×

Camping 101 เข้าคอร์สวิชาแคมป์ฉบับเตรียมตัวลุยกับ Camp Studio

27.08.2020
  • LOADING...
วิชา Camping 101

หาข้อมูลเท่าไรก็ไม่เจอหลักฐานที่เอามายืนยันได้แบบชัดๆ ว่าเทรนด์การออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง อยู่กับธรรมชาติ หรือที่เรียกทับศัพท์กันสั้นๆ ว่าแคมปิ้ง (Camping) เริ่มได้รับความนิยมในบ้านเราเมื่อไร รู้ตัวอีกทีคนรอบตัวเราหลายๆ คนก็ได้กลายเป็นชาวแคมป์โดยสมบูรณ์ไปแล้ว

 

ลืมภาพความลำบากของการกางเต็นท์นอนในป่าแบบที่เคยเข้าใจไปก่อนได้เลย เพราะสมัยนี้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกดีไซน์สวยๆ ให้เลือกพกติดตัวไปใช้ได้จนอยู่สบายไม่ต่างจากการไปปิกนิกในสวนสาธารณะกับครอบครัว

 

เต็นท์ที่เคยเห็นกันบ่อยๆ ในรูปทรงหรือสีที่คล้ายๆ กันก็กลายเป็นมีตัวเลือกมากขึ้น เก้าอี้สนาม แก้วน้ำ กระติกน้ำ เตาแก๊สพกพา กลายเป็นของที่หาซื้อได้ง่าย หรือแม้กระทั่งตะเกียงไฟที่เคยราคาสูงก็พบเห็นได้ทั่วไปตามโซเชียลมีเดียต่างๆ นั่นคงเป็นเหตุผลที่ใครหลายคนเลือกใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับกิจกรรมนี้มากขึ้น

 

แต่หากคุณเป็นคนที่อยากลองสัมผัสกับความชิลแบบนี้ แต่ยังมีความกังวลหรือมีรายละเอียดบางอย่างที่ยังสงสัยอยู่ เราบุกไปถึงเบสแคมป์ของ Camp Studio สตูดิโอที่นำเข้าแบรนด์ไลฟ์สไตล์เอาต์ดอร์คุณภาพนับสิบแบรนด์จากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้พวกเขาแนะนำเรื่องการเตรียมตัว การเลือกซื้ออุปกรณ์ รวมไปถึงความรู้เบื้องต้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจและความกล้าให้มากขึ้น

 

มาเข้าคลาสด้วยกันแล้ว ลองหาวันว่างที่ตรงกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวของคุณสัก 2-3 วัน แล้วลุยเลย

 

เที่ยวป่าแบบไหน เรียกว่าอะไรบ้าง

เราทุกคนรู้ว่าการเดินป่าคือการเที่ยวป่า แต่รู้หรือไม่ว่าการเดินป่าตั้งแคมป์ก็แบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกหลายประเภท

 

 

ไฮกิ้ง (Hiking) 

เป็นการเดินเข้าไปในเส้นทางธรรมชาติแบบเช้าเย็นกลับ ไม่ตั้งแคมป์ค้างคืน ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์เยอะ มีแค่รองเท้าเดินสบายสักคู่กับหมวกไว้บังแดดสักใบก็ไปไฮกิ้งได้แล้ว 

 

 

เทร็กกิ้ง (Trekking)

ต่างกับไฮกิ้งที่เป็นการเดินป่าในระยะทางที่ไกลกว่า เข้าไปตั้งแคมป์ค้างคืน และด้วยเหตุผลที่ต้องค้างคืน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงระหว่างเตรียมตัวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะทาง น้ำหนักอุปกรณ์ สภาพพื้นที่ หรือสภาพอากาศ แต่ถ้าการเทร็กกิ้งในครั้งนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการพิชิตยอดเขา เดินทางระยะไกล ท่ามกลางอากาศที่บางเบา และใช้เวลาหลายวันหรือเป็นเดือนจะเรียกว่าเมาเทนเนียริ่ง (Mountaineering)

 

 

แคมเปอร์แวน (Campervan)

การตั้งแคมป์กับรถที่ถูกดัดแปลงให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ชุดครัว ที่นอนอยู่ติดกับตัวรถ หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็เป็นการแคมป์กับตัวรถในลักษณะที่เหมือนกับรถนั้นคือบ้าน (บางคนอาจจะรู้จักในวิถีชีวิตที่เรียกว่า Vanlife) แต่ในประเทศไทยอาจจะมีตัวเลือกไม่มากนัก นอกจากลานกางเต็นท์ของเอกชนที่สามารถนำรถไปจอดในพื้นที่ได้เลย

 

 

คาร์แคมป์ (Car Camp)

การขับรถเพื่อไปตั้งแคมป์ ปักหมุดกางเต็นท์บริเวณไม่ห่างจากรถมากนัก คล้ายกับการปิกนิก สามารถนำสิ่งของติดตัวไปเท่าที่จะบรรจุใส่รถได้ ไม่ว่าสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ตาม โดยจะจอดรถไว้ในพื้นที่จอดรถ แล้วนำอุปกรณ์ไปตั้งแคมป์ในจุดที่ต้องการอีกที เป็นลักษณะของการแคมปิ้งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการตั้งแคมป์

 

  

เช็กลิสต์ของ 5 อย่างที่ควรเตรียมก่อนไปคาร์แคมป์ โดย ปุริม ไกรยา Camp Studio  

 

เต็นท์ – “อย่างแรกต้องมีเต็นท์ก่อนครับ เพราะเต็นท์เป็นเหมือนบ้านที่เราจะไปใช้ชีวิตอยู่กับมัน วิธีการเลือกเต็นท์ก็อยากให้เริ่มจากการคิดถึงจำนวนคนก่อนว่านอนกี่คน พอรู้แล้วมันจะตามมาด้วยขนาดเอง ถ้าบางคนไม่ต้องการเต็นท์ใหญ่ เพราะไม่อยากเสียเวลากางนาน ก็ใช้เต็นท์ที่เล็กลงหน่อย ส่วนเรื่องกันน้ำไม่ต้องห่วง มาตรฐานของเต็นท์จะกันน้ำอยู่ประมาณ 600-800 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่สถิติฝนบ้านเราล่าสุดอยู่แค่ 300 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวครับ 

 

“หลังจากได้ไซส์แล้ว อีกชอยส์ที่ต้องเลือกคือวัสดุ ซึ่งมีให้เลือกสองแบบ แบบแรกคือคอตตอนที่ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับเมืองร้อนบ้านเรา แต่ตัวเลือกน้อย เพราะมีแค่ไม่กี่แบรนด์ที่ทำออกมา แล้วต้องมีความรู้เรื่องการดูแลด้วย อีกประเภทเป็นพียู (Polyurethane) ที่ดีไซน์มาใช้กับสภาวะฝนตกหนัก ถ้าชอบเที่ยวหน้าฝนก็เลือกพียู ถ้าหน้าร้อนก็แนะนำเป็นคอตตอนครับ”

 

แผ่นรองนอน – “มีบ้านแล้วต้องมีที่นอนด้วยครับ ที่นอนก็จะมีให้เลือก 3 แบบ แบบแรกเป็นแผ่นรองนอน ข้อดีคือเล็ก พับเก็บง่าย ใส่เป้ได้ สองคือเตียงนอน สบายกว่า ไม่ว่าจะไปแคมป์ที่ไหน นอนบนเตียงจะไม่รู้สึกเลย และแบบสุดท้ายคือแผ่นรองนอนแบบใหม่ที่หนาขึ้นมาหน่อย ต่างจากแผ่นรองนอนข้อแรกคือพับแล้วยังใหญ่อยู่ ต้องใช้สเปซในการเก็บบนรถเยอะกว่า” 

 

 

ไฟ – “บ้านทุกบ้านต้องมีไฟ มีแสงสว่างครับ ไม่มีไฟนี่อยู่ลำบากเลย ดีที่เดี๋ยวนี้มีทางเลือกเยอะ สมัยก่อนเขาจะใช้ตะเกียงน้ำมันหรือแก๊ส แต่มันมีข้อต้องระวังเยอะ เพราะการใช้เชื้อเพลิงอาจจะไม่ปลอดภัยถ้าไม่เคยใช้มาก่อน แต่ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป มีไฟหน้าตาเรโทรสวยๆ เยอะแล้วก็ใช้ง่ายขึ้น เวลาผมไป มีตะเกียงแก๊สสักตัวก็พอ เพราะเรายังชอบเสน่ห์ของไฟจริง เสียงจริง การเผาไหม้จริง นอกนั้นก็ใช้ LED กับพาวเวอร์แบงก์ไว้ชาร์จสักอันก็อยู่ได้แล้วครับ ปลอดภัยกว่าด้วย”

 

เก้าอี้และโต๊ะ – “ผมว่าเก้าอี้แคมป์มันคือจุดเริ่มต้นของอุปกรณ์พวกคาร์แคมป์เลย เพราะมีสิ่งนี้แล้วโคตรสบาย เมื่อก่อนมีผ้าใบกับเสื่อก็คิดว่าพอแล้ว แต่พอนั่งเก้าอี้ ชีวิตดีเลยจริงๆ ขาดไม่ได้ครับ ควรมีของตัวเองคนละตัว ถ้าจะซื้อก็ต้องลองไปนั่งดูก่อนนะว่าชอบหรือเปล่า แต่เก้าอี้แคมปิ้งมีลักษณะของการนั่งพักผ่อนอยู่แล้ว มันจะเป็นท่ากึ่งชันเข่า สบาย เอนหลังได้ จะต่างก็เรื่องของการพับ การพกพา และวัสดุที่ใช้ครับ”

 

ทาร์ป – “เรามีเต็นท์เป็นบ้านแล้ว อยากจะจัดพื้นที่เพิ่มสเปซเพื่ออยู่กับเพื่อนที่มาด้วยกันก็สร้างได้ด้วยทาร์ปดีๆ สักผืนก็พอครับ พื้นที่ตรงนี้จะเอาไว้ทำอาหารร่วมกัน ทำกิจกรรมอื่นๆ แถมช่วยบังแดดกลางวัน กันน้ำค้างกลางคืนด้วย วิธีเลือกก็เลือกจากวัสดุครับ ผ้าคอตตอนจะช่วยให้เงาที่เข้มกว่า ให้ความเย็นมากกว่า ส่วนพียูจะมีน้ำหนักเบากว่า มีหลายเกรด มีบาง มีหนา มีเคลือบกันน้ำ แต่เดี๋ยวนี้มีแบบใหม่เรียกว่าพีซี (Poly Cotton) คือผสมกันระหว่างผ้าคอตตอนกับพียู ได้ข้อดีทั้งคอตตอนและพียู จึงอยากแนะนำให้ซื้อแบบพีซีครับ”

 

 

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิด และทิปส์เล็กๆ น้อยๆ สำหรับแคมเปอร์มือใหม่

 

ทาร์ป (Tarp) กับฟลายชีต (Fly Sheet) ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน 

คนส่วนมากมักเรียกรวมกันว่า ‘ฟลายชีต’ แต่จริงๆ แล้ว ฟลายชีตคือผ้าที่เอาไว้คลุมเต็นท์เพื่อบังแดดหรือกันน้ำค้าง ส่วนทาร์ปคือผ้าใบที่กางไว้เพื่อบังแดดบังฝนระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน เช่น ทำอาหาร ชงกาแฟ หรือนั่งสังสรรค์ก็ตาม

 

เต็นท์ (Tent) กับเชลเตอร์ (Shelter) ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเช่นกัน

อีกเรื่องที่มักถูกเรียกแบบเหมารวมว่าเป็นของชนิดเดียวกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะมองภายนอกหน้าตาของเต็นท์กับเชลเตอร์ดูคล้ายกัน คำถามคือแล้วอะไรเป็นจุดที่เอาไว้แยกเต็นท์กับเชลเตอร์ออกจากกัน คำตอบจาก Camp Studio คือถ้าหลังไหนมีห้องนอนไม่ว่าใหญ่หรือเล็กจะเรียกว่าเต็นท์ ส่วนเชลเตอร์จะไม่มีห้องนอน เพราะหน้าที่ของเชลเตอร์เหมือนกับ Living Room หรือพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนมาร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน

 

 

มีไอน้ำในเต็นท์ไม่ได้หมายความว่าเต็นท์รั่ว 

ทีม Camp Studio บอกว่านี่คือความเข้าใจผิดที่เจออยู่เป็นประจำ เพราะเมื่อเกิดไอน้ำขึ้น คนมักคิดว่าเต็นท์รั่ว แต่ถ้าสังเกตจริงๆ อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรากางเต็นท์ในบริเวณที่มีความชื้นสูงหรืออากาศข้างนอกเย็นกว่า แล้วมาเจอกับความอุ่นของตัวเรา จึงระเหยขึ้นมาเป็นไอน้ำ ไม่ต่างจากตอนที่เราเติมน้ำเย็นลงไปในแก้วแล้วเกิดไอน้ำฝั่งด้านนอกแก้ว นั่นคือการเกิดคอนเดนส์ (Condense) วิธีแก้คือให้ย้ายจุดกางเต็นท์ที่มีความชื้นลดลง ไม่ตั้งเต็นท์ใกล้น้ำจนเกินไป หรืออีกวิธีคือเปิดให้อากาศผ่านในตอนกลางคืนก็จะช่วยลดการเกิดคอนเดนส์ได้

 

การตอกสมอบกต้องตอกสวนทางกับเชือก ทำมุม 45 องศา

การตอกสมอบกอาจดูเป็นเรื่องง่าย แค่ตอกให้ยึดกับเชือกก็พอ แต่ถ้าจะตอกให้ถูกต้องเพื่อความแข็งแรงของแคมป์แล้ว Camp Studio แนะนำว่าให้ตอกสมอบกทำมุม 45 องศา สวนทางกับเชือก เพราะหากตอกลงไปในแนวเดียวกับเชือก หรือตอกตรงๆ ทำมุม 90 องศาจากพื้นดิน อาจจะทำให้เต็นท์สู้ลมได้น้อยกว่า และหากเป็นการเซตทาร์ปที่ต้องใช้เสา ให้กางเสาในลักษณะเอียงเล็กน้อยเพื่อให้รับลมพัดผ่านได้ แล้วค่อยหุบเสาลงในช่วงเวลากลางคืนหรือช่วงที่ไม่ได้ใช้งาน

 

การเลือกโลเคชันในการตั้งแคมป์

น้ำกับความชื้นเป็นเรื่องที่ทำให้การตั้งแคมป์ไม่สนุกอย่างที่ควรจะเป็น วิธีเลือกโลเคชันจึงต้องใช้การสังเกตหรือสอบถามคนในพื้นที่ว่าน้ำขึ้นลงในช่วงเวลาไหน สังเกตขอบตลิ่งว่าน้ำขึ้นสูงสุดเท่าไร และไม่ควรตั้งแคมป์ต่ำกว่าระดับน้ำ แม้ว่าเต็นท์จะกันน้ำได้ดี แต่ก็ไม่สามารถกันน้ำที่เจิ่งนองผสมกับแรงกดทับจากตัวเราได้แน่นอน

 

 

ลายแทงโลเคชันสำหรับชาวแคมป์มือใหม่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเป็นสถานที่เริ่มต้นในการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้ดี เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของอุทยานฯ จะทำให้คุณได้ฝึกตัวเองในเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การใช้สถานที่กับส่วนรวมอย่างไร หรือการใช้เสียงที่ต้องคำนึงถึงคนอื่นๆ รอบตัวด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนโลเคชันแคมป์ในสถานที่ที่มีความสะดวกน้อยกว่าต่อไปได้ในอนาคต

 

ลานกางเต็นท์ดอยปุย

อีกหนึ่งบรรยากาศแคมป์ใกล้เมืองและสะดวกสบาย เดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ถึงชั่วโมง ขับรถจากกรุงเทพฯ แวะซื้ออาหาร แล้วขึ้นไปนอนเต็นท์บนดอยปุยได้เลย กับโลเคชันบนเนินเขาพร้อมวิวกว้างๆ ของเชียงใหม่ทั้งเมือง 

 

หาดนภาธาราภิรมย์ (หาด EOD)

เหมาะสำหรับคนที่อยากลองหัดแคมป์ แต่ชอบทะเล หรืออยากเปลี่ยนบรรยากาศจากป่าเขาดูบ้าง ที่นี่ค่อนข้างสะดวกสบายและไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพราะโลเคชันของหาด EOD อยู่ใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาแบบไม่กี่นาทีถึง บรรยากาศหน้าเต็นท์จึงเป็นวิวทะเลกว้างๆ มองเห็นเครื่องบินขึ้นลงอยู่เป็นระยะ

 

ภาพ: Camp Studio, Shutterstock

ภาพประกอบ: อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising