“ฉันจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แค่นี้หรอก” เสียงในหัวของตัวละครที่ดังขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับเสียงหัวใจเต้นตึกตักของคนที่นั่งเฝ้าหน้าจออยู่ทางนี้
“รับลูกยิงนี้ไปซะ! ไดรฟ์ชู้ต!!!”
แล้วภาพก็ตัดไปที่เสียงในหัวของตัวละครอีกตัวที่ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน พร้อมกับแฟลชแบ็กย้อนเวลาไปถึงเรื่องราวในอดีต ก่อนที่เวลาจะหมดและจบตอน…(ฮ่า)
เกริ่นมาแบบนี้ คุณผู้อ่านหลายคนน่าจะรู้แล้วนะครับว่าเรากำลังคุยกันถึงเรื่องของมังงะ (การ์ตูน) ลูกหนังอันดับหนึ่งตลอดกาลของโลก キャプテン翼 หรือ กัปตันซึบาสะ ที่อยู่คู่กับโลกฟุตบอลมายาวนานกว่า 40 ปี และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เกมลูกหนังได้อย่างน่ามหัศจรรย์
ด้วยปีก ท้องฟ้า และหัวใจของตัวละครทุกคนในเรื่อง
ท่ามกลางมังงะฟุตบอลมากมายบนโลกใบนี้ที่เคยเป็นที่รักและผูกพันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Shoot!, Viva Calcio, J-Dream หรือมังงะสมัยใหม่อย่าง Blue Lock และ Aoashi แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นสำหรับใครหลายคนที่ทำให้ค่อยๆตกหลุมรักในเกมฟุตบอลย่อมหนีไม่พ้น “กัปตันซึบาสะ”
เพราะนี่คือเรื่องราวของเกมฟุตบอลที่บริสุทธิ์ ซื่อตรง ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน
แค่เรื่องราวของเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งที่ต่างหลงรักในเกมฟุตบอล ใช้ความฝันนำทาง พบพานมิตรแท้ และพยายามอย่างถึงที่สุด ไม่ยอมแพ้แม้ว่าจะต้องประสบพบเจอกับอุปสรรคใดๆก็ตาม
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวของความรักที่บริสุทธิ์ ใสๆไม่มีอะไรเจือปน
โดยที่เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดจากการตกหลุมรักและความหลงใหลของศิลปินผู้ให้กำเนิดเรื่องราวอย่าง โยอิจิ ทาคาฮาชิ ซึ่งมีโอกาสได้ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 1978 ที่ประเทศอาร์เจนตินา จนไม่อาจถอนตัวจากเกมลูกกลมๆที่ผู้เล่น 22 คนในสนามต้องพยายามเอาชนะอีกฝ่ายด้วยการยิงประตูฝั่งตรงข้ามให้ได้
รักแรกพบครั้งนี้ทำให้อาจารย์ทาคาฮาชิ ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะวาดมังงะของฟุตบอลหรือ “ซักก้า” (サッカー) ให้ได้เพื่อให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักเผื่อว่าจะตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้ไปด้วย
นั่นเพราะสำหรับชาวเมืองอาทิตย์อุทัยแล้ว กีฬาที่เป็นเหมือนกีฬาประจำชาติของพวกเขาคือเบสบอล และฟุตบอลของญี่ปุ่นในยุค 1970 นั้นเป็นกีฬารองที่อยู่ห่างไกลจากความนิยมแบบสุดกู่ ญี่ปุ่นยังไม่มีลีกฟุตบอลอาชีพที่แท้จริง ทีมฟุตบอลยังเป็นทีมขององค์กรธุรกิจที่คอยจ่ายเงินสนับสนุนให้อยู่เลย
แต่กว่าที่ไอเดียนี้จะได้รับการตอบสนองจากกองบรรณาธิการของนิตยสาร Shonen Jump อ.ทาคาฮาชิต้องใช้ความอดทนและมุ่งมั่นอย่างมากถึง 3 ปี ในการจะทำให้กองบรรณาธิการยอมให้โอกาสที่จะวาดมังงะที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้
เพราะพล็อตของเรื่องราวไม่ได้อิงจากนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์คนไหน ไม่มีความดราม่าให้ขาย ไม่มีความเข้มข้น เป็นแค่เรื่องราวของโอโซระ ซึบาสะ เด็กประถมคนหนึ่งที่หลงรักเกมฟุตบอลและถึงจะมีพรสวรรค์สูงส่งอย่างน่ามหัศจรรย์ก็ไม่เคยลดละความพยายามเลย
ใครจะอยากอ่านเรื่องของเด็กประถมอายุ 11 ขวบกัน?
ปรากฏว่าเรื่องนี้จริง! เพราะหลังจากที่เปิดตัวในปี 1981 ได้แค่ 3 ตอนคะแนนความนิยมของกัปตันซึบาสะไหลไปไกลถึงอันดับที่ 13 ในทำเนียบการจัดอันดับคะแนนความนิยมของ Jump
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับ Jump เป็นอย่างดีจะเข้าใจว่าเรื่องนี้มีความสำคัญแค่ไหน แต่ขออนุญาตอธิบายเผื่อสำหรับคนที่อาจจะไม่เข้าใจว่า ปกติแล้วนิตยสารการ์ตูนนี้จะมีเกณฑ์ง่ายๆ ที่จะตัดสินว่ามังงะเรื่องไหนจะได้ไปต่อด้วยการดูจากอันดับคะแนนนิยมที่มาจากการส่งเข้ามาโหวตของแฟนนิตยสาร (สมัยนั้นคือการส่งจดหมายตอบกลับมา)
ถ้ามังงะน้องใหม่เรื่องไหนคะแนนนิยมต่ำมากจะถูกตัดจบอย่างรวดเร็วแค่ 10 ตอนเท่านั้น เรียกว่าลิเกลาโรงตั้งแต่ยังไม่ทันไรเลย ซึ่งจบตอนที่ 3 กัปตันซึบาสะอันดับไหลไปไกลถึงที่ 13
และนั่นทำให้ตั้งแต่ตอนที่ 4 เป็นต้นไป อ.ทาคาฮาชิ ต้องหาวิธีที่จะทำให้กัปตันซึบาสะเข้าไปอยู่ในหัวใจของทุกคนให้ได้
สิ่งที่เติมเข้าไปนั้นนอกจากการตัดสินใจให้พบกับคู่แข่งที่เก่งกาจที่สุดอย่าง วากาบายาชิ เก็นโซ สุดยอดผู้รักษาประตู คือเรื่องลูกยิงมหัศจรรย์อย่างลูก “โอเวอร์เฮดคิก” หรือลูกยิงจักรยานอากาศ (ในอีกชื่อคือ Bicycle kick) ซึ่งเป็นเทคนิคการยิงประตูที่ยากที่สุด ซึ่งเป็นท่าที่ทุกคนจดจำได้จาก เปเล ราชาลูกหนังชาวบราซิล กับฉากในหนังฟุตบอลระดับตำนาน “Escape to Victory” ที่ออกฉายในปี 1981 เช่นเดียวกัน
ปรากฏว่าความทุ่มเทของอ.ทาคาฮาชิได้ผล คะแนนความนิยมของกัปตันซึบาสะพุ่งสูงขึ้น แฟนๆ เริ่มเปิดประตูหัวใจต้อนรับไม่ใช่แค่ซึบาสะ หรือวากาบายาชิ แต่รวมถึง ทาโร มิซากิ “คู่หูแข้งทอง” เพื่อนรักตลอดชีวิต จนสุดท้ายได้รับอนุญาตจากกองบรรณาธิการให้ “ไปต่อ”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งมังงะเรื่องนี้ได้อีกต่อไป โดยที่ “ท่าไม้ตาย” ของตัวละครในเรื่องกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ทุกคนหลงรักเรื่องนี้ เด็กๆ ต่างพยายามจะเลียนแบบให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น โอเวอร์เฮดคิก, ไดรฟ์ชู้ต (ซึบาสะ) , ไทเกอร์ช็อต (เฮียวงะ โคจิโร) , ลูกชิ่งคู่ขาแข้งทอง (มิซากิ), ลูกยิงใบมีดโกน (โซดะ), สกายแล็บชู้ต (พี่น้องทาจิบานะ)
เขียนถึงตรงนี้มีใครอยากยกมือสารภาพในใจว่าเคยลองทำมาแล้วบ้าง? (ผมก็คนหนึ่งละ)
โดยในเบื้องหลังแล้วอ.ทาคาฮาชิ ได้แรงบันดาลใจมาจากท่าไม้ตายของนักมวยปล้ำอาชีพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่โปรดปรานเช่นกัน จึงเอาไอเดียมาใช้ในเรื่องนี้ด้วยและได้ผลเป็นอย่างดี
สีสันนี้ได้ถูกใช้เคียงข้างไปกับการถ่ายทอดสิ่งดีๆอย่างเรื่องของมิตรภาพ การเปลี่ยนความลุ่มหลงให้เป็นพลัง หรือความมานะพยายาม ผ่านการฝึกฝนของตัวละคร หรือการไม่ย่อท้อเมื่อเจอคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่า
ความนิยมพุ่งของกัปตันซึบาสะพุ่งสูงเหมือนติดปีกบินขึ้นท้องฟ้า ถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชัน (หรืออนิเมะ) ที่แม้จะถูกแซวว่ายืดและยาวจนเกินเหตุ กว่าจะเลี้ยง กว่าจะยิง กว่าจะคุยกันเสร็จก็จบตอนพอดีต้องรอตอนต่อไป แต่เด็กทุกคนในยุคสมัยนั้น และยุคสมัยต่อมาพร้อมที่จะอดทนเฝ้ารอตอนต่อไปของกัปตันซึบาสะเสมอ
เพราะเราอยากรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป เราจะได้ดูท่าไม้ตายที่เหนือจินตนาการของใครอีกบ้าง ต่อให้เราจะรู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะในตอนจบก็ตาม
ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นตรงนี้เอง เพราะกัปตันซึบาสะไม่ได้รับความนิยมเพียงแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เรื่องราวของโอโซระ ซึบาสะ เด็กหนุ่มผู้มีลูกฟุตบอลเป็นเพื่อนได้ขยายวงกว้างไปไกลทั่วทั้งโลก
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญหรือโชคชะตาเสียทั้งหมดครับ
อย่างแรกถึงแม้ฉากของเรื่องจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ตัวละครเป็นชาวญี่ปุ่น แต่เพราะฟุตบอลคือภาษาสากล ทุกคนเข้าใจเรื่องราวของซึบาสะได้อย่างง่ายดาย
ตัวละครในเรื่องนั้นต่างมีที่มาที่ไป มีเรื่องราวและเรื่องเล่าในแบบของตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะตัวเด่นอย่างซึบาสะ ที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ในระดับฟ้าประทาน ชีวิตที่เพียบพร้อมทั้งครอบครัวและครูบา (คนประสิทธิ์ประสาทวิชาให้คือสุดยอดนักเตะอย่างโรแบร์โต ฮอนโง เป็นเพื่อนของพ่อที่เป็นนักบินเฉยเลย) แต่ยังมีคนที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมอย่าง ฮิวงะ โคจิโร ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก และเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ไม่สามารถยอมแพ้ต่อใครได้ทั้งนั้น
หรือแม้แต่ตัวละครรองอย่าง อิชิซากิ เรียว เพื่อนคนแรกๆ ของซึบาสะก็เป็นตัวแทนของคนธรรมดาที่มีความพยายาม ต่อให้ไม่ได้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์เหมือนคนอื่นแต่ก็มีใจรักและเป็นนักสู้ เอาหน้าบล็อกลูกบอลก็เป็นท่าประจำตัวได้ (แม้ว่าในปัจจุบันเรื่องการกระทบกระเทือนทางสมองจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ไม่ควรเอาอย่างก็ตาม)
ความหลากหลายของตัวละครนั้นทำให้คนอ่านนอกจากจะเอาใจช่วยแล้ว ในบางครั้งเรายังมองเห็นตัวเราเองในพวกเขาเหล่านั้นเหมือนกัน
นอกจากนี้ตัวละครมากมายในเรื่องที่ซึบาสะและผองเพื่อนต้องเผชิญนั้นมีพื้นเพที่หลากหลาย ไม่เฉพาะแค่ในญี่ปุ่น ซึ่งมีตัวละครจากจังหวัดต่างๆที่ร่วมแข่งขันในระดับประเทศ เช่น มัตซึยามะ ฮิคารุ เจ้าของลูกยิง “อีเกิลส์ช็อต” ก็มาจากจังหวัดฮอกไกโด
หรือในภาคการแข่งขันฟุตบอลยุวชนโลกที่ต้องเจอคู่แข่งที่เก่งกาจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฮวน ดิอาซ (ต้นแบบจากดีเอโก มาราโดนา), เอลซิด ปิแอร์ (ต้นแบบจากมิเชล พลาตินี), คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ (ต้นแบบจากคาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก) ก็มาจากสุดยอดนักเตะประเทศต่างๆ
นอกจากนี้อาจารย์ก็เคยนำนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์หลายคนมาเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เช่น ริวาอุล (ริวัลโด), นาตูเรซา (โรนัลโด เด ลิมา) เป็นต้น
แม้กระทั่งในไทยก็มีตัวละครด้วยเหมือนกันอย่างพี่น้องกรสวัสดิ์ และกัปตันจอมแกร่ง บุญนาค สิงห์ประเสริฐ ซึ่งแม้จะมีการคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าถอดต้นแบบมาจากใครแต่อ.ทาคาฮาชิ มาเฉลยในเวลาต่อมาว่าเป็นตัวละครที่สร้างจากกีฬาเด่นของไทยอย่างตะกร้อและมวยไทยเท่านั้น
สิ่งนี้ทำให้สามารถ “ตก” แฟนๆไม่เพียงแค่ทั่วญี่ปุ่น แต่จากทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาล เพราะความผูกพันของท้องถิ่นเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของเกมฟุตบอลทั่วโลก
โดยที่ทั้งคนอ่านพร้อมที่จะเติบโตไปด้วยกันกับตัวละครในเรื่องด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากมีการเติบโตจากทีมระดับยุวชนสู่การเป็นทีมชาติ ไปสู่ก้าวต่อไปในการเล่นฟุตบอลสโมสรอาชีพ
สายใยที่เกิดขึ้นระหว่างกันนั้นประเมินค่าไม่ได้ เพราะสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือการเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กทั้งโลก
ในญี่ปุ่นกระแสความคลั่งไคล้ในเกมฟุตบอลพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการเกิดขึ้นของซึบาสะ พวกเขาเริ่มมีลีกอาชีพครั้งแรก “เจลีก” ที่เกิดขึ้นในปี 1993 ทีมชาติญี่ปุ่นเปลี่ยนจากผู้อกหักในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 1994 มาสู่การได้เล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1998 และเริ่มมีนักฟุตบอลญี่ปุ่นบุกไปค้าแข้งในสโมสรฟุตบอลชั้นนำทั่วโลก
ขณะที่ในต่างประเทศก็มีเด็กๆ จำนวนมหาศาลที่ติดตามเรื่องราวไปด้วย ซึ่งเด็กๆ ที่เคยเฝ้าหน้าจอดูซึบาสะในวันนั้น ก็ค่อยๆ เติบโตกลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์ลูกหนังในเวลาต่อมา
ยกตัวอย่าง เช่น ซีเนอดีน ซีดาน, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร, เฟร์นานโด ตอร์เรส, อันเดรส อิเนียสตา หรือแม้แต่ ลิโอเนล เมสซี ก็เคยมีโอกาสได้พบกับอ.ทาคาฮาชิ เพื่อบอกว่า “ผมได้เล่นทีมเดียวกับซึบาสะด้วย” (ซึบาสะ เมื่อเติบโตขึ้นได้ย้ายมาเล่นให้บาร์เซโลนา)
นี่คือแรงกระเพื่อมที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่น่าเชื่อว่ามังงะฟุตบอลเรื่องหนึ่งจะไปได้ไกลถึงขนาดนี้
ซึบาสะยังสร้างแรงกระเพื่อมอีกมากมายทั้งในเชิงของเศรษฐกิจ ในฐานะหนึ่งในแฟรนไชส์กีฬาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของโลก หรือในเชิงวัฒนธรรมที่เป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์ฟุตบอลสุดแฟนตาซีที่ทุกคนรักอย่าง “Shaolin Soccer” (นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่)
ถึงวันนี้ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้อ.ทาคาฮาชิ ตัดสินใจที่จะยุติการเผยแพร่ผลงานในแบบฉบับมังงะแล้วตั้งแต่เมื่อปีกลาย แต่ยังคงถ่ายทอดเรื่องราวของซึบาสะและผองเพื่อนต่อไปในภาค “Rising Sun Finals” บนเว็บไซต์ Captain Tsubasa World ซึ่งมีการปรับลายเส้นเป็นภาพร่างง่ายๆ แต่ก็ยังเข้าถึงเรื่องได้ในแบบอารมณ์ที่แตกต่าง
เล่าถึงตรงนี้แล้วก็เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปด้วยกันเลยนะครับว่าไหม
จากเด็กที่เคยอ่านซึบาสะมือเปื้อนหมึกในวันนั้น ทุกคนเติบโตมาอย่างแตกต่างตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง
แต่คงไม่มีใครลืมเด็กผู้ชายผมชี้ที่มีรอยยิ้มกว้างสดใสเหมือนท้องฟ้าและลูกฟุตบอลที่ไม่เคยห่างตัวคนนั้น
เพราะนี่คือคนที่สอนให้เรารักฟุตบอลด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ฟุตบอลคือเพื่อนของเรา ใช่ไหมซึบาสะ?