วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภาฯ แสดงความคิดเห็นต่อกรณีมาปรากฏตัวของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต่อรัฐสภา และการเเสดงวิสัยทัศน์ ณ ที่ประชุมใันวันที่ 5 มิ.ย. นี้ว่า แม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมา ท่านที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ต้องมาก็ได้ แต่จะเป็นความมหัศจรรย์อยู่ในที เพราะคนถูกเสนอชื่อ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะให้คนเลือกได้เห็นหน้าตาคนถูกเลือก โดยความเหมาะสมแล้วจึงควรที่จะมา เพราะถือเป็นการให้เกียรติต่อผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกมาด้วย ซึ่งหากบอกว่าไม่ว่าง แต่จะมาเป็นนายกฯ ก็ไม่รู้จะเสนอตัวมาทำไม เพราะวันข้างหน้าท่านมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาแห่งนี้ด้วย
ขณะที่การแสดงวิสัยทัศน์ อดีตประธานรัฐสภาฯ มองว่า แม้รัฐสภาไม่ได้มีการกำหนดไว้เช่นกัน แต่ถ้าจะแสดงวิสัยทัศน์ก็ไม่ได้ผิดกติกา และไม่มีข้อห้ามว่าต้องไม่แสดง การตีความว่าไม่ได้กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่าห้ามทำ แต่เมื่อมองประโยชน์ต่อทั้งผู้เลือกและประชาชนแล้ว มีแต่ข้อดี เพราะคนเลือกจะได้ฟังทัศนะว่าจะมาบริหารประเทศบ้านเมืองอย่างไร เข้าใจกติกาประชาธิปไตยแล้วหรือยัง อย่าเพิ่งไปกลัว เพราะทั้งการมาปรากฏตัวที่สภา และการแสดงวิสัยทัศน์ เสียงข้างมากอาจจะมีมติไม่ต้องแสดงก็ได้ ระบอบประชาธิปไตยมีทางออกให้ท่านอย่างสันติและไม่น่ากลัวเลย อย่าเพิ่งทึกทักไปก่อน เพราะคนเป็นผู้นำต้องพร้อมทุกสถานการณ์
เมื่อถามถึงกรณีการเสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง หัวหน้าพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า ในความเป็นจริงนั้น คนที่จะเป็นนายกฯ ควรจะสง่างาม มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ รธน. กำหนด พลเอก ประยุทธ์ มีข้อกังขาต่อคุณสมบัติหลายประการ ถ้าโหวตโดยไม่มีการชี้ชัด อาจจะทำให้ขัด รธน. หลายมาตรา
สำหรับสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งนั้น หากโหวตเลือกนายกฯ เป็นใครก็ไม่มีปัญหา เพราะ รธน. มาตรา 272 ก็กำหนดให้โหวตนายกฯ ได้ใน 5 ปีแรก แต่การโหวตให้ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะมีปัญหาทันที เพราะ รธน. มาตรา 114 วางหลักการเอาไว้ว่าห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ไปมีผลประโยชน์ขัดกัน
ข้อเท็จจริงนี้ชัดเจนมากว่า ส.ว. ชุดนี้ ยกเว้น 6 ผู้นำเหล่าทัพที่มาโดยตำแหน่ง ได้รับการเลือกโดยพลเอก ประยุทธ์ ที่เป็นหัวหน้า คสช. แล้วคนเหล่านี้ก็จะมาเลือกพลเอก ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีก ทั้งๆ ที่รู้มาตั้งแต่วันเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้ว แบบนี้ทำให้มองเห็นว่ามีลักษณะของการต่างตอบแทนอยู่หรือไม่ เคยมีกรณีการตัดสินของศาลฎีกาศาล รธน. ในข้อเท็จจริงที่คล้ายกันมาแล้ว เกรงว่าจะมีการฟ้องร้องกันในภายหลัง และไม่มีความสง่างามเลย
เมื่อถามถึงกรณีที่มี ส.ส. หรือ ส.ว. บางคน พยายามที่จะอธิบายด้วยการตีความ รธน. ให้เป็นประโยชน์ต่อพลเอก ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ อาทิ รัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือการพิจารณางบประมาณโดยรัฐสภา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า คนเหล่านี้กำลังทำตัวเป็น ‘ศรีธนญชัย’ ทำลายหลักการประชาธิปไตยสากล ถ้าจะปฏิบัติอย่างที่ว่าต้องแก้ รธน. ก่อน การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทำได้ แต่เสถียรภาพและความมั่นคงก็คงลำบาก และเสียงจากประชาชนเกินครึ่งที่สะท้อนผ่านเสียงผู้แทนฯ ไม่มีความหมายหรือ เพราะกำลังบอกว่าท่านไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่
ส่วนการให้ ส.ว. เข้ามาร่วมพิจารณางบประมาณ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่มีในกฎหมายฉบับใด ไม่มี รธน. ให้อำนาจ แม้ในอดีตจะมี แต่ รธน. ปี 2560 ต่างจาก รธน. ปี 2521 ที่ผู้ร่างเวลานั้น เขียนระบุไว้เลยว่าให้ ส.ว. ทำได้ ด้วยการมีกรรมการประชุมร่วมกัน แต่ รธน. ปี 2560 บทเฉพาะกาล เขียนให้ ส.ว. ทำได้กรณีเดียว คือให้มาเลือกนายกฯ ได้ 5 ปีเท่านั้น
สุดท้ายถ้าดันทุรังจะทำเรื่องนี้ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศาล รธน. ตีความ แต่โปรดระมัดระวัง พลังของประชาชนคงไม่ยอม ถ้าเป็นแบบนี้ประชาชนต้องออกมาขอแก้ รธน. ให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยแน่นอน ขออย่าดูถูกสติปัญญาประชาชน
“พรรคประชาชาติขอยืนหยัดหลักการ และสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน และทำงานเพื่อประชาชนเท่านั้น” วันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์