×

ท่องเที่ยว ส่งออก FDI ดัน GDP กัมพูชาโตแรง คาดปีนี้ทะลุ 5.6%

11.11.2024
  • LOADING...
กัมพูชา FDI GDP

จับตาเศรษฐกิจกัมพูชา! เมื่อภาคการส่งออก ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง FDI หนุน GDP กัมพูชาโตแรง โดยศูนย์วิจัยกสิกรระบุ ปีนี้คาด GDP โตถึง 5.6% ขณะที่ ส.อ.ท. หนุนรัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา เสริมแกร่งด้านพลังงานของสองประเทศและภูมิภาคอาเซียน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เศรษฐกิจกัมพูชาปี 2024 คาดว่าจะเติบโตที่ 5.6% จากปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของการส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่มูลค่าการส่งออกกัมพูชาโต 14.6%YoY ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2024 จากสถานการณ์การค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น นำโดยการส่งออกสินค้ากลุ่มสิ่งทอ รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง

 

อีกทั้งธนาคารกลางกัมพูชาใช้มาตรการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2025 ซึ่งสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพหนี้ในระบบธนาคาร

 

สอดคล้องรายงานข่าวของ The Phnom Penh Post ที่ระบุว่า ข้อมูลจากการพัฒนาเอเชีย (ADO) ประจำเดือนกันยายน 2024 สรุปเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2024 ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเติบโต 6.0% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.8% ในปี 2023

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในภาคบริการ ทำให้กัมพูชาอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค แม้ว่าจะยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายปัจจัยก็ตาม

 

Jyotsana Varma ผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

โดยภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2025 และปีต่อๆ ไป

 

“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าการเติบโตของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ภายนอกและการลงทุนของภาครัฐ”Jyotsana กล่าว

 

ดังนั้นคาดว่าภูมิภาคโดยรวมจะเติบโต 4.5% ในปี 2024 โดยกัมพูชาโดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเมียนมากลับมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนภายในประเทศและการเมือง โดยไทยคาดว่าจะเติบโตเพียง 2.3% ในปี 2024 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับแนวโน้มของเมียนมาที่ดูไม่สดใสนัก เนื่องจากความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบอย่างหนัก

 

ในทางตรงกันข้าม การเติบโตของกัมพูชาจะเติบโตตามเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศมีการเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภายในประเทศและการลงทุนของภาครัฐที่ดี

 

โดยปี 2024 คาดว่า GDP ของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น 5.0% ซึ่งมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ในขณะที่ฟิลิปปินส์คาดว่าจะรักษาอัตราการเติบโตไว้สูงกว่า 6.0% โดยได้รับการสนับสนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ความเสี่ยงและความท้าทาย

 

รายงานระบุว่า แม้เศรษฐกิจของกัมพูชามีแนวโน้มในเชิงบวก แต่ความเสี่ยงหลายประการอาจคุกคามการเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยการส่งออกของกัมพูชา

 

นอกจากนี้ประเทศยังคงมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร

 

ADO กล่าวว่า “ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชายังคงซบเซา โดยราคาทรัพย์สินลดลงและการทำธุรกรรมน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวม”

 

ถือเป็นความท้าทายร่วมกันของเพื่อนบ้านอย่างไทย ที่ระดับหนี้ครัวเรือนยังคงสูงและความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซบเซาลง

 

คลัง-แบงก์ชาติคาด GDP ไทยปีนี้ต่ำ 3%

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future’ ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมานานมากกว่า 10 ปี เห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 1.9%

 

ส่วนปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% บวก-ลบ ซึ่งเดิมคาดว่าจะโตมากกว่าตัวเลขดังกล่าว แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่ามีเหตุการณ์น้ำท่วมเข้ามากระทบ และปีหน้าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะขยายตัว 2.7% และในปี 2025 ขยายตัว 2.9%

 

ส.อ.ท. หนุนรัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา เสริมแกร่งสองประเทศและภูมิภาคอาเซียน

 

ด้าน อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา ‘พลังงานราคาถูก… ทางรอดเศรษฐกิจไทย’ ที่จัดโดยฐานเศรษฐกิจว่า ประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา นั้นเชื่อและหวังว่าจะสามารถเดินหน้าเจรจาได้ และคาดหวังว่าวันนี้จะเป็นโอกาสและประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับ 2 ประเทศ ทั้งไทยและกัมพูชา ที่ต่างมีเรื่องวิกฤตพลังงาน

 

“อยากเห็นความแข็งแกร่งของอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เพราะการเป็นประเทศเล็กมักเสียเปรียบเรื่องการค้าเสรี (FTA) และการถูกดัมป์ราคาสินค้าของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาตีในตลาด เพราะวันนี้จะเห็นได้แล้วว่าการผลิตและการส่งออกเริ่มต่ำลง สินค้าในแบรนด์ Made in Thailand เริ่มลดน้อยลง”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ ส.อ.ท. ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจา แต่ขอเสนอรัฐบาลควรเดินหน้า OCA ให้เกิดยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้

  1. ความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องมี
  2. ทีมเจรจาจะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมาจากกระทรวงการต่างประเทศ ทหารเรือ หรือกระทรวง หน่วยงานไหนก็ตาม ต้องเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญ
  3. ความกล้าหาญของภาคการเมือง
  4. ความเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน

 

ส่วนประเด็นเกาะกูดชัดเจนแล้วว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ OCA เนื่องจากสนธิสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ฉะนั้นควรเดินหน้าตามกรอบ MOU 44 ต่อไป ไม่ควรรื้อใหม่

 

ขณะที่ คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย มองว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานที่นับวันจะหมดไป

 

ดังนั้นการเร่งเจรจาพื้นที่ OCA ภายใต้กรอบ MOU 44 จึงควรเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับแนวทางการจัดหาแหล่งพลังงานซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ

 

โดยอนาคตคาดว่าอาจมีปริมาณก๊าซสำรองประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท สามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาผันผวนได้อีกมาก และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจในระยะยาว จึงจำเป็นต้องเร่งเจรจาเขตไหล่ทวีปทับซ้อน OCA ดังกล่าว โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising