‘ภาษีคาร์บอน’ ใกล้เข้ามาแล้ว! เร็วสุดสิ้นปีนี้ กรมสรรพสามิตเผย ส่งเรื่องเข้า ครม. แล้ว รอเพียงอนุมัติ ยืนยันไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในช่วงแรก
วันนี้ (30 กันยายน) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้เสนอแก้กฎกระทรวงเพื่อแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันบางส่วนให้เป็น ‘ภาษีคาร์บอน’ (Carbon Tax) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้รอเพียงเข้าที่ประชุม ครม. เท่านั้น
โดยหาก ครม. อนุมัติ กรมสรรพสามิตก็จะสามารถดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอนได้ทันที เนื่องจากเป็นการแก้กฎกระทรวงเท่านั้น ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตาม ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ข้อเสนอการแก้กฎกระทรวงดังกล่าวไม่น่าทันที่ประชุม ครม. นัดวันอังคารที่ 1 ตุลาคมนี้
สอดคล้องกับ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบได้เร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในปี 2567
ดร.เผ่าภูมิ ยังเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ในวันนี้ว่า กรมสรรพสามิตได้ส่งเรื่องเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามกระบวนการทางกฎหมายและทางราชการปกติ กว่าที่เรื่องจะเข้าที่ประชุม ครม. จะใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นเรื่องภาษีคาร์บอนนี้ไม่น่าจะได้เห็นเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 1 ตุลาคม หรือ 8 ตุลาคมนี้ได้ ส่วนจะเข้าทันเดือนตุลาคมนี้หรือไม่ ยังไม่ขอให้คำมั่น (Commit)
ดร.เอกนิติ ยังยืนยันว่า ในระยะแรกกรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 200 บาทต่อตันคาร์บอน ใกล้เคียงกับอัตราเริ่มต้นของประเทศสิงคโปร์ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอน
“เราจะแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่วนหนึ่งให้เป็นภาษีคาร์บอน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ หรือไม่ทำให้ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในช่วงแรก” ดร.เอกนิติ กล่าว
สำหรับการปรับภาษีคาร์บอนขึ้นในระยะต่อไป ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน) ที่จะมีเครื่องมือต่างๆ และจะเป็นกฎหมายที่กำหนดราคาคาร์บอนภาคบังคับด้วย
“ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 ท่าน ที่ให้ความสำคัญกับภาษีคาร์บอนอย่างมาก เนื่องจากสหภาพยุโรปจะเริ่มใช้มาตรการ CBAM ในวันที่ 1 มกราคม 2569 เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรที่กำลังจะเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้สินค้าหลายชนิดจะต้องถูกเก็บภาษี ณ พรมแดน ยกเว้นประเทศไทยที่เก็บภาษีคาร์บอนในประเทศตัวเองไปแล้วก็นำไปหักลบได้” ดร.เอกนิติ กล่าว
ดร.เอกนิติ เปิดเผยอีกว่า กรมสรรพสามิตกำลังสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันในประเทศ ในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนว่าหลังเติมน้ำมันแต่ละครั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปเท่าไร และจ่ายภาษีคาร์บอนไปเท่าไร โดยคาดว่าจะระบุไว้ในใบเสร็จ (Bill)
โดยใบเสร็จดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถนำใบเสร็จดังกล่าวไปแสดงเป็นหลักฐานว่าจ่ายภาษีคาร์บอนแล้ว เพื่อนำไปหักลบอีกทีได้ เช่น ผู้ประกอบการเหล็กและซีเมนต์ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปหรือสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรปในสินค้า 5 กลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, ซีเมนต์, กระแสไฟฟ้า, ปุ๋ย และอะลูมิเนียม