×

ล้วงลึก ‘อาชีพสายการเงินและการลงทุน’ อาชีพที่ไม่เคยตกเทรนด์ พร้อมวิธีปลดล็อกศักยภาพเพื่อการเติบโตบนเวทีโลก [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
12.05.2023
  • LOADING...
อาชีพสายการเงิน

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • อาชีพสายการเงินการลงทุน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ไม่เคยตกเทรนด์ตลาดแรงงาน นอกจากเรื่องค่าตอบแทนที่สูง ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่เปิดโอกาสให้คุณทำงานเติบโตที่ไหนในโลกก็ได้แค่มีคุณวุฒิ CFA 
  • ‘CFA’ หรือ ‘Chartered Financial Analyst’ คือ Gold Standard ที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานระดับโลก เปรียบได้กับเครื่องหมายการันตีว่าผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรจะเป็นผู้มีคุณวุฒิได้รับการยอมรับในแวดวงการเงิน การลงทุน กุญแจสำคัญของการเติบโตในอาชีพสายการเงิน และยังเป็นใบเบิกทางให้ไปทำงานต่างประเทศได้ 
  • ด้วยเหตุนี้เอง CFA Society Thailand จึงถือกำเนิดขึ้น และมีอายุครบ 20 ปีในปีนี้ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่วิชาชีพด้านการเงินและการลงทุน รวมทั้งยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพของบุคลากรตลาดทุนไทยให้เข้าสู่ระดับสากล

เดิมที อาชีพสายการเงินการลงทุน ก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาชีพทำเงินที่ไม่เคยตกเทรนด์ตลาดแรงงานอยู่แล้ว แต่พอโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล กระแสการลงทุนดิจิทัลกลายเป็นเรื่องที่ใครก็เรียนรู้ได้ การลงทุนมีให้เลือกหลากหลาย โลกการลงทุนยังเปิดกว้าง ยิ่งทำให้อาชีพสายการเงินการลงทุนเนื้อหอมจนเป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งขึ้นไปอีก 

 

หากไม่นับเรื่องผลตอบแทนที่หอมหวาน ความสนุกของคนทำงานสายการเงินการลงทุนคือ ‘ความท้าทาย’ ต้องใช้ทั้งกึ๋นและความเก๋าเกมในการอ่านกระแสการเงิน วิเคราะห์สถานการณ์โลกให้ขาดเพื่อวางแผนการเงินการลงทุนให้ถูกต้อง ถูกจังหวะ จึงเป็นอาชีพที่รุ่นเก่าไม่อยากวางมือ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อยากเข้าร่วมวง  

 

 

ยกตัวอย่าง 5 ตำแหน่งงานที่ดีมานด์สูง 

 

  1. นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลของตลาดหุ้น ตราสารหนี้ วิเคราะห์งบการเงินดูแนวโน้มของตลาดที่มีโอกาสในการทำกำไร และประเมินมูลค่าความเหมาะสมของหลักทรัพย์ในตลาดนั้นๆ ออกมาเป็นบทวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำว่าหุ้นตัวไหนควรซื้อขายราคาเท่าไร จึงเป็นงานที่ใช้ความรู้และความชำนาญในการเข้าใจธุรกิจ ถือเป็นอาชีพที่ความนิยมไม่เคยตก ยิ่งการลงทุนในปัจจุบันมีความผันผวน นักวิเคราะห์ที่เก่งๆ จะกลายเป็นดาวเด่นในวงการ 

 

  1. ผู้จัดการกองทุน ทำหน้าที่ดูแลพอร์ตการลงทุนของลูกค้า แบ่งสัดส่วนการลงทุนตามจำนวนเงินที่กำหนด คัดเลือกสินทรัพย์มาไว้ในพอร์ตและบริหารภายใต้ความคาดหวังของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ และต้องทำให้พอร์ตเติบโตอย่างมั่นคง ปัจจุบันกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คนกลุ่มนี้จึงมองหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแล Wealth เป็นอาชีพที่ดีมานด์สูงเพราะค่าตอบแทนสูง แต่กลับสวนทางกับจำนวนคนที่เข้าสู่วิชาชีพ ประเด็นที่ทำให้อาชีพนี้น่าสนใจคือ ผู้จัดการกองทุนจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ แต่ต้องสอบผ่านหลักสูตร Chartered Financial Analyst (CFA) และมีประสบการณ์ทำงานด้านการลงทุนหรือการวิเคราะห์หลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือถ้าไม่มีประสบการณ์เลยจะต้องสอบ CFA ให้ผ่านระดับ 3 จึงจะได้รับใบอนุญาต 

 

  1. วาณิชธนากร ทำหน้าที่ให้คำแนะนำลูกค้าในการระดมเงินทุน​ในตลาดทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ การควบรวมและซื้อขายกิจการ ​รวมถึงให้คำปรึกษาทางการเงินอื่น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำรายงานวิจัยออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การประเมินมูลค่าหุ้น/กิจการ ก็เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการตัวอย่างมาก 

 

  1. เทรดเดอร์ เราอาจจะคุ้นเคยภาพของเทรดเดอร์ที่นั่งอยู่ในธนาคารหรือตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่ซื้อขายตราสารหนี้ ซื้อขายหุ้น คอยจับจังหวะให้ดีเพื่อจะซื้อให้ถูก และขายได้แพง จึงต้องอาศัยความรู้และการตัดสินใจที่รวดเร็ว เฉียบคม เทรดเดอร์เก่งๆ จึงเป็นที่ต้องการตัวของตลาดอย่างมาก หากประสบความสำเร็จเตรียมรับมือกับความมั่นคงทางรายได้ได้เลย แถมยังนั่งทำกำไรจากการเทรดที่ไหนบนโลกก็ได้ แต่อย่าลืมว่าการลงทุนบางอย่างก็ High Risk High Return แปลว่าหากเป็นเทรดเดอร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ความมั่นคงทางอาชีพก็มืดมนเช่นกัน 

 

  1. ที่ปรึกษาทางการเงิน ทำหน้าที่ช่วยแนะนำวางแผนทางการเงินในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในชีวิต ตั้งแต่การใช้จ่าย เก็บออม วางแผนเกษียณ ลงทุนให้งอกเงย ไปถึงแนะนำการลงทุนในหุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เพื่อให้เงินเก็บของลูกค้างอกเงย

 

 

จากอาชีพที่ยกมาและแทบทุกตำแหน่งในแวดวงการเงินและการลงทุน นอกจากความรู้และคุณวุฒิระดับปริญญาตรีที่ร่ำเรียนมา ยังมีอีกหนึ่งคุณวุฒิที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งหากคุณจะทำงานในสายอาชีพนี้นั่นก็คือ ‘CFA’ หรือ ‘Chartered Financial Analyst’ คุณวุฒิที่พัฒนาขึ้นโดย ‘CFA Institute’ ของสหรัฐอเมริกา เปรียบได้กับเครื่องหมายการันตีว่าผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรจะเป็นผู้มีคุณวุฒิได้รับการยอมรับในแวดวงการเงิน การลงทุน เป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตในอาชีพสายการเงิน และยังเป็นใบเบิกทางให้ไปทำงานต่างประเทศได้ เพราะเป็นคุณวุฒิที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Gold Standard ที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานระดับสากล คนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานต่างประเทศถ้ามี CFA ห้อยท้ายนี่คือโอกาสที่จะพาตัวเองไปเติบโตในองค์กรการเงินระดับโลกได้เลย 

 

หลายตำแหน่งบังคับให้สอบผ่านคุณวุฒิ CFA ก่อนถึงจะมีใบอนุญาตให้ทำงานได้ เช่น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุน ที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ในบางอาชีพอย่าง เทรดเดอร์ และวาณิชธนากร แม้ ก.ล.ต. จะไม่ได้บังคับสอบ CFA แต่การมีคุณวุฒิ CFA อยู่บนนามบัตรย่อมมีภาษีมากกว่าคนที่ไม่มี  

 

 

คุณวิน พรหมแพทย์, CFA นายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ บอกว่า “วิชาชีพสายการเงินและการลงทุน เป็นสายอาชีพที่ต้องได้รับอนุญาต ในเมืองไทยทาง ก.ล.ต. จึงมีกฎระเบียบว่าจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างเพื่อยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน ซึ่ง CFA ก็เป็นส่วนสำคัญในการเข้าสู่วิชาชีพ ก็เหมือนกับผู้พิพากษากับอัยการที่ต้องสอบเนติบัณฑิต หรือแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ คนทำงานสายการเงินและการลงทุนก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นกัน” 

 

วินอธิบายต่อว่า เนื้อหาสาระในหลักสูตร CFA ทั้ง 3 ระดับนั้นจะครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการเงินและการลงทุน เช่น ตราสารทางการเงิน (ตราสารทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์) สถิติ และทฤษฎีความน่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์งบการเงิน การลงทุนทางเลือก การจัดการพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ 

 

“หลักสูตร CFA มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการทบทวนหลักสูตรทุกปี อย่างล่าสุดมีการประเมินความรู้ด้าน DeFi คริปโต บล็อกเชน หรือการใช้เครื่องมือ AI / Machine Learning มาตัดสินใจลงทุนแทนคน เมื่อหลักสูตรถูกปรับอยู่เสมอ ทำให้คนที่อยากวัดความรู้ด้านการเงินของตัวเองก็สามารถมาสอบได้ และคนที่เคยสอบผ่านไปแล้วก็มาทบทวนหรือวัดความรู้ใหม่ได้ด้วยเช่นกัน 

 

 

“ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันมีคนเข้ามาสอบ CFA เพื่อเทรดหุ้นเองก็เยอะ เพราะเรื่องการเงินการลงทุนในยุคนี้ใครๆ ก็เข้าถึงง่ายและเรียนรู้ได้ เท่ากับว่ามีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีคนจากสายอาชีพอื่นๆ ที่อยากมีความรู้ด้านการเงินมาสอบ CFA กันมากขึ้น เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนของตัวเอง และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาชีพในวงการนี้ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอาชีพในสายงานอื่นๆ ยิ่งถ้าคุณมี CFA เท่ากับคุณติดสปีดให้กับเส้นทางการทำงาน” 

 

แม้ว่าการมีคุณวุฒิ CFA จะทำให้อาชีพการงานราบรื่น แต่ในประเทศไทยการจะสอบผ่านทั้ง 3 ระดับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในแต่ละปีของการสอบ CFA ทั่วโลก จะมีการเก็บสถิติทั้งจำนวนผู้ที่เข้าสอบและสอบผ่าน สถิติของการสอบ CFA ระดับ 3 ในรอบเดือนสิงหาคม 2022 สัดส่วนของผู้ที่สอบผ่านอยู่ที่ 48% ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปีที่ 52% และลดลงจากรอบก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ที่ 49% 

 

คุณวิน พรหมแพทย์, CFA นายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์

 

ด้วยเหตุนี้เอง CFA Society Thailand ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจึงถือกำเนิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจสอบ CFA ส่งเสริมและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่วิชาชีพด้านการเงินและการลงทุน รวมทั้งยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพของบุคลากรตลาดทุนไทยให้เข้าสู่ระดับสากล

 

CFA Society Thailand ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 ในยุคนั้นคนไทยที่สอบผ่าน CFA น้อยมาก น่าจะประมาณ 10 กว่าคน อาจเพราะเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา ประกอบกับเนื้อหาหลักสูตรที่ยากพอตัวเลยทำให้คนสอบไม่ผ่านกันเยอะ ตอนนั้นเองผู้ใหญ่ภาคการเงินในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กรุณาผลักดันและหาทางส่งเสริมให้หลักสูตร CFA เป็นที่รู้จัก เพราะต้องการสร้างบุคลากรป้อนตลาดทุน คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์, CFA (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มเซ็นทรัล) หนึ่งในผู้ที่สอบผ่าน CFA คนแรกๆ ของเมืองไทย ก็รวบรวมพรรคพวกที่สอบผ่านมาจัดตั้งสมาคม และได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในวงการร่วมกันผลักดัน” 

 

 

ปัจจุบัน CFA Society Thailand ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 จากวันที่ก่อตั้งมีสมาชิกหลักสิบ ปัจจุบันมีจำนวน ‘CFA Charterholder’ มากถึง 667 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน 2566) และมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการเงินระดับท็อปของเมืองไทยมากมายที่เป็นศิษย์เก่าสมาคม เช่น แวดวงสายงานจัดการกองทุน คุณวนา พูลผล, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด, คุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และ คุณเจษฎา สุขทิศ, CFA CEO & Co-founder FINNOMENA หรือระดับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เช่น คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ, CFA ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และ คุณสมโภชน์ อาหุนัย, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์

 

ด้านสายงานนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้แก่ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ส่วนสายงานวาณิชธนกิจ ได้แก่ คุณมนตรี ศรไพศาล, CFA อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 

 

สำหรับสายงานวิชาการและผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ คุณจอมขวัญ คงสกุล, CFA รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์, CFA รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล, CFA หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ดอน นาครทรรพ, CFA ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

วินบอกว่า CFA Society Thailand เป็นเหมือนลมใต้ปีกที่คอยช่วยเหลือผลักดันให้คนในวงการการเงินการลงทุน ภายใต้การทำงานของสมาคม 3 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมดูแลสมาชิก อัปเดตความรู้ จัดกิจกรรมต่างๆ  2. การประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแล ช่วยยกระดับมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ESG และจรรยาบรรณ 3. ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สอบ CFA เพื่อเพิ่มบุคลากรในตลาดทุน ผ่านการให้ทุน จัดคอร์สติว จัดเวิร์กช็อป จัดคลับเฮาส์แชร์ประสบการณ์จากอาชีพต่างๆ ในสายการเงิน และข้อดีของการสอบ CFA เป็นต้น 

 

คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองนายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์

 

คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองนายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ เล่าเสริมว่า สมาคมจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งทุนการศึกษาและทุนการสอบ CFA

 

อย่าง ‘โครงการทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมการสอบวัดระดับ CFA’ ที่ได้เงินทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ให้ทางสมาคมจัดทำโครงการสอบชิงทุนการศึกษา โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 2 การจัดอบรมและคัดเลือกผู้ที่จะมาเข้าสอบ CFA ทั้ง 3 เลเวล แบ่งเป็น ทุนสำหรับบุคลากรในบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวม 50 ทุน และทุนสำหรับบุคคลทั่วไป 210 ทุน

 

 

“สองปีที่ผ่านมามีผู้สมัครเข้าสอบชิงทุนมากกว่า 1,000 คน เราให้ทุนทั้ง 3 เลเวลไปแล้ว 260 ทุน โดยทุนที่ได้รับจะครอบคลุมค่าลงทะเบียนแรกเข้า CFA Program, ค่าสมัครสอบ CFA และค่าหลักสูตรเตรียมตัวสอบ Gold Course แบบออนไลน์จากสถาบัน Wiley” 

 

หรือ ‘โครงการทุนอบรมหลักสูตรสากลด้าน ESG’ เพื่อมอบประกาศนียบัตรวิชาชีพ ‘Certificate in ESG Investing’ ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ในการจัดโครงการ โดยในปี 2565 ทางสมาคมมอบทุนไป 52 ทุน คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับทุนต้องสอบผ่าน CFA Level 1 แล้ว 

 

 

“กิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ โครงการแข่งขัน ‘CFA Institute Research Challenge’ เป็นการแข่งขันทดสอบความสามารถในการวิเคราะห์และการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของนักศึกษาในระดับปริญญา เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับโลก เราเชื่อว่าเวทีนี้จะช่วยสร้างบุคลากรคุณภาพที่มีทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และผลักดันว่าที่นักการเงินการลงทุนรุ่นใหม่ให้พัฒนาขีดความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สายอาชีพต่อไปในอนาคต

 

เดือนสิงหาคมของทุกปี สมาคมจะเปิดรับสมัครทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ใช้เวลาแข่งขันประมาณ 5 เดือน ระหว่างนี้จะมีการเสริมคอนเทนต์ต่างๆ เช่น จัดอบรมกับ Bloomberg เพื่อฝึกฝนการใช้เครื่องมือและทำวิจัยผ่านประสบการณ์จริง อย่างปีที่ผ่านมาเราเชิญ Dr.Andrew Stotz, CFA, ผู้บริหารของบริษัท A. Stotz Investment Research และอดีตนายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ มาให้ความรู้ในหัวข้อ ‘Conducting Research Report, Valuation, and Presentation Techniques’ 

 

นอกจากนั้นยังนัดพบกับทีมผู้บริหารเพื่อพูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวธุรกิจ โดยโจทย์ปีที่ผ่านมาเป็นหุ้นของบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) สมาคมให้ทุกทีมได้เรียนรู้แบบใกล้ชิดจาก CFA Charterholder กูรูแถวหน้าจากบริษัทมหาชนชั้นนำ และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการเงินการลงทุน ที่อาสามาเป็น Mentors ให้คำแนะนำและแชร์ประสบการณ์การทำงานให้กับผู้แข่งขัน” 

 

ศรชัยยังบอกอีกว่า การแข่งขันทุกรอบจะมี CFA Charterholder อาสามาเป็น Graders และ Judge ร่วมถามคำถามเชิงลึกและให้คำแนะนำเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะได้ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับโลก กับผู้แข่งขันจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยคว้ารางวัลชนะเลิศในปี 2012 จากการแข่งขันที่สหรัฐอเมริกา 

 

“นอกจากโครงการที่เล่าไป ทางสมาคมก็จัด Candidate Gathering เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ CFA Charterholder รุ่นใหม่ที่เป็นกูรูแถวหน้าจากบริษัทมหาชนที่อาสามาแชร์ความรู้ คำแนะนำ และแบ่งปันประสบการณ์ในสายอาชีพการเงิน ปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 2566” 

 

ไม่เพียงเท่านั้น สมาคมยังรับหน้าที่แปล Global ESG Disclosure Standards for Investment Products ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และ CFA Institute จัดทำมาตรฐานสากลในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของผลิตภัณฑ์การลงทุน (Global ESG Disclosure Standards for Investment Products) ฉบับภาษาไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถนำไปใช้ในสายวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม และยังร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนแปล Global Investment Performance Standards: GIPS® ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการวัดผลการดำเนินงานของการลงทุนอีกด้วย 

 

“นอกจากเรื่องของการให้ทุน ให้โอกาส พัฒนาบุคลากร สิ่งที่สมาคมทำมาโดยตลอดก็เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งเหล่านี้เราอยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม เรื่องของนโยบายต่างๆ ยกระดับมาตรฐานที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมการลงทุนบ้านเรา 

 

“รวมไปถึงเรื่องคอนเนกชันที่ไม่ได้จำกัดแค่ในเมืองไทย เพราะเราเชิญคนเก่งๆ จากต่างประเทศมาบรรยายและแชร์ประสบการณ์หลายครั้ง การจัดกิจกรรมเพื่อให้ CFA Charterholder ได้มาเจอกัน ก็จะได้ส่งต่อประสบการณ์และอัปเดตความรู้กันในอุตสาหกรรม รุ่นพี่แนะนำรุ่นน้อง และอาจนำไปสู่การสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ก็เป็นได้”  

 

ใหม่-ริสา ศิริวัฒน์, CFA (คณะทำงานสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ ฝ่าย Networking Event)

 

เมื่อพูดถึง ‘คอนเนกชัน’ และ ‘โอกาส’ อย่างที่บอกไปข้างต้น CFA คือกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูแห่งโอกาสในเส้นทางสายอาชีพการเงินและการลงทุน มากไปกว่านั้นยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยทลายทุกข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ใหม่-ริสา ศิริวัฒน์, CFA (คณะทำงานสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ ฝ่าย Networking Event) ตัวแทน  LGBTQIA+ ที่เคยผิดหวังจากการถูกปฏิเสธเข้าทำงาน 

 

“เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ซึ่งตรงกับงานที่อยากทำคือด้านการลงทุน แต่สมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ สมัครจนท้อ ก็รู้นะว่าสายอาชีพนี้ต้องการคนมีประสบการณ์ แต่มันเหมือนเราถูกปิดกั้นด้วยความเป็น LGBTQIA+ ด้วยส่วนหนึ่ง และไม่มีอะไรการันตีความสามารถของเรา เลยคิดว่าต้องสอบ CFA พอหลังจากสอบผ่าน Level 1 ก็ได้งานเลย 

 

“ทำงานไปสักพักอยากเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งการจะขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนได้มันมี 3-4 วิธี และการสอบผ่าน CFA ก็เป็นอีกหนึ่งทาง เช่น ถ้าสอบผ่าน CFA Level 3 ก็จะขึ้นทะเบียนได้เลย แต่ถ้าเลือกใช้แค่ Level 1 ก็ทำได้เหมือนกันแต่ต้องใช้ประสบการณ์การทำงานประกอบไปด้วย ซึ่งตอนนั้นเราก็เลือกที่จะสอบไปถึง Level 3 เพราะอยากวัดความรู้ความสามารถของตัวเองด้วย ใช้เวลา 4 ปีก็สอบผ่านทั้ง 3 Level” 

 

 

ริสาบอกว่า การที่เธอฝ่าด่านการสอบ CFA ทั้ง 3 Level มาได้ CFA Society Thailand มีส่วนสำคัญอย่างมาก “รู้จักสมาคมตั้งแต่ตอนสอบ Level 1 เพราะทางสมาคมจะคอยอัปเดตข่าวสารและจัดกิจกรรม Study Group ให้ความรู้กับคนที่ต้องการสอบ CFA มีรุ่นพี่ที่สอบผ่านมาติวให้ ตอนจะสอบ Level 2, 3 เลยเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางสมาคมจัดแทบทุกกิจกรรม ที่ชอบมากๆ คือ Mock Exam เป็นการนำข้อสอบมาให้ทำก่อนสอบจริง จะได้รู้ว่ายังมีจุดไหนที่พลาดบ้าง หรือ Career in Finance เป็นการจัดงานแลกเปลี่ยนข้อมูลในหลากหลายอาชีพในวงการการเงิน ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าตำแหน่งนี้น่าสนใจ ในอนาคตฉันอาจจะไปได้” 

 

 

“ที่ได้มากกว่าความรู้คือคอนเนกชัน เวลาสมาคมจัดงานหรือกิจกรรมนั่นคือโอกาสที่เราจะได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ อัปเดตว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหน มีความเคลื่อนไหวอะไรในแวดวงการเงินบ้าง และเป็นโอกาสให้เราสร้างคอนเนกชันกับรุ่นพี่ในวงการ” 

 

นอกจากจะเข้าร่วมกิจกรรมกับทางสมาคมเป็นประจำ ริสายังรับหน้าที่เป็นอาสาสมัครอีกด้วย “ที่ตัดสินใจเป็นอาสาสมัครเพราะรู้สึกขอบคุณสมาคมนี้มากๆ สมาคมเป็นอีกแรงที่ช่วยทำให้ได้ทำงานในวงการนี้ เลยอยากมาแบ่งปันประสบการณ์ที่เราได้รับ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มจำนวนบุคลากรในตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ เราอยากเป็นหนึ่งเสียงที่ทำให้ทุกคนเชื่อว่า ไม่ว่าคุณเป็นใคร เพศอะไร ก็สามารถเติบโตในวงการการเงินได้ และถึงแม้ปัจจุบันวงการการเงินจะเปิดกว้างมากขึ้นให้กับคนทุกเพศ และเราก็เห็นผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQIA+ อาจจะยังต้องเจออุปสรรคมากกว่าในการเติบโตในสายงานนี้ คุณวุฒิ CFA จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยบอกได้ว่าเราคือคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำงานและเติบโตในสายงานนี้ และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นนะ แต่เราเติบโตบนทุกเวทีในโลกใบนี้ได้”  

 

อ้างอิง:

FYI
  • CFA Society Thailand (สมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์) ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 โดยปี 2566 จะครบรอบ 20 ปี ทางสมาคมจึงจัดงานเฉลิมฉลองในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ให้กับสมาชิกสมาคม พร้อมต้อนรับสมาชิก CFA Charterholders ปี 2022 และยังเป็นการรวบรวมสมาชิกสมาคมกับหน่วยงานภาครัฐในอุตสาหกรรมตลาดทุนให้มาพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในตลาดทุนร่วมกัน 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising