×

‘กัมพูชา’ รั้งอันดับ 2 ของโลก ขึ้นเป็นประเทศที่คืบหน้าใช้เงินดิจิทัลแบบ CBDC กับประชาชนรายย่อยในภาคธุรกิจมากที่สุด

20.04.2021
  • LOADING...
‘กัมพูชา’ รั้งอันดับ 2 ของโลก ขึ้นเป็นประเทศที่คืบหน้าใช้เงินดิจิทัลแบบ CBDC กับประชาชนรายย่อยในภาคธุรกิจมากที่สุด

สำนักข่าว Bloomberg รายงานอ้างอิงผลการศึกษาของ PwC ที่จัดอันดับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลกลางแบบ Retail หรือแบบที่ใช้กับประชาชนทั่วไปในแต่ละประเทศ พบว่าอันดับหนึ่งคือ บาฮามาส อันดับสองคือกัมพูชา ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการศึกษาทดสอบ CBDC หรือ Central Bank Digital Currency อย่างต่อเนื่อง กลับอยู่ในลำดับที่ 3 ท่ามกลางธนาคารกลางทั่วโลกมากกว่า 60 แห่งที่เดินหน้าศึกษาสกุลเงินดิจิทัล

 

ทั้งนี้ CBDC มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละธนาคารกลาง โดยหากมองในมิติของขนาดการชำระเงิน จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือแบบ Wholesale ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ธนาคารกลางออก CBDC ให้สถาบันการเงินใช้ในการชำระธุรกรรมขนาดใหญ่ระหว่างกัน และแบบที่สองคือ Retail ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนใช้ชำระธุรกรรมรายย่อย

 

รายงานระบุว่า ขณะนี้โครงการสกุลเงินดิจิทัลกลางแบบ Retail ค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขณะที่รูปแบบระหว่างธนาคาร (Interbank) หรือ Wholesale ก็มีอิทธิพลมากขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

 

สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้ CBDC รูปแบบ Retail ของบาฮามาสและกัมพูชาแซงหน้าจีน เนื่องจากโครงการดังกล่าวของสองประเทศนี้ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ของจีนกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน โดยมีเพียง 23% ของโครงการ Retail เท่านั้นที่มาถึงระดับการประยุกต์ใช้งาน ขณะที่เกือบ 70% ของโครงการ Wholesale กำลังอยู่ในช่วงนำร่อง

 

PwC กล่าวว่า CBDC จะมีส่วนอย่างมากในการปรับปรุงภูมิทัศน์การเงินระหว่างประเทศให้ทันสมัย สร้างความร่วมมือกับการกำหนดค่าใหม่ ทั้งในด้านการชำระเงินและโครงสร้างพื้นฐานการเงิน ตลอดจนสร้างโอกาสมากมายในการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลทั้งในระดับบริษัทและสถาบันทางการเงิน ซึ่งจะทำให้การชำระเงินและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินมีการบูรณาการที่ก้าวหน้ามากขึ้น

 

ทั้งนี้ ปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าศึกษาสกุลเงินดิจิทัลกลางอย่างจริงจัง ก็คือความนิยมในเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีแนวโน้มได้รับการยอมรับในฐานะสกุลเงินหนึ่งที่มีมูลค่าในการชำระเงินและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ บวกกับโครงการ Libara หรือปัจจุบันในชื่อ Diem ที่ได้รับจากสนับสนุนจาก Facebook ประกาศเปิดตัวเตรียมนำมาใช้งาน

 

โดยขณะนี้จีนกำลังเดินหน้าทดสอบเงินหยวนดิจิทัลของตนเองอย่างจริงจัง หลายประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน ต่างก็เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการนำเงินดิจิทัลกลางมาใช้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าสนใจ แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบแต่อย่างใด

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลี่ป๋อ รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ได้กล่าวระหว่างการประชุม Boao Forum For Asia ย้ำว่าสกุลเงินหยวนดิจิทัลนี้ไม่ใช่เพื่อใช้แทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ แต่เพื่อนำมาใช้แทนธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในระบบของจีน และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดภายในประเทศ และว่าสกุลเงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี และไม่ได้ออกแบบมาในลักษณะเดียวกับสกุลเงินบิตคอยน์

 

ขณะเดียวกัน PwC ยังรายงานว่า ในส่วนของโครงการระหว่างธนาคาร หรือ Wholesale Project นี้ ไทยและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงมาเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ ตามด้วยสิงคโปร์ แคนาดา และสหราชอาณาจักร

 

ทั้งนี้ รายงานยังพบอีกว่า มากกว่า 88% ของโครงการ CBDC ที่อยู่ในระยะนำร่องหรือการผลิต (Production) ต่างใช้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานหลัก ซึ่งแม้จะไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไปในการจัดทำโครงการ แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ช่วยให้การโอนย้ายความเป็นเจ้าของสกุลเงินดิจิทัลมีความปลอดภัยมากขึ้น สามารถติดตามตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ

 

Henri Arslanian หัวหน้า Global Crypto ของ PwC กล่าวว่า หนึ่งในผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากสกุลเงินดิจิทัลกลางมากที่สุดก็คือประชาชนคนทั่วไป เพราะ CBDC จะช่วยให้เข้าถึงรูปแบบเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของวิวัฒนาการทางการเงิน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising