ที่ผ่านมาเราอาจไม่ค่อยได้เห็นช่างภาพกีฬามืออาชีพใช้กล้องยี่ห้อ Sony ในการถ่ายภาพกีฬาได้บ่อยนัก โดยตัวเลือกลำดับแรกๆ ของช่างภาพกีฬามืออาชีพส่วนใหญ่ จะเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Canon และ Nikon เท่านั้น แต่เมื่อเร็วๆ นี้ Sony ได้พัฒนาอาวุธชิ้นสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดกล้องคุณภาพสูงได้
อาวุธชิ้นนั้นของ Sony ก็คือ กล้องแบบ Mirrorless ที่มีจุดเด่นคือ การถ่ายภาพโดยไม่มีเสียงชัตเตอร์รบกวน เนื่องจากกล้อง Mirrorless ไม่มีกระจกสะท้อนภาพจากเลนส์ไปยังช่องมองภาพเหมือนอย่างกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว หรือกล้อง SLR แต่ใช้การแสดงภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ส่วนกล้องแบบ SLR มีเสียงชัตเตอร์ดัง จากการที่มีกลไกกระจกพลิกขึ้นเพื่อสะท้อนตัวภาพ แต่ก็แลกมากับการได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพสูงตามมา
ในปัจจุบันตลาดกล้องคุณภาพสูงนั้น แบรนด์ Canon และ Nikon มีส่วนแบ่งตลาดพอๆ กัน แต่หากวัดจากการแข่งโอลิมปิกเกมส์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าช่างภาพกีฬามืออาชีพใช้กล้อง Mirrorless ตระกูล Alpha ของ Sony เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด
Nikkei Asia รายงานว่า ช่างภาพบางคนต่างรู้สึกประหลาดในเมื่อมองกวาดสายตาเข้าไปในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปและพบว่า มีสัดส่วนช่างภาพมืออาชีพที่ใช้กล้อง Sony กว่า 20-30%
เนื่องจากในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์อย่างกีฬาโกลบอล (Goalball) สำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งนักกีฬาต้องใช้เสียงเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขัน ทำให้ช่างภาพส่วนใหญ่เลือกใช้กล้อง Mirrorless ของ Sony แทน เพราะกล้องแบบ SLR มีเสียงชัตเตอร์ดัง อาจรบกวนและสร้างความรำคาญให้กับนักกีฬาได้
นอกจากกีฬาโกลบอลแล้ว กล้อง Mirrorless ของ Sony ยังมีประโยชน์กับกีฬาที่ต้องใช้สมาธิสูง เช่น การแข่งขันกอล์ฟ ที่นักกีฬาต้องใช้สมาธิอย่างมากกับการสวิงในช่วงจังหวะสำคัญ
เดิมทีแล้วกล้อง Mirrorless ของ Sony ผลิตออกมาเพื่อจับกลุ่มลูกค้าช่างภาพมือใหม่เท่านั้น แต่ Sony ไม่ได้หยุดความทะเยอทะยานของตัวเองอยู่ตรงนั้น ได้ทำการส่งวิศวกรลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลฟีดแบ็กกับช่างภาพมืออาชีพทั่วโลก ซึ่งข้อมูลและฟีดแบ็กจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ช่วยให้ Sony สามารถพัฒนากล้อง Mirrorless ตระกูล Alpha ให้สามารถถ่ายภาพออกมาได้ในคุณภาพสูง มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเร็วในการประมวณผลข้อมูล และฟีเจอร์ต่างๆ อีกมากมาย
“ในตอนนี้ประสิทธิภาพของกล้อง Alpha แทบไม่ด้อยไปกว่ากล้องแบบ SLR แล้ว” มาซาอากิ โอชิมะ (Masaaki Oshima) รองหัวหน้าแผนกกล้องของ Sony กล่าว
นอกจากคำกล่าวของผู้พัฒนาเองแล้ว ผู้ใช้งานจริงอย่าง คาซึยูกิ โอกาวะ (Kazuyuki Ogawa) ช่างภาพอิสระที่เชี่ยวชาญการถ่ายภาพพาราสปอร์ต (กีฬาสำหรับผู้พิการ) ยังกล่าวว่า “กล้อง Alpha นี้ทำให้สามารถถ่ายภาพได้ในช่วงเวลาสำคัญที่ต้องการความเงียบ และถึงแม้ว่าในการแข่งขันจะเกิดความเคลื่อนไหวขึ้นมากมาย แต่กล้องก็ยังสามารถโฟกัสตัวบุคคลได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งภาพที่ถ่ายมาได้หลายๆ ภาพ จะถ่ายมาไม่ได้เลยถ้าไม่มีกล้อง Alpha”
นอกจาก Sony เองคู่แข่งอย่าง Canon และ Nikon ก็ยังไม่ได้ผ่อนแรงในตลาดกล้อง Mirrorless โดย Canon มีการให้ช่างภาพมืออาชีพยืม ‘กล้องรุ่นใหม่ที่ยังไม่เปิดวางขาย’ เพื่อใช้ถ่ายภาพในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ผ่านมาด้วย
แต่เส้นทางของกล้องเหล่านี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากการเข้ามาของสมาร์ทโฟนที่มีกล้องคุณภาพสูงเพียงพอกับการถ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ตลาดกล้องดิจิทัลหดตัวลงถึง 20% จากจุดสูงสุด และยอดขายของกล้อง Sony ก็ยังคงที่อยู่ราวๆ 4 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราคาของกล้อง Mirrorless มีการปรับสูงขึ้น ซึ่งสามารถช่วยพยุงกำไรของบริษัทกล้องต่างๆ ได้
ด้วยเหตุนี้เอง Sony จึงเน้นไปที่การพัฒนากล้องที่มีคุณภาพสูงมากๆ สำหรับใช้ในวงการกีฬา โดยในปี 2011 Sony เข้าซื้อบริษัท Hawk-Eye Innovations ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีเบื้องหลังในการถ่ายความเคลื่อนไหวต่างๆ และการถ่ายติดตามลูกบอลในวงการกีฬา
โดยเทคโนโลยีนี้ถูกใช้ในวงการกีฬาระดับโลกมากมาย ทั้งในการตัดสินเกมการแข่งขัน และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของผู้เล่น ยกตัวอย่างเช่น การแข่งขันกีฬาเบสบอลระดับโลกในอเมริกา Major League Baseball มีการใช้เทคโนโลยี Hawkeye ของ Sony โดยมีกล้องถึง 12 ตัว ในการดูองศาการหวดของนักกีฬาเบสบอลได้อย่างแม่นยำ ขนาดที่ว่าสามารถนำมาวิเคราะห์โครงสร้างร่างกาย หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวโครงสร้างกระดูก และลักษณะท่าทางการตี หรือขว้างลูกบอลเป็นฉากๆ ได้อย่างแม่นยำ
“เราจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพ และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลให้ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้นักกีฬาสามารถวิเคราะห์ และพัฒนาการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มความสนุกในการชมการแข่งขันของผู้ชมได้อีกด้วย” ทาโร ยามาโมโตะ รองประธานของ Hawkeye Asia Pacific กล่าว
อ้างอิง: