×

มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน และผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย [ADVERTORIAL]

01.12.2023
  • LOADING...

ปัจจุบันการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องมีการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ และยังจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากกลไก นโยบาย และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ จะนำมาใช้ในทางการค้าระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งมาตรการที่มีผลใช้บังคับแล้วและมาตรการของหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อบังคับใช้ในอนาคต 

 

บทความนี้มุ่งเน้นเฉพาะมาตรการที่มีผลใช้บังคับแล้วคือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวมถึงผู้ส่งออกของไทย

 

CBAM เป็นหนึ่งในชุดกฎหมาย ‘Fit for 55’ ภายใต้นโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในช่วงปี 2533 และเพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 โดยใช้หลักการป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) กล่าวคือ การที่ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นนอกเขตสหภาพยุโรป เนื่องจากมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดน้อยกว่า และส่งออกสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงกลับเข้ามาในเขตสหภาพยุโรป 

 

นอกจากนี้เพื่อทำให้มั่นใจว่ามาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ CBAM จะเป็นมาตรการที่มาเสริมกลไก EU Emissions Trading System (EU ETS) ซึ่งเป็นระบบการซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นภาคบังคับของสหภาพยุโรป ผ่านการใช้กลไกปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 6 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจน รวมถึงสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็ก สายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม เป็นต้น

 

ช่วงเวลาการบังคับใช้

 

สถานะของกฎระเบียบ EU CBAM ในปัจจุบันมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 (EU Regulation (2023/956)) โดยการบังคับใช้ CBAM สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

 

  • ช่วงที่ 1 ระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2568 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นระยะที่จะทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูล (Learning Phase) กล่าวคือผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ รวมทั้งศึกษาวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน โดยในระยะนี้จะยังไม่มีภาระที่ต้องชำระค่า CBAM ผ่านการซื้อ CBAM Certificate แต่ผู้นำเข้าหรือตัวแทนศุลกากรของประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรปมีหน้าที่ที่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้า (Embedded Emissions) เป็นรายไตรมาส ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องรายงานในระยะนี้ยังไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจรับรองหรือทวนสอบ (Verification)

 

  • ช่วงที่ 2 ระยะบังคับใช้ (Definitive Period) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2576 ในระยะนี้การนำเข้าสินค้าที่เข้าเกณฑ์ CBAM จะทำได้แต่เฉพาะผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาต และหากมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณที่ปล่อยเกินจากเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนการรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าต้องดำเนินการเป็นรายปี และข้อมูลปริมาณการปล่อยจะต้องผ่านการตรวจรับรองหรือทวนสอบจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง (Accredited Verifier) โดยต้องมีเอกสารประกอบการตรวจรับรองประกอบ ซึ่งในระยะนี้ระบบ CBAM จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการที่ระบบการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free Allowance) ของ EU ETS ก็จะลดสัดส่วนลงตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปมีแผนการที่จะเพิ่มเติมประเภทสินค้าที่ครอบคลุมภายใต้มาตรการ CBAM เพื่อให้สอดคล้องกับ EU ETS ยิ่งขึ้น โดยอาจขยายขอบเขตให้ CBAM ครอบคลุมอุตสาหกรรมอื่นที่เข้าเกณฑ์ EU ETS ภายในปี 2573 ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังการทบทวนมาตรการ CBAM ในปี 2568

 

  • ช่วงที่ 3 ระยะที่มีผลสมบูรณ์ (Fully Effective Period) เป็นช่วงที่ CBAM เข้ามามีผลโดยสมบูรณ์ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2577 เป็นต้นไป

 

แนวโน้มในระดับโลก

 

นอกจากมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีแผนจะออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และออสเตรเลีย หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว จะมีการบังคับใช้ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างจาก CBAM 

 

นอกจากนี้ขอบเขตประเภทสินค้าที่บังคับใช้อาจแตกต่างจาก CBAM เนื่องจากมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น การกลั่นน้ำมันดิบ การผลิตปิโตรเคมี การผลิตเอทานอล แก้ว กระดาษ พลาสติก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าเหล่านี้ 

 

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกลไกหรือมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน 

 

หากพิจารณาบริบทของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ CBAM พบว่า ในภาพรวมการส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปไม่ได้มีสัดส่วนที่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น ดังนั้น CBAM จึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยโดยรวมไม่มากนัก แต่ยังคงต้องคำนึงว่า CBAM มีโอกาสที่จะขยายขอบเขตสินค้าที่จะครอบคลุมออกไปจนเทียบเท่ากับสินค้าที่ครอบคลุมภายใต้ EU ETS ได้ ซึ่งจะทำให้มีการนำ CBAM มาปรับใช้กับสินค้าชนิดอื่น เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับปิโตรเลียม แก้ว และกระดาษ ได้ในอนาคต

 

การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย

 

การเริ่มบังคับใช้ CBAM จะทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวหลายประการ โดยในระยะเปลี่ยนผ่าน ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปควรต้องเริ่มศึกษาและเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานข้อมูลให้กับผู้นำเข้าเมื่อถูกร้องขอ เพราะหากไม่มีข้อมูล ผู้นำเข้าจะถูกหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศปรับให้ใช้ค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเกณฑ์ที่สูง (ซึ่งอาจจะสูงกว่าปริมาณการปล่อยในการผลิตสินค้าจริง) โดยจะส่งผลให้ CBAM Certificate ที่ต้องซื้อเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้ผู้นำเข้าพิจารณาซื้อสินค้าจากผู้ขายรายอื่นที่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมกว่า

 

ส่วนในระยะบังคับใช้ ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องให้มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะระดับเพดานของการกำหนดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU ETS จะมีการปรับลดลงทุกปี หากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิตสินค้าในไทยยังคงอยู่ในระดับเดิม ก็จะทำให้จำนวน CBAM Certificate ที่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี

 

ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ อันเป็นผลมาจากการใช้นโยบายและมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมด้านการค้าระหว่างประเทศที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่ง CBAM เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการดังกล่าวเท่านั้น

 

เรื่อง: พีระพรรณ ตั้งสุวรรณ, บุลินทร์ สานุช, กีรติ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, วรุตม์ กิตติจูงจิต, ธีรนันทา ฤทธิ์มณี และ เหมือนจิต แจ่มศิลป์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising