×

โกงอายุ! มะเร็งร้ายของเกมลูกหนังแอฟริกา (และความจริงอีกด้านที่น่าเศร้า)

13.01.2023
  • LOADING...
ลูกหนังแอฟริกา

ถึงแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในชาติที่ทำผลงานได้น่าประทับใจในศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา แต่ทีมชาติแคเมอรูน และอาจรวมถึงวงการฟุตบอลแอฟริกันกำลังเผชิญกับพายุที่โหมกระหน่ำอีกครั้ง กับฝันร้ายเรื่องเก่าที่ตามกลับมาหลอกหลอนใหม่

 

‘โกงอายุ’

 

ตามรายงานข่าวฉาวในช่วงที่ผ่านมาระบุว่า ทีมชาติแคเมอรูนชุดอายุไม่เกิน 17 ปี ซึ่งมีโปรแกรมที่จะลงแข่งขันในรายการชิงแชมป์ของสหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกากลาง (Central African Football Federation’s Union) ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าภาพเองที่จะจัดขึ้นในเมืองลิมเบ (Limbe) มีปัญหาใหญ่เมื่อมีผู้เล่นมากถึง 32 คนที่ไม่ผ่านการทดสอบอายุ

 

เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อวงการฟุตบอลแอฟริกา วางหัวใจให้เป็นกลางแล้วมาไล่ดูประเด็นละเอียดอ่อนนี้กันอีกครั้ง

 

มะเร็งร้ายลูกหนังแอฟริกา

 

ความจริงประเด็นเรื่องของการ ‘โกงอายุ’ นักฟุตบอลไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (แม้แต่ทีมชาติไทยเองก็เคยมีปัญหานี้เช่นกัน) และถือเป็นเรื่องใหญ่ของวงการฟุตบอล เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการโกง โดยเฉพาะในระดับฟุตบอลเยาวชน การโกงอายุแค่ 2-3 ปีก็มีผลมากมายมหาศาลแล้ว

 

ที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่ยากจน ซึ่งจะอาศัยกลโกงในเรื่องของการปลอมแปลงเอกสารสูติบัตรของนักฟุตบอล ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นในฟุตบอลระดับอายุไม่เกิน 17 ปีที่เป็นวัยที่ใกล้เคียงกับการก้าวไปสู่การเป็นนักเตะอาชีพมากที่สุด

 

ในปี 1989 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เคยมีคำสั่งแบนทีมชาติไนจีเรียลงพบว่ามีการโกงอายุของนักฟุตบอล 3 คนในการแข่งขันฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก 1988

 

ในปี 2013 มีนักฟุตบอล 9 คนของทีมชาติคองโก-บราซาวีล, ไอวอรีโคสต์ และไนจีเรีย (ชาติละ 3 คน) ที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงแข่งขันในรายการชิงแชมป์แอฟริกา U-17 ที่ประเทศโมร็อกโก หลังไม่ผ่านการตรวจเช็กว่าโตเกินกว่าอายุที่แจ้งหรือไม่


และในปี 2019 ทีมชาติกินี ก็ถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี หลังพบว่ามีนักเตะ 2 คนที่โกงอายุ

 

โจนาธาน อัคโปโบรี อดีตนักเตะทีมชาติไนจีเรีย ซึ่งผันตัวเองมาเป็นเอเจนต์ลูกหนังเปิดเผยกับ BBC ในปี 2013 ว่า เขารู้ว่ามีนักฟุตบอลหลายคนที่โกหกในเรื่องของอายุ ซึ่งต่อให้โกหกได้ในช่วงเวลานั้น แต่ความจริงก็จะไล่ตามมาทันอยู่ดี เพราะนักฟุตบอลเหล่านั้นจะมีอายุการใช้งานน้อยกว่าอายุที่แจ้ง

 

“ถ้าลองดูทีมชาติสเปนเป็นตัวอย่าง นักเตะอย่าง ชาบี หรือ อันเดรส อิเนียสตา นั้นผ่านระบบเยาวชนมา ซึ่งเราสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้จนถึงตอนแรก แต่กับนักเตะแอฟริกาที่เล่นในระดับ U-17 บางคนแค่ 1-2 ปีหลังจากนั้นพวกเขาก็ต้องเลิกเล่นแล้ว เพราะไม่สามารถจะเล่นในแบบที่เคยโชว์ในการแข่งรุ่น U-17 ได้อีก เพราะพวกเขาแก่เกินไป มันกลายเป็นเวทีสำหรับนักเตะที่ไม่สมควรได้โอกาส”

 

สิ่งที่น่าตกใจคือในยุคปัจจุบันทำไมจึงยังมีปัญหานี้อยู่อีก?

 

2023 แด่ความโสมมที่ยังมีอยู่

 

ย้อนกลับไปที่เรื่องราวอื้อฉาวของทีมชาติแคเมอรูนชุด U-17 ซึ่งมีโปรแกรมจะลงแข่งมินิทัวร์นาเมนต์ร่วมกับสาธารณรัฐคองโก, ชาด, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยจะคัดเอา 2 ทีมที่ทำผลงานดีที่สุดไปแข่งขันในระดับทวีปใหญ่ที่ประเทศแอลจีเรีย ในเดือนเมษายนนี้

 

ทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลแคเมอรูน (FECAFOOT) ซึ่งนำมาโดย ซามูแอล เอโต อดีตศูนย์หน้าชื่อก้องเจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแอฟริกา 4 สมัยในวัย 41 ปี ได้พยายามทำให้การแข่งขันโปร่งใสที่สุด จึงมีการสั่งให้ตรวจร่างกายของนักฟุตบอลทุกคนอย่างละเอียด เพื่อชำระล้างภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของแคเมอรูนในเรื่องการโกงอายุ และอีกความตั้งใจคือต้องการยุติปัญหาเรื่องของการปลอมข้อมูลทะเบียนราษฎร์ในประเทศด้วย

 

วิธีการในการตรวจสอบคือ การสแกนด้วยเครื่อง Medical Resonance Imaging (MRI) ที่สามารถใช้ทำการตรวจสอบอายุได้

 

ผลปรากฏว่าในการตรวจชุดแรกมีนักฟุตบอลถึง 21 คนจากทั้งหมด 30 คนที่ถูกเรียกตัวมาไม่ผ่านการตรวจอายุ เท่านั้นไม่พอเมื่อมีการเรียกนักเตะชุดใหม่เข้ามาอีกก็ยังมีนักฟุตบอลที่ไม่ผ่านการทดสอบอีก 11 คน รวมแล้วทีมชาติแคเมอรูนทีมเดียวมีปัญหาเรื่องนี้มากถึง 32 คน จนทำให้โค้ชอย่าง ฌอง ปิแอร์ ฟิอาลา ตกที่นั่งลำบากในการหานักเตะมาลงแข่งขัน

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้วที่ตัดสินใจแบบนี้

 

ยูสซูฟา มูโกโก(ง)?

 

ที่สร้างความฮือฮามากขึ้นไปอีกคือ การที่หนึ่งในนักเตะที่ถูกระบุว่ามีการโกงอายุด้วยคือ ยูสซูฟา มูโกโก กองหน้าเพชรเม็ดงามของทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

 

โดยตามรายงานข่าวในประเทศเยอรมนี ระบุว่ากองหน้าดาวรุ่งพรสวรรค์ที่มีข่าวว่าเป็นที่ต้องการของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และเชลซีนั้นไม่ได้อายุ 18 ปีอย่างที่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด หากแต่อายุถึง 22 ปีแล้ว โดยมีการกล่าวอ้างว่าพบหลักฐานสูติบัตรว่ามูโกโก ซึ่งเกิดที่เมืองยาอุนเด ในประเทศแคเมอรูนนั้นเกิดเมื่อปี 2000 โดยใช้ชื่อว่า ยูสซูฟฟา โมฮามาดู

 

ขณะที่สำนักข่าวในประเทศออสเตรีย Laola1 อ้างว่าเอกสารที่หลุดมานี้ถูกส่งมาจากพ่อเลี้ยงของมูโกโก ที่ให้การดูแลในฐานะบุตรบุญธรรมหลังย้ายมาอยู่เยอรมนีตั้งแต่ปี 2014 และมีการตั้งข้อสังเกตถึงคนรักของสตาร์ดาวรุ่งที่อายุมากกว่า

 

เรื่องนี้ทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี (เดเอฟเบ) ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวลือ แต่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 เดเอฟเบเคยยืนยันว่าไม่พบการกระทำผิดเกี่ยวกับเอกสารของมูโกโกที่ระบุวันเดือนปีเกิดว่าเกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2004 ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นผู้เล่นทีมชาติเยอรมนีชุดใหญ่ไปแล้ว และได้ร่วมทัพไปฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ด้วย

 

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ามูโกโกจะโกงอายุจริง เพราะยังไม่มีการตรวจสอบใดๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะจากฝ่ายของเยอรมนีเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าปัญหาเรื่องการโกงอายุที่ผ่านมาของประเทศแคเมอรูนทำให้ภาพลักษณ์ของนักเตะนั้นมัวหมองตามไปด้วย

 

แน่นอนว่าผู้กระทำผิดมีเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคนบริสุทธิ์อีกไม่น้อยที่ถูกตัดสินทางความรู้สึกไปก่อนหลักฐานเสียแล้ว

 

โกง…เพราะความจำเป็น?

 

ขึ้นชื่อว่าการโกงแล้วอย่างไรก็ผิด แต่มีความจริงอีกด้านของปัญหาเรื่องการโกงอายุในหมู่นักฟุตบอลแอฟริกันที่น่ารับฟังไว้ มันพอจะมีเหตุผลที่พวกเขาเลือกที่จะต้องทำแบบนี้

 

บัมเบ วันเนห์ จิโอวานนี ผู้สื่อข่าวฟุตบอลชาวแคเมอรูนเปิดเผยกับ The Athletic ว่า “เรามีกรณีการโกงอายุมากมาย นักฟุตบอลจะถูกแมวมองจับตาในช่วงอายุ 17-18 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สโมสรต้องการตัวดาวรุ่งพรสวรรค์เพื่อเอามาปั้น ถ้าอายุเกิน 17 ปีหรือ 18 ปีไปแล้ว พวกเขาจะไม่มีโอกาสที่จะได้ไปเล่นในยุโรป”

 

การไปเล่นฟุตบอลในยุโรปสำคัญอย่างไร?

 

คำตอบคือ มันมีค่าเท่ากับชีวิตของพวกเขาและครอบครัว ย้ำว่าครอบครัวด้วย เพราะประเทศในแอฟริกาอย่างแคเมอรูนนั้นมีประชากร 40% ที่อยู่อย่างยากจน ฟุตบอลจึงเป็นโอกาสในการที่จะลืมตาอ้าปากได้สำหรับคนเหล่านี้

 

ยิ่งในปัจจุบันโลกฟุตบอลไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในยุโรป นักฟุตบอลจากแอฟริกาเป็นที่ต้องการของลีกต่างๆ มากมายทั่วโลก เช่น ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา, จีน หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตาม ดังนั้นนักฟุตบอลเหล่านี้พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะให้ตัวเองได้มีโอกาสได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

 

ดาเนียล เอคอนเด นักจัดรายการทาง Cameroon Radio Television บอกว่า “นักเตะเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาได้อย่างง่ายดายผ่านกีฬา พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ต่อให้ต้องทำในสิ่งที่ผิดก็ตาม”

 

อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งที่นักเตะเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น หากแต่มีเอเจนต์ลูกหนังผู้ชั่วร้ายอีกจำนวนมากที่ต้องการหาเงินจากพรสวรรค์ของนักเตะเหล่านี้ และพร้อมชี้ประตูที่ผิดบานให้

 

วิธีการตรวจด้วย MRI เชื่อถือได้แค่ไหน?

 

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ การตรวจอายุด้วย MRI แม่นยำแค่ไหน?

 

เรื่องนี้ต้องบอกว่าการใช้ MRI เพื่อวัดอายุนั้นไม่ได้มีความแม่นยำเต็มร้อยแต่อย่างใด แต่ก็มีการอ้างว่าความแม่นยำนั้นสูงถึง 99% แต่ก็เคยมีกรณีที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน หรือบางครั้งอาจจะมีนักฟุตบอลที่มีร่างกายที่โตไวกว่าที่ควรจะเป็น

 

หนึ่งในตัวอย่างคือ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ศูนย์หน้าทีมชาตินอร์เวย์ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

อย่างไรก็ดีถึงจะไม่ได้แม่นยำทั้งหมด แต่นี่เป็นวิธีเดียวที่พอจะช่วยหาความจริงในเรื่องนี้ได้ ซึ่ง FIFA นำ MRI มาช่วยตรวจสอบอายุตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และที่ผ่านมาก็ถือว่าได้ผลค่อนข้างดี

 

อย่างไรก็ดีต่อให้ทำผิด แต่เพื่อปกป้องอนาคตของนักฟุตบอลเหล่านี้ สิ่งที่ FECAFOOT พยายามทำคือ การไม่เปิดเผยชื่อของพวกเขาออกมา โดยจะมีการเปิดเผยเฉพาะชื่อของนักฟุตบอลที่ผ่านการทดสอบเท่านั้น

 

เพื่อไม่ให้มันต้องเป็น ‘ตราบาป’ ที่ติดตัวไปตลอดชีวิตที่เหลือ

 

เผื่อว่าพวกเขาจะมีโอกาสครั้งต่อไปในชีวิต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X