วานนี้ (30 มกราคม) โสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยความคืบหน้าหลังมีการพบเห็นซากเต่าและโลมาในพื้นที่ที่เกิดน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อกลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยเจ้าหน้าที่ทีมสัตวแพทย์ของ ทช. ผ่าชันสูตรซากแล้ว มีผลลัพธ์ดังนี้
- ซากโลมาที่พบเป็นโลมาปากขวดอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Bottlenose Dolphin: Tursiops aduncus) ขนาดความยาวซากที่เหลืออยู่ 2.35 เมตร สภาพซากเน่ามาก (Advanced Decomposition หรือที่ระดับ 4/5) จากสภาพซากโลมาตัวนี้เสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7-10 วัน จากการตรวจสอบกล้ามเนื้อและผิวหนังหลุดล่อน อวัยวะหลายส่วนหลุดหายไปเนื่องจากผนังช่องท้องได้เปิดออกจากการเน่าตามธรรมชาติ ทางเดินอาหารพบ Gastric Content เล็กน้อย ตลอดทางเดินหายใจและทางเดินอาหารไม่พบสิ่งแปลกปลอมและคราบน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเน่ามาก ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้
- ซากเต่าทะเลที่พบเป็นเต่ากระ (Hawksbill Turtle: Eretmochelys imbricata) ขนาดกระดองกว้าง 74 เซนติเมตร กว้าง 83 เซนติเมตร เพศเมีย อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาพซากเน่ามาก (Advanced Decomposition หรือที่ระดับ 4/5) เป็นเต่าที่เกิดและโตในธรรมชาติ ไม่พบหมายเลขไมโครชิปและแถบเหล็กระบุตัวตน จากการตรวจสอบ จากสภาพซากเต่าได้เสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน เต่าทะเลมีไขมันสะสมตามช่องท้องค่อนข้างน้อย บ่งบอกการป่วยที่เรื้อรัง ตลอดทางเดินอาหารพบอาหารตามธรรมชาติเล็กน้อย ได้แก่ ปะการังอ่อน เปลือกหอย ไฮดรอย เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังพบขยะทะเลจำนวนหนึ่ง เช่น ถุงพลาสติก เศษเชือก เศษกระสอบ หนังยางรัดแกง แต่ไม่พบการอักเสบของทางเดินอาหาร และไม่พบการปนเปื้อนหรือคราบน้ำมันทั้งภายในและภายนอกของเต่าทะเล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากซากเน่ามาก ทำให้ไม่สามารถสรุปหาสาเหตุการตายได้