โดยตอบเจ้าหน้าที่ไปว่าเอกสารทั้งหมดอยู่ที่โรงแรม หากต้องการตรวจสอบขอเวลากลับไปนำมาให้ภายหลัง
ขณะนั้นตำรวจประจำด่านเริ่มพูดคุยว่าเอกสารที่สำคัญต้องพกติดตัว และเริ่มเปลี่ยนประเด็นไปที่เรื่องการพกพาบุหรี่ไฟฟ้าของนักท่องเที่ยว พร้อมอธิบายว่าการพกพาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นความผิดเพราะเป็นสินค้าต้องห้าม ผู้พกพาจะต้องจ่ายค่าปรับ
ทั้งสองฝ่ายพูดคุยต่อรองกันสักระยะหนึ่งจนกลุ่มของดาราสาวรู้สึกว่าอยากรีบจบปัญหาและกลับที่พัก เจ้าหน้าที่จึงเสนอจำนวนค่าปรับ 8,000 บาทต่อบุหรี่ไฟฟ้า 1 อัน รวม 3 อัน เป็นเงิน 24,000 บาท เมื่อคิดรวมกับค่าปรับที่ไม่ได้พกพาหนังสือเดินทางอีก 3,000 บาท รวมต้องจ่าย 27,000 บาท
(โดยภายหลังมีการเปิดเผยว่าบุหรี่ไฟฟ้า 1 อัน มาจากเจ้าหน้าที่ให้ดาราสาวถือและถ่ายภาพ ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้าของเธอแต่แรก)
หลังการชี้แจงเรื่องราคาค่าปรับ ตำรวจพยายามเจรจาว่าหากไม่ยอมจ่ายค่าปรับกลุ่มของดาราสาวจะต้องถูกดำเนินคดีและคุมตัวที่สถานีตำรวจ ทำให้ทั้งหมดตัดสินใจจ่ายเงินตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอ
และเมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าวเดินทางกลับประเทศ จึงได้มีการเปิดเผยเรื่องนี้ในสื่อโซเชียล
ชูวิทย์ กับการเปิดโปงขบวนการตั้งด่านและพยานคนสำคัญในเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้จัดแถลงข่าวกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ทำเป็นขบวนการ จัดสรรแบ่งส่วนให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน การตั้งด่านนี้ทำลายภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว แทนที่นักท่องเที่ยวจะกลัวโจรผู้ร้าย กลับต้องมากลัวตำรวจที่ควรจะดูแลความปลอดภัยของพวกเขา
พร้อมเปิดภาพหลักฐานที่ตำรวจนำบุหรี่ไฟฟ้าใส่มือของอันหยูชิงที่ด่านตรวจ พร้อมอธิบายว่าเป็นการใส่หลักฐานเข้าไปในมือของผู้เสียหาย
นอกจากนี้ ชูวิทย์ได้เชิญ สกาย นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ เพื่อนของอันหยูชิงที่อยู่ในเหตุการณ์คืนวันที่ 5 มกราคม มาร่วมแถลงข่าว โดยสกายเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น สรุปใจความได้ว่า
วันที่เกิดเรื่องสกายกับกลุ่มเพื่อนรวมทั้งอันหยูชิงไปเที่ยวงานวันเกิดเพื่อนอีกกลุ่ม ระหว่างเดินทางกลับโรงแรมที่พักเจอด่าน จากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำด่านให้รถจอดเข้าข้างทางและให้ทุกคนลงจากรถ พร้อมตรวจค้น จับตามตัวและกระเป๋า ให้นำหนังสือเดินทางออกมาแสดง รวมทั้งให้ถอดรองเท้า สั่งห้ามโทรศัพท์ ห้ามติดต่อใคร ห้ามถ่ายรูป
สกายยอมรับว่าในกลุ่มไม่มีใครพกหนังสือเดินทาง พร้อมถามเจ้าหน้าที่ว่าการเข้ามาเที่ยวของนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นฟรีวีซ่า ยกเว้นกรณีที่มาอาศัยเกินกว่า 10 วันขึ้นไป
แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังและพยายามแย้งว่าต้องแสดงหนังสือเดินทางทันที ห้ามไปไหน พร้อมกับแจ้งว่าการที่พวกเขาพกพาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นความผิด
“มีคนเข้ามาพูดคุยเรื่องเงิน 3 คน โดยคนแรกเป็นชายไม่สวมเครื่องแบบ สวมเสื้อแจ็กเก็ต มีหนวดเครา คนนี้ทำหน้าที่ในการเรียกและรับเงินจากผม และเก็บเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ส่วนคนที่ 2 รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน ทำหน้าที่บังกล้อง และคนที่ 3 เป็นคนรูปร่างผอม ใส่ผ้าคลุมหน้า โดยจะเข้ามาร่วมรับฟังการพูดคุยด้วย” สกายอธิบายโดยละเอียด
สกายกล่าวว่า ทั้งกลุ่มเครียดมากเพราะไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ และทั้งหมดอยากออกจากจุดนั้นเร็วๆ รวมถึงอยากออกจากประเทศไทย ไม่อยากอยู่ต่อ เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดเรื่องอะไรขึ้นอีก
โดยหลังเสร็จสิ้นการแถลงของชูวิทย์และสกาย ตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เรียกตัวสกายเข้าไปให้ปากคำเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสั่งพักราชการตำรวจประจำด่านในวันเกิดเหตุทั้งหมด
บทสรุปของคดี ศาลตัดสินลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง
วานนี้ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ยื่นฟ้องร้อยตำรวจเอก ย. กับพวก รวม 6 คน ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ถูกดำเนินคดียัดบุหรี่ไฟฟ้าเรียกเงินอันหยูชิง ดาราสาวชาวไต้หวัน
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 149, 157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 5, 13 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173
ในคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 จำเลยทั้ง 6 ซึ่งเป็นตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีน โดยจำเลยที่ 5 สังเกตเห็นรถยนต์มีลักษณะต้องสงสัยจึงส่งสัญญาณให้จอดเพื่อให้จำเลยที่ 4, 6 ทำการตรวจค้น
โดยมีจำเลยที่ 1-3 อยู่ร่วมกันในบริเวณดังกล่าว พบว่ากลุ่มคนโดยสารมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3 อัน ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามฯ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถแสดงหนังสือเดินทางหรือหลักฐานอื่นใดว่าได้เดินทางเข้ามาในประเทศโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จากนั้นจำเลยที่ 1-6 ได้ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงินสดจำนวน 27,000 บาท จาก ป. ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนต่างชาติข้างต้นเพื่อให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ป. จึงจำยอมส่งมอบเงินจำนวน 27,000 บาท ให้กับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1, 2 จึงสั่งให้ปล่อยตัว ป. กับพวกออกจากจุดตรวจไปโดยไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับ ป. และพวกแต่อย่างใด
ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี
ยกฟ้องจำเลยที่ 5-6 ริบเงิน 27,000 บาท ที่จำเลยที่ 1-4 ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการคดีนี้ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
หากจำเลยที่ 1-4 ไม่สามารถส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวได้เพราะเหตุว่าโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชำระเงิน 27,000 บาท
สำหรับคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาจำนวน 8 นัด รวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้อง 31 มีนาคม 2566 ถึงวันอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 7 เดือน 8 วัน