×

แวดวงตลาดทุนจับตาใกล้ชิด หาก แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวันจริง อาจทำตลาดปั่นป่วนอีกครั้ง แต่หุ้นไทยส่อได้รับอานิสงส์ระยะสั้น

02.08.2022
  • LOADING...

จากกระแสข่าวที่ว่า แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา มีแผนจะเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงสัปดาห์นี้ แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ในมุมของตลาดการลงทุนดูเหมือนจะเริ่มให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้เกิดแรงเทขายออกมาในตลาดหุ้นฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีกราว 2% ในวันนี้ 

 

Sentiment เชิงลบต่อหุ้นจีน ฮ่องกง ไต้หวัน

มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริการการลงทุน บลจ.วรรณ มองว่า หากเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันจริง น่าจะเกิด Sentiment เชิงลบต่อตลาดในฝั่งของฮ่องกงและไต้หวัน ขณะที่จีนเองน่าจะไม่พอใจต่อประเด็นนี้ค่อนข้างแน่ 

 

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะแบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ทางการทูต 2. Sentiment การลงทุน และ 3. ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเอเชีย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือพัฒนาการของเหตุการณ์หลังจากนี้ 

 

“ก่อนหน้านี้ Fund Flow ไหลออกจากทุกประเทศ เพราะกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก่อนที่ Fund Flow จะเริ่มไหลกลับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้การไหลเข้าของเงินหยุดชะงัก ส่วนจะกลับเป็นไหลออกเลยหรือไม่คงต้องรอดู” 

 

หุ้นไทยอาจได้อานิสงส์ระยะสั้น

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการเดินทางครั้งนี้คงต้องรอดูว่าจะมีบทสรุปอย่างไร หากเป็นแค่การไปเยือนโดยไม่มีประเด็นทางเศรษฐกิจอะไรตามมา ก็คงจะไม่กระทบใดๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากประเด็นนี้ยังไม่ได้สะท้อนอยู่ในราคามากนัก ทำให้ตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ปรับตัวลดลงตอบรับกับความเสี่ยง

 

“ก่อนหน้านี้ตลาดลดความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไปถึงขั้นว่าจะเห็นการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าบางส่วน แต่หากสถานการณ์ออกมาตรงกันข้าม เช่น มีการตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาเพิ่ม อาจทำให้ตลาดไม่ทันตั้งตัว และกระทบต่อตลาดหุ้นรุนแรง” 

 

ในมุมของกระแสเงินลงทุนที่ไหลออกจากเอเชียเหนือ อาจมีบางส่วนที่ไหลเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นที่ยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ ในขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชียเหนือถูกเทขายออกมา

 

“หุ้นไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อาจได้อานิสงส์ทางอ้อมระยะสั้น แต่ทิศทางของ Fund Flow ที่ไหลกลับมาเอเชีย โดยหลักยังขึ้นกับค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มกลับมาอ่อน ขณะที่ความเสี่ยงเรื่อง Geopolitic ก็ยังไม่ได้ทำให้เงินดอลลาร์หยุดอ่อนค่า” 

 

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากเงินเยนของญี่ปุ่น ตราบใดที่เงินบาทยังไม่อ่อนค่ากลับไปอีก เชื่อว่าจะเห็นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตามทิศทางของค่าเงินต่อไป 

 

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจซ้ำเติมเงินเฟ้อ

 

ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเดินทางครั้งนี้อาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายด้านการทหารและความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นสัญญาณส่วนนี้บ้างแล้วจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น 

 

“เมื่อใช้เหตุผลด้านความมั่นคง ไม่ว่าแต่ละประเทศกำลังคุมเงินเฟ้ออยู่ ก็อาจจะเห็นการเพิ่มงบด้านความมั่นคงขึ้นมาได้ และประเด็นนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลากยาวต่อไปอีก” 

 

ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ นำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วย ทั้งจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับห่วงโซ่อุปทานใหม่ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจแย่ลง

 

นอกจากนี้ การเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงก็อาจจะไปหนุนให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก และย้อนกลับมาซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้ออีกครั้ง 

 

การเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซี หากเกิดขึ้นจริง ณัฏฐะมองว่า “กรณีเบาสุดอาจสร้างการติดขัดในช่องแคบไต้หวัน และนำไปสู่ปัญหาชิปขาดแคลนอีกครั้ง ส่วนตัวมองว่าการเดินทางเยือนไต้หวันเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น และเพิ่มความเสี่ยงภาวะ Stagflation” 

 

ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่อาจจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้น่าจะเป็นทองคำ หลังจากที่นักลงทุนเทขายออกมาก่อนหน้านี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่แน่ว่าครั้งหน้าในเดือนกันยายนอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของรอบนี้ที่ระดับ 0.5% และโดยส่วนตัวมองว่าจุดต่ำสุดของราคาทองคำรอบนี้ได้ผ่านไปแล้วในช่วงที่ราคาลดลงไปต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X