วานนี้ (5 พฤษภาคม) กัมพูชา เริ่มก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์และโลจิสติกส์มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.12 หมื่นล้านบาท) ในจังหวัดกำปอด ทางตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเสริมสร้างภาคคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ
เจีย โสภารา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้างกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีวางศิลาฤกษ์ในเมืองโบกอร์ว่า โครงการนี้ลงทุนโดยบริษัทท้องถิ่น กำปอด โลจิสติกส์ แอนด์ พอร์ต (Kampot Logistics and Port) ส่วนงานก่อสร้างดำเนินการโดย บริษัท เซี่ยงไฮ้ คอนสตรักชัน กรุ๊ป (Shanghai Construction Group) และ บริษัทไชน่า โรด แอนด์ บริดจ์ คอร์ปอเรชัน (China Road and Bridge Corporation)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ทุนจีน’ กำลังทอดทิ้ง สีหนุวิลล์ หรือไม่? เมื่อเมืองนี้กำลังเต็มไปด้วยตึกที่สร้างไม่เสร็จนับพันแห่ง
- กัมพูชาส่งออก ‘เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า-สินค้าเดินทาง’ โตขึ้น 15.2% ในปี 2021
- Prime พร้อมรุกโซลาร์เซลล์ ‘กัมพูชา’ และ ‘อุซเบกิซสถาน’ ขยาย ‘PrimeX’ คอนซัลท์ระบบเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
ท่าเรืออเนกประสงค์แห่งนี้สร้างบนพื้นที่ 600 เฮกตาร์ (ราว 3,750 ไร่) มีความลึก 15 เมตร และสามารถรองรับเรือที่มีน้ำหนักมากถึง 100,000 ตัน โดยจะเป็นประตูสู่นานาชาติแห่งใหม่สำหรับอำนวยความสะดวกการค้าของกัมพูชากับต่างประเทศ และจะมีบทบาทส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างมาก
ซุน จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกัมพูชา ระบุว่าโครงการก่อสร้างระยะ 15 ปี จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเริ่มตั้งแต่ปี 2022-2025 และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.83 พันล้านบาท)
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะประกอบด้วยท่าเทียบเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรี ศูนย์กลางโลจิสติกส์ โรงกลั่นน้ำมัน และท่าเทียบเรือสำหรับเรือท่องเที่ยว
จันทอลเผยว่าท่าเรือแห่งนี้จะสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า 300,000 ทีอียู (TEU: หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต) ในปี 2025 และมากถึง 600,000 ทีอียูในปี 2030 รวมถึงสร้างตำแหน่งงานทั้งทางตรงและทางอ้อมราว 10,000 อัตราเมื่อเปิดดำเนินการ และจะกลายเป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชา รองจากท่าเรือสีหนุวิลล์และท่าเรือพนมเปญ
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว