×

ป้ามือขวาน อาชญากรรมที่ กทม. ร่วมสร้าง ความล้มเหลวในการบริหารเมือง

21.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ข่าวป้ามือขวานมีประเด็นอย่างน้อย 3 เรื่องที่ต้องคุยกัน เรื่องแรกคือการเติบโตของตลาดนัดกับการขยายตัวของเมือง เรื่องที่ 2 คือความขัดแย้งด้านการใช้พื้นที่ของคนแต่ละกลุ่ม และเรื่องที่ 3 คือกรุงเทพมหานครกับความล้มเหลวในการสร้างกติกาใช้พื้นที่ให้ยุติธรรม
  • การลงโทษข้าราชการที่ปล่อยปละละเลยให้ป้าโดนรังแกนั้นจำเป็น แต่ระบบบริหารพื้นที่กรุงเทพฯ ต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ความทุกข์ของป้ามือขวานสะท้อนว่า ปล่อยข้าราชการคุมพื้นที่ไม่ได้ และสิ่งที่ต้องทำคือ ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจากการเลือกตั้งหรือประชาชนทำหน้าที่นี้อย่างที่หลายประเทศทำ

ไม่กี่นาทีที่ ‘ป้ามือขวาน’ จามรถกลายเป็นชนวนให้คนทั้งแผ่นดินคุยกันว่า เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร ดราม่าประเภทใครถูก ใครผิด ถูกสาดซัดด้วยการแชร์ประสบการณ์จนท่วมโซเชียลมีเดียว่าประเทศนี้มีคนเคยอยู่ในสถานการณ์แบบป้าเยอะมาก ส่วนเสียงผดุงคุณธรรมประเภทศาลเตี้ยไม่ดีนั้นมีนิดๆ แต่ก็แสนแผ่วเบา

ไม่ว่าผลทางกฎหมายจะเป็นแบบไหน ป้ากลายเป็นวีรสตรีแห่งชาติไปแล้ว ยกเว้นกลุ่มแม่ค้าถ่ายคลิปหรือคนเดินตลาดที่บอกว่าป้าเยอะ ทั้งที่ป้าพูดชัดมากเรื่องซื้อบ้านในหมู่บ้านแพงๆ เพื่อแลกความสงบ แต่จู่ๆ ก็มีคนสร้างตลาดนัดล้อมบ้าสามทิศ จนเกิดปัญหาจราจรและรบกวนชีวิตมากมาย

ข่าวป้ามือขวานดังเพราะมีคนเจอปัญหาแบบนี้เยอะ โดนกักในบ้านตัวเองก็มี เอารถออกจากห้างไม่ได้ก็มาก หลายคนเคยอยู่ในสถานการณ์ที่กฎหมายไม่ช่วยอะไร และคนไม่น้อยอยากทำคล้ายป้า แต่ไม่ได้ทำ

 

ในกรณีข่าวป้ามือขวาน หรือ ‘ป้ารามสูร’ (ชื่อ-นามสกุลจริง บุญศรี แสงหยกตระการ) มีประเด็นอย่างน้อย 3 เรื่องที่ต้องคุยกัน

 

เรื่องแรกคือการเติบโตของตลาดนัดกับการขยายตัวของเมือง เรื่องที่ 2 คือความขัดแย้งด้านการใช้พื้นที่ของคนแต่ละกลุ่ม และเรื่องที่ 3 คือกรุงเทพมหานครกับความล้มเหลวในการสร้างกติกาใช้พื้นที่ให้ยุติธรรม

ใครๆ ก็รู้ว่าตลาดนัดแบบที่ทำป้ามือขวานยุ่งนั้นมีทั่วประเทศไทย เฉพาะกรุงเทพฯ ในปี 2557 มีตลาด 351 แห่ง แบ่งเป็นตลาดในเขตที่ผังเมืองจัดเป็นเขตที่อยู่อาศัย 110 แห่ง และเขตชานเมือง 59 แห่ง ส่วนปี 2558 จำนวนตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 364 แห่ง โดยอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยและเขตชานเมือง 108 และ 65 แห่งตามลำดับ

 

 

แน่นอนว่าจำนวนตลาดที่เป็นทางการในกรุงเทพฯ ต้องต่ำกว่าข้อมูลจริงที่กรุงเทพฯ มีตลาดนัดสัญจรหรือไม่ได้ขออนุญาตเยอะมาก เปิ้ลมาร์เก็ต, ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดอื่นที่ล้อมรอบบ้านป้ามือขวานนั้นไม่มีใบอนุญาตทำตลาดและก่อสร้างอาคารด้วยซ้ำ ถึงแม้บางแห่งจะดำเนินการมาเกือบสิบกว่าปีแล้วก็ตาม

จำนวนตลาดในกรุงเทพฯ ชี้ชัดว่า มีการขยายตัวของตลาดในเขตที่อยู่อาศัยและเขตชานเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ และตลาดกับผู้อยู่อาศัยที่อยู่มาก่อนต้องแย่งชิงการใช้สอยพื้นที่เดียวกันแน่ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งจึงมีเยอะ ไม่ว่าตลาดจะได้รับใบอนุญาตหรือไม่ก็ตาม

 

คนกรุงเทพฯ อยู่ในอภิมหานครที่ขยายตัวโดยวางกับระเบิดของความขัดแย้งประเภทจอดรถขวางทางเข้าออก จราจรติดขัด เสียงดัง ไฟตลาดรบกวนตอนดึก ตั้งแผงหน้าบ้านคนอื่น ฯลฯ เต็มไปหมด ความคับข้องแบบป้ามือขวานคือวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในหมู่คนเมืองจำนวนมากที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
คนบางกลุ่มคอมเมนต์ว่า ป้าน่าจะยอมๆ แต่ความขัดแย้งเรื่องนี้มีแรงขับทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนจนการยอมคือการที่ป้ากับคนแบบป้าจะเจอปัญหาไม่รู้จบ เหตุผลคือตลาดนัดเป็นการพัฒนาที่ดินเขตชานเมืองที่ลงทุนแค่ 200,000 ก็ทำได้ และการผลักต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนให้ชุมชนคือต้นเหตุให้ป้าเดือดร้อนขึ้นมา

เจ้าของตลาดทุกคนรู้ว่ากฎข้อแรกในการทำตลาดคือหา ‘ทำเล’ ซึ่งไม่ไกลชุมชน แต่ยิ่งที่ดินใกล้ชุมชน ราคาก็ยิ่งแพงจนตลาดจะมีต้นทุนสูงไปด้วย ผลก็คือเจ้าของบางคนคิดว่าเอาที่ไปทำแผงหากำไรดีกว่าทำที่จอดรถแน่ๆ ส่วนลูกค้าก็ไปจอดตามถนนและซอยของชุมชน ซึ่งกลายเป็นที่จอดรถโดยตลาดไม่ต้องลงทุน

คนที่ตามข่าวป้ามือขวานทุกคนรู้ว่าป้าหยวนๆ และอดทนมาแล้วเกือบสิบปี การยอมแก้ปัญหาจากแรงขับทางเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ได้ และยิ่งยอมยิ่งเท่ากับจำนนให้การถูกเอาเปรียบต่อไป

ทันทีที่ป้าไม่ยอม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเผชิญหน้ากับตลาดซึ่งมีเงินหมุนเวียนจากผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าของที่, คนเช่าแผง, เด็กส่งของ ฯลฯ และหากข้อมูลนักพัฒนาตลาดบางท่านถูกว่า ตลาดนัดควรมีพื้นที่อย่างน้อย 2 ไร่ และแผงราวๆ 150-200 ก็เท่ากับป้าเสี่ยงถูกคนอย่างน้อย 500-600 คนมองว่าขวางการทำมาหากิน

ถึงจุดนี้ ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ก็เป็นความขัดแย้งระหว่างคน หนักกว่านั้นคือป้าเจอคู่กรณีซึ่งแย่งชิงพื้นที่จากชุมชนไปค้ากำไร โดยไม่มีความคิดเรื่องอยู่ร่วมกับชุมชนด้วย ทางเลือกที่เศรษฐกิจตลาดนัดให้คนแบบป้าจึงมีแค่ 4 ข้อคือ โวย, อยู่แบบเก็บกด, เปลี่ยนบ้านเป็นตลาด และขายบ้านหนี ซึ่งทั้งหมดบัดซบเท่ากัน

มนุษย์ที่มีสมองรู้ว่ารัฐเกิดเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งแบบนี้ ตลาดนัดกับชุมชนชานเมืองที่ไม่มีเรื่องกันก็มี ตลาดในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ในตรอกแคบๆ ก็เยอะ และจริงๆ ชุมชนต้องการตลาดเพื่อลดต้นทุนด้านอาหาร ส่วนตลาดก็อยากให้ชุมชนเป็นลูกค้าถาวร ทั้งสองฝ่ายจึงมีมิติที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

คำถามคือ ทำไมรัฐไม่แทรกแซงอะไรในเรื่องที่ต้องทำเพื่อบริหารพื้นที่ให้เกิดความยุติธรรม?
ในเวลานี้เรื่องเล่าที่พูดกันเยอะคือ ตลาดเจ้าปัญหาแห่งหนึ่งมีเจ้าของเป็นสุภาพสตรีสกุลเจียรวนนท์ จากนั้นก็เชื่อมโยงว่ารัฐมนตรีเพื่อไทยสัมพันธ์กับสุภาพสตรีท่านนี้ ถัดไปคือการตั้งประเด็นว่า กทม. และสำนักงานเขตรับเงินจนอยู่ใต้อิทธิพลนักการเมืองกับ ‘เจ้าสัว’ จนไม่ทำอะไร

 

อย่างไรก็ดี คำอธิบายนี้มีปัญหา 4 ข้อ ข้อแรกคือบุคคลในข่าวมีชื่อพัวพันตลาดแห่งเดียว ขณะที่ตลาดเจ้าปัญหามีทั้งหมด 4 แห่ง, ข้อ 2 คือไม่มีใครรู้สถานภาพระหว่าง ‘นักการเมือง’ กับสุภาพสตรีท่านนั้นช่วงที่มีชื่อพัวพันตลาด, ข้อ 3 คือยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเขตรับสินบนจากเจ้าของตลาดรายไหน และข้อ 4 คือเป็นไปได้หรือที่นักการเมืองผู้ถูกทหารดำเนินคดีซ้ำซากจะมีอิทธิพลเหนือ กทม. ยุคที่ผู้ว่ามาจาก คสช.?

การลงโทษข้าราชการที่ปล่อยปละละเลยให้ป้าโดนรังแกนั้นจำเป็น แต่ระบบบริหารพื้นที่กรุงเทพฯ ต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ความทุกข์ของป้ามือขวานสะท้อนว่าปล่อยข้าราชการคุมพื้นที่ไม่ได้ และสิ่งที่ต้องทำคือให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจากการเลือกตั้งหรือประชาชนทำหน้าที่นี้อย่างที่หลายประเทศทำ

ตลาดที่ควรเป็นท่ามกลางเมืองที่ขยายตัวคือตลาดที่มีทุกอย่าง แต่ไม่ใหญ่จนคุกคามวิถีชีวิต ส่วนประชาชนต้องมีอำนาจกำกับให้เจ้าของตลาดต้องจ่ายต้นทุนประเภทที่จอดรถ, ระยะห่างจากบ้านเรือน, เวลาขึ้นของ ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

ป้ามือขวานผิดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม แต่ปฏิกิริยาของสังคม เรื่องนี้สะท้อนความไม่พอใจการบีบคั้น ซึ่งตลาดและ กทม. ทำกับป้ากว่าหนึ่งทศวรรษ ยิ่งกว่านั้นคือความคับแค้นร่วมเรื่องพื้นที่ ซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมด โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเย้ยให้ป้าขายบ้านหนีผู้คุกคาม

ไม่มีใครผิดในเรื่องนี้ หากเราพัฒนาเมืองโดยความเป็นธรรมและความเป็นคน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising