×

Carbon Credit กับโอกาสและความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนควรรู้

29.04.2024
  • LOADING...

ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่ผู้ลงทุนคำนึงถึงและให้ความสำคัญในหลักการบริหารงานด้วย ESG โดยที่มี Carbon Credit เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบการเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผู้ลงทุนควรทำความรู้จักไว้ เพราะเครื่องมือนี้จะช่วยให้ท่านได้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในสินทรัพย์ ธุรกิจ ประเทศ หรือภูมิภาค ที่ลงทุนอยู่ได้เป็นอย่างดี 

 

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ให้คำนิยามว่า Carbon Credit หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยรวมถึงการเก็บกักหรือการดูดกลับด้วย ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล โดย Carbon Credit แบ่งออกเป็น 2 ตลาดด้วยกัน คือ 

 

  1. ตลาดภาคบังคับ จากการที่ภาครัฐกำหนดนโยบายและกำหนดข้อจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรมไว้ พร้อมกำหนดค่าปรับ โดยกรณีที่ปล่อยเกินสิทธิก็จะถูกปรับหรือต้องเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) แต่ก็มีการเปิดทางให้สามารถใช้ระบบการซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) เพื่อเทรดกับผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าสิทธิที่มีได้ 

 

  1. ตลาดภาคสมัครใจ ที่ภาครัฐไม่ได้บังคับกำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้กำหนดค่าปรับไว้ แต่ภาคเอกชนมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามความสมัครใจเอง โดยจะใช้กลไก Carbon Offset ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Carbon Credit แต่เป็นรูปแบบที่ดำเนินการระหว่างภาคเอกชนกันเอง โดยในส่วนของประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มตลาดภาคสมัครใจ  

 

สำหรับ Carbon Offset จะมี 2 รูปแบบย่อยๆ รูปแบบแรกคือ การสนับสนุนกิจกรรมลดการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซคาร์บอนผ่านการให้องค์กรบุคคลที่สาม (Third Party) ทำหน้าที่รับรองการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามมาตรฐาน ซึ่งแต่ละประเทศก็อาจใช้มาตรฐานไม่เหมือนกัน โดยหน่วยในการนับคือ ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อชดเชยก๊าซคาร์บอนที่ลดไม่ได้ ทั้งใน Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า และ Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ

 

จุดเด่นของ Carbon Offset ก็คือ สามารถเก็บส่วนที่เกินไปใช้ในปีถัดไปได้ หรือจะขายให้กับองค์กรอื่นก็ได้เช่นกัน โดยอาจซื้อกันเองโดยตรง (Over the Counter: OTC) หรือซื้อ-ขายผ่านตลาดแลกเปลี่ยน

 

ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ Renewable Energy Certificates (RECs) เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์ในการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ ซึ่ง RECs ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญของผู้ผลิตในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และของผู้ใช้ไฟฟ้าในการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้า (Scope 2) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการออกใบรับรองสิทธิ RECs ในประเทศไทย 

 

ในส่วนของโอกาสและความเสี่ยงจาก Carbon Credit ที่มีต่อการลงทุนนั้น ในบริบทของนานาประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้วนั้น เรามองว่า หากบริษัทใดที่สามารถลดคาร์บอนจนมีส่วนเกินที่นำไปขายต่อได้ ก็จะทำให้บริษัทนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ลงทุนที่มองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรมในการลดหรือดูดกลับการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน 

 

ขณะที่บริษัทที่ยังไม่ตื่นตัวในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่าสิทธิที่สามารถปล่อยได้ จนทำให้ต้องไปซื้อ Carbon Credit หรือ Carbon Offset จากบริษัทอื่นมาชดเชย ก็จะมีความน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากการซื้อทำให้บริษัทมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น ซึ่งราคาของคาร์บอนนั้นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ลดคาร์บอนหรือปล่อยคาร์บอนไม่เกินสิทธิ 

 

อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของ Carbon Offset ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดหรือดูดกลับการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่อาจมีเรื่อง Greenwashing หรือการฟอกเขียว เกิดขึ้นได้ โดยตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น ได้แก่ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับตกแต่งหรือซ่อมแซมบ้านแห่งหนึ่งระบุว่า จะผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มาจากไม้ที่ปลูกขึ้นเองเพียงอย่างเดียว แต่สุดท้ายก็พบว่ามีการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้และใช้ไม้ผิดกฎหมายมาผลิตด้วย  

 

อีกกรณีตัวอย่างคือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตกระดาษระบุว่า จะปลูกต้นไม้เพื่อไปใช้ผลิตกระดาษ แต่สุดท้ายกลับพบว่ามีการใช้เนื้อไม้เพียงส่วนน้อยเพื่อไปผลิตกระดาษ แต่กลับนำไม้ส่วนมากที่เหลืออยู่ไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าขาย ซึ่งเป็นส่วนที่ทำกำไรได้ดีกว่า โดยไม่เข้าข่ายการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดหรือดูดกลับการปล่อยก๊าซคาร์บอน เนื่องจากการเผาเป็นการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 

 

อ้างอิง: 

 

คำเตือน: 

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X