แบงก์ชาติมอง ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ กำลังเจอความท้าทายที่หนักหน่วงในรอบหลายปีที่ผ่านมา แจงสาเหตุการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ติดลบมาจากคุณภาพผู้ขอกู้แย่ลง ยืนยันมาตรฐานปล่อยสินเชื่อโดยรวมของแบงก์พาณิชย์ ‘ไม่ได้เข้มขึ้น’
วันนี้ (26 มิถุนายน) สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 เกี่ยวกับภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน โดยระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้กลไกสินเชื่อทำงานได้ปกติในภาพรวม สินเชื่อธุรกิจโดยรวมขยายตัว อย่างไรก็ดีพบว่า สินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตชะลอลงกว่าประเภทอื่น โดยสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ของผู้ขอกู้สูงขึ้น และกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt Deleveraging)
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยเป็นไปตามที่ประเมินไว้ และหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ส่วนใหญ่อยู่ที่ ‘สินเชื่อเช่าซื้อ’ คิดเป็น 16.3% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจาก ธปท. แสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้สินเชื่อเช่าซื้อเป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทเดียวที่มีอัตราการเติบโตติดลบ 1.55%
แจงแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเข้มขึ้น
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาคยานยนต์กำลังเจอความท้าทายที่หนักหน่วงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการปฏิเสธสินเชื่อมีมากขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อชะลอลง
อย่างไรก็ดี ปิติระบุว่า เท่าที่พูดคุยกับผู้ประกอบการและธนาคารพาณิชย์พบว่า มาตรฐานสินเชื่อโดยรวม ‘ไม่ได้เปลี่ยน’ แต่คุณภาพผู้ขอกู้แย่ลง ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) สูงขึ้น ทำให้การปฏิเสธสินเชื่อมีมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลง ก็มาจากการเร่งปล่อยสินเชื่อและซื้อรถยนต์ไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย
นอกจากนี้ปิติยังระบุด้วยว่า อีกปัจจัยที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ลดลงมาจาก ‘ราคารถยนต์มือสองที่ลดลง’ จึงทำให้ความสามารถในการซื้อหรือความต้องการซื้อ ‘รถยนต์ใหม่’ ลดลงไปด้วย เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ใหม่จำนวนมากมักจะนำรถยนต์เดิมไปเทิร์นก่อนซื้อคันใหม่ ดังนั้นเมื่อราคารถยนต์มือสองลดลง จึงทำให้ผู้ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่เผชิญความยากลำบากขึ้นหรือต้องหาส่วนต่างมากขึ้น
ขณะที่ ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ราคารถยนต์มือสองลดลงมาจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ค่อนข้างถูกเข้ามาดิสรัปต์ตลาด นอกจากนี้การแข่งขันราคาของ EV ก็ยังทำให้คนมีกำลังซื้อรอว่าราคาอาจจะลดลงกว่า