วานนี้ (20 มิถุนายน) รัฐบาลแคนาดาออกคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัทต่างๆ นำเข้าหรือผลิตถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งภายในสิ้นปีนี้ และจะห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวภายในสิ้นปีหน้า ก่อนที่จะสั่งห้ามการส่งออกทั้งหมดภายในสิ้นปี 2025
คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 6 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 1. ถุงก๊อบแก๊บ 2. ช้อน-ส้อม-มีดพลาสติก 3. บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากโฟมหรือพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยาก 4. ห่วงแพ็กกระป๋องน้ำ (Six Pack Rings) 5. แท่งคนเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติก และ 6. หลอด
สตีเวน ไกล์บิอูลต์ (Steven Guilbeault) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดา กล่าวว่า “รัฐบาลของเราเต็มที่กับการบรรเทาปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก…นี่ถือเป็นก้าวย่างแห่งประวัติศาสตร์ในการเอาชนะปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ชุมชน แผ่นดิน และมหาสมุทรของเราสะอาดและปลอดภัย”
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า รัฐบาลแคนาดาจะเริ่มแบนการจำหน่ายพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในเดือนธันวาคม 2023 และห้ามการส่งออกพลาสติกทั้ง 6 ชนิดภายในสิ้นปี 2025 ฉะนั้นในช่วงเวลาที่เหลือนี้ภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวและลดซัพพลายพลาสติกที่มีอยู่ในมือลง โดยข้อมูลทางสถิติของรัฐบาลระบุว่า แคนาดามียอดการใช้งานถุงก๊อบแก๊บมากถึง 1.5 หมื่นล้านถุงต่อปี และมีการใช้หลอดกว่า 16 ล้านหลอดต่อวัน
อนึ่ง รัฐบาลแคนาดาได้ขึ้นทะเบียนให้พลาสติกรวมอยู่ในกลุ่มสารที่มีพิษ ภายใต้กฎหมาย Canadian Environmental Protection Act เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งปูทางไปสู่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อแบนการใช้งานพลาสติกบางชนิด อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกได้รวมตัวกันฟ้องร้องรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีกันในช่วงหลังของปีนี้
หากมองจากภาพรวมทั้งโลกแล้ว ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาโลกของเราผลิตพลาสติกไปแล้วกว่า 8.3 พันล้านตัน ซึ่ง 60% ของพลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งตามแหล่งต่างๆ ก่อนที่จะแตกตัวปนเปื้อนลงในมหาสมุทรและแม่น้ำลำคลอง โดยล่าสุดนั้นนักวิจัยพบอนุภาคไมโครพลาสติกขนาดจิ๋วในหิมะที่เพิ่งตกใหม่ๆ ในทวีปแอนตาร์กติกาเป็นครั้งแรก ชี้ให้เห็นว่าปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก จนแม้แต่ภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลสุดขอบโลกยังได้รับผลกระทบ
แฟ้มภาพ: Gerard Bottino/SOPA Images/LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: