รัฐบาลแคนาดาประกาศเตรียมเก็บภาษี 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าประเภทอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มีคำสั่งให้เก็บภาษี 10% สำหรับอะลูมิเนียมบริสุทธิ์และอะลูมิเนียมผสมอัลลอยที่นำเข้าจากแคนาดา
การตอบโต้ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมระหว่างกัน โดยเป็นการดำเนินการภายใต้พื้นฐานความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่ทรัมป์มีคำสั่งเก็บภาษีอะลูมิเนียมนำเข้าจากแคนาดาเมื่อวันพฤหัสบดี (6 สิงหาคม) ที่ผ่านมา โดยเขากล่าวระหว่างปราศรัยที่รัฐโอไฮโอ อ้างเหตุผลการตัดสินใจว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ เนื่องจากผู้ผลิตอะลูมิเนียมแคนาดานั้นไม่รักษาสัญญาในการยุติการทุ่มตลาดสหรัฐฯ ด้วยอะลูมิเนียมที่มีราคาถูกกว่า
สำหรับการเก็บภาษีตอบโต้ของแคนาดานั้นจะเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน โดยเมื่อวันศุกร์ (7 สิงหาคม) คริสเตีย ฟรีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรีแคนาดา ระบุว่าการกระทำของผู้นำสหรัฐฯ นั้นไร้เหตุผลและไม่สามารถยอมรับได้ แต่ยืนยันว่าแคนาดาจะไม่ขยายประเด็นไปสู่สงครามการค้า แต่ก็จะไม่ยอมถอยเช่นเดียวกัน พร้อมให้คำมั่นว่าจะสู้กับสหรัฐฯ แบบ ‘ดอลลาร์ต่อดอลลาร์’
“ในช่วงเวลาที่เรากำลังต่อสู้กับโรคระบาดทั่วโลก ความขัดแย้งทางการค้าเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทุกคนต้องการ มันมีแต่จะส่งผลร้ายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งสองฝั่ง” ฟรีแลนด์ กล่าว
นอกจากนี้ เธอยังชี้ว่าคำสั่งของทรัมป์นั้นจะเป็นการทำร้ายตัวเอง เนื่องจากจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตและราคาขายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้อะลูมิเนียม เช่น เบียร์กระป๋อง เครื่องไฟฟ้าและรถยนต์ มีราคาสูงขึ้น
“ภาษีเหล่านี้จะทำร้ายผู้บริโภคชาวอเมริกันและทำร้ายแรงงานอเมริกัน ชาวอเมริกันคนใดที่ซื้อเบียร์กระป๋อง โซดา รถยนต์หรือจักรยาน จะได้รับผลกระทบ” ฟรีแลนด์ กล่าว พร้อมยืนยันว่าอะลูมิเนียมจากแคนาดาไม่มีทางเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และชี้ว่าอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ในสหรัฐฯ รวมถึงอุตสาหกรรมทางการทหารนั้น ล้วนต้องพึ่งพิงอะลูมิเนียมจากแคนาดา
สำหรับการสั่งเก็บภาษีครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ทรัมป์พุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเหล็กของแคนาดา โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 สหรัฐฯ ก็เคยประกาศเก็บภาษีอะลูมิเนียมจากแคนาดา 10% และเก็บภาษีเหล็กแคนาดาอีก 25% และให้เหตุผลความกังวลต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: