ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศและสภาพแวดล้อม (CICERO) ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เปิดเผยรายงานผลสำรวจการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประจำปี 2019 พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ แม้ว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นตลอดปี จะน้อยกว่าในปีก่อนๆ อยู่ที่ราว 0.6%
ตัวเลขดังกล่าวอาจจะดูค่อนข้างน้อย หากเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นยุค 2000 ซึ่งมีการแพร่กระจายสูงกว่า 3% ในแต่ละปี แต่ภาพรวมการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยังคงสะท้อนว่าวิกฤตนี้ไม่เคยลดลง และไม่เป็นไปตามเป้าหมายของสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส ในการจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
“นโยบายสภาพอากาศยังห่างไกลจากคำว่าเพียงพอที่จะลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก ให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส” เกลน ปีเตอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ CICERO กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่บ้างในผลวิจัยฉบับนี้ แม้จะไม่น่ายินดีมากนัก คือปริมาณการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นราว 0.6% นั้น ถือว่าน้อยลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับปี 2018 และ 2017 ที่การแพร่กระจายเพิ่มขึ้นราว 2.1 และ 1.5% ซึ่งแม้การแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกจะมีแนวโน้มเริ่มลดลง แต่ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น จนกว่าทั่วโลกจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: