วานนี้ (3 กันยายน) ที่ศาลแขวงภูเก็ต ศาลนัดพิพากษาคดีพนักงานอัยการคดีศาลแขวง และ พญ.ธารดาว จันทร์ดำ หรือ หมอปาย เป็นโจทก์และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง เดวิด ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างภูเก็ต ในคดีทำร้ายร่างกาย กรณีเตะเข้าที่หลังหมอปายและตะโกนด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายขณะนั่งที่บันไดหน้าวิลล่า ติดชายหาดยามู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยสำนวนแรกพนักงานอัยการคดีศาลแขวงเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยใช้กำลังทำร้ายร่างกาย พญ.ธารดาว ผู้เสียหาย โดยการเตะบริเวณหลังหนึ่งครั้ง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฟกช้ำบริเวณหลังส่วนบน โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391
สำนวนที่สอง พญ.ธารดาว เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ พญ.ธารดาว มีอาการทางจิตประสาท โศกเศร้าเสียใจ ซึ่งเป็นอาการทางจิตเวชโดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD (โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295
ศาลให้เรียกพนักงานอัยการคดีศาลแขวงว่าโจทก์ที่ 1 และเรียก พญ.ธารดาว ว่าโจทก์ที่ 2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่าเมื่อพิจารณาคำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับคลิปวิดีโอตามวัตถุพยาน ปรากฏว่ามีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ เนื่องจากตามคลิปวิดีโอปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 หันหน้ามาทางข้างขวาและเหลียวหลังมองไปทิศทางที่จำเลยกำลังเดินตรงมาที่โจทก์ที่ 2 จึงเชื่อว่าหากจำเลยเตะโจทก์ที่ 2 จริง
โจทก์ที่ 2 และ ศุภกาญจน์ สุขเกื้อ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกัน ย่อมน่าจะเห็นเหตุการณ์และยืนยันได้หนักแน่นว่าจำเลยเตะทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 โดยมีลักษณะและรายละเอียดการเตะอย่างไรกันแน่ เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟในสวน จากดวงจันทร์เต็มดวง เพียงพอที่พยานโจทก์จะมองเห็นและจดจำเหตุการณ์ได้
แต่โจทก์ที่ 2 กลับไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงถึงการถูกทำร้ายร่างกายนั้นได้ อันเป็นข้อพิรุธให้น่าสงสัย นอกจากนี้ตามคลิปวิดีโอวัตถุพยานก็ไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงจำเลยใช้เท้าเตะโจทก์ที่ 2 จนมีลักษณะคะมำไปด้านหน้าดังที่โจทก์ที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน แต่กลับปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 สามารถลุกขึ้นยืนและเดินออกไปจากที่เกิดเหตุได้อย่างปกติ อันขัดแย้งกับคำให้การของโจทก์ที่ 2
ทั้งไม่สมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปร่างของจำเลยที่เป็นคนสูงใหญ่กว่าโจทก์ที่ 2 มาก ประกอบกับโจทก์ที่ 2 กับจำเลยไม่เคยรู้จักกันหรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกันก่อน และปกติบุคคลทั่วไปเมื่อถูกทำร้ายร่างกายโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันย่อมต้องสอบถามมูลเหตุที่ทำร้ายตน
แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นพิจารณา นอกจากนี้พยานโจทก์ พนักงานสอบสวนยังเบิกความอีกว่า ตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 นั่งบนบันไดขั้นที่สองนับจากด้านล่าง หากจำเลยยืนอยู่บันไดขั้นบนสุดจะไม่สามารถเตะถึงโจทก์ที่ 2 ได้ และหากจำเลยเดินลงมาอีก 1-2 ขั้นบันไดย่อมประชิดตัวโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 และศุภกาญจน์ต้องเห็นเหตุการณ์เป็นอย่างดี อีกทั้งพยานแวดล้อมกรณีของโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานปากใดให้การยืนยันว่าจำเลยรับต่อพยานว่าได้เตะโจทก์ที่ 2
ทั้งหลังเกิดเหตุมีการไกล่เกลี่ยในที่เกิดเหตุ จำเลยก็ปฏิเสธต่อตำรวจของสถานีตำรวจภูธรถลางว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2
สำหรับรายละเอียดบาดแผลของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองมีพยาน แพทย์ออกผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่าพยานไม่ได้ตรวจร่างกายโจทก์ที่ 2 เพียงแต่ดูลักษณะบาดแผลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่พยาบาลบันทึกไว้เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำพยาบาลซึ่งเป็นผู้ถ่ายรูปบาดแผลของโจทก์ที่ 2 มาเบิกความยืนยันและมิได้ส่งภาพถ่ายบาดแผลและประวัติการรักษาทางเวชระเบียนซึ่งโจทก์ที่ 2 เข้าทำการรักษาก่อนออกผลการตรวจทางนิติเวช โดยภาพถ่ายบาดแผลจำเลยเป็นฝ่ายอ้างเป็นพยาน ดังนั้นผลการตรวจชันสูตรบาดแผลจึงยังมีข้อพิรุธให้สงสัย
เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วนที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 รับอันตรายแก่จิตใจโดยป่วยเป็นโรค PTSD เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายแก่จิตใจหรือไม่
จึงย่อมไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นอกจากนี้ที่โจทย์ที่ 2 อ้างว่าป่วยเป็นโรค PTSD จำเลยนำสืบหักล้างและมีพยานปากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งศาลออกหมายเรียกมาให้ความเห็นเป็นหนังสือและมาเบิกความประกอบ มีความเห็นตรงกันว่าการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD บุคคลนั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาตามที่กล่าวอ้างนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
พิพากษายกฟ้อง