วันที่ (19 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดตัว ‘คณะรณรงค์เพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ (ครช.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยรวมกลุ่มภาควิชาการ ภาคนักศึกษา นักกิจกรรม ภาคประชาชนกว่า 30 กลุ่ม ได้แก่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง, ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย, กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์, กลุ่มดาวดิน, สมัชชาคนจน, iLaw, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ฯลฯ ในการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ โดยมี ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ร่วมงานด้วย
พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เปิดเผยว่าการเข้ามามีส่วนร่วมใน ครช. หากใช้ความหนักแน่นเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ เป็นเกณฑ์หลัก ตนเองน่าจะชัดเจน เพราะการลาออกจากพรรคการเมืองหนึ่งก็เพราะคำนี้
พริษฐ์บอกว่าประเด็นที่ให้ความสำคัญมากส่วนหนึ่งก็คือ ‘รัฐธรรรมนูญ’ มีความไม่สบายใจในที่มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน และหลายกติกาหลายเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับกติกาสากล
ที่ผ่านมาเรามีการศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ มีการระดมความเห็นและรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีการเปิดช่องทางสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กในชื่อเพจ ‘รัฐธรรมนูญก้าวหน้า’ โดยจะเริ่มเผยแพร่ความเห็นที่ศึกษามาเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
เหตุผลที่เลือกใช้คำว่า ‘รัฐธรรมนูญก้าวหน้า’ เพราะอยากให้ยึดเหตุผล 3 ประการคือ
1. กติกาต้องเป็นกลาง จะทำให้ประชาชนที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้
2. ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องมีฉบับก้าวหน้าที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ โดยยึดคุณค่าหลักที่ผู้คนสามารถที่จะเห็นได้ ไม่ใช่การต่อสู้ในเรื่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น
3. รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขปัญหาในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น
พริษฐ์บอกว่าข้อเสนอของกลุ่มมี 3 ข้อคือ
1. รูปแบบการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ควรจะต้องเขียนด้วยภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่ายและสั้นกว่าฉบับปัจจุบัน
2. กระบวนการที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเราอยากหาฉันทามติของคนทั้งประเทศ การตั้งคำถามก็สำคัญ ควรแสวงหาจุดร่วม ไม่ใช่จุดต่าง วิธีการโหวตโดยอนุมัติ แทนที่เราจะตั้งคำถามหรือเอาร่างเดียวไปให้ประชาชนโหวตรับหรือไม่รับ ก็เอาหลายๆ ร่างมาให้ประชาชนเลือกว่าอยากจะได้ร่างไหน ถ้าไม่เห็นด้วยสักร่างก็ไม่เป็นไร แต่นี่จะทำให้ประชาชนไปรณรงค์ในเชิงบวกมากกว่าการบอกว่ารับหรือไม่รับ และการต่อสู้กันแต่ละฝ่าย
3. ข้อเสนอเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ ความจริงมีหลายข้อ แต่วันนี้เรื่องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด หากพวกเราเห็นคุณค่าของหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคมากไปกว่าการมีวุฒิสภาปัจจุบัน อยากจะยื่นข้อเสนอการเปลี่ยนระบบรัฐสภาของไทยเป็น ‘ระบบรัฐสภาเดี่ยว’ ทิศทางของโลกกำลังปรับเข้าสู่การมีสภาเดี่ยว จะประหยัดงบประมาณลง และมีการออกกฎหมายที่รวดเร็วมากขึ้น
หลายคนอาจจะกังวลเรื่องระบบสภาเดี่ยว กังวลว่าไม่มีวุฒิสภาแล้วใครจะให้ความเชี่ยวชาญเรื่องวิชาชีพ ตนก็อยากเสนอว่าอาจจะเป็นการเพิ่มบทบาทให้สภาวิชาชีพเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ชั้นกรรมาธิการในการร่างกฎหมาย
หลายคนอาจจะกังวลว่าหากไม่มีวุฒิสภาแล้ว ใครจะมาดูแลจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. น้อย ก็อาจต้องให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้มีคนเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน
สุดท้ายหลายคนกังวลว่าถ้าไม่มีวุฒิสภาแล้วจะไม่มีใครมาถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ตนก็บอกไว้เลยว่าไม่มีอะไรที่อันตรายมากไปกว่าการที่ไม่มี ส.ว. มาถ่วงดุลอำนาจ ก็คือการที่มี ส.ว. ให้ท้ายฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์