วันนี้ (22 กรกฎาคม) พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ตามสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการดำเนินคดีกับดารานักร้อง และมีการเข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) นางเลิ้งในวันนี้ กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คตส.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ให้ดำเนินคดีกับ ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ ดารานักร้อง ในข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ซึ่งได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ ‘ไอนวยเอง (@millimdk)’ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 11.00 น. โดยมีเนื้อหาดูหมิ่นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยการโฆษณา ทำให้ได้รับความเสียหาย ให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง พนักงานสอบสวนได้ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริงตามกล่าวหา จึงได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ต่อมาวันนี้ เวลา 10.00 น. มิลลิได้เดินทางมา สน.นางเลิ้ง ตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว และให้การยอมรับว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงทำการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท
กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงเตือนผู้ที่จะโพสต์เผยแพร่ข้อความ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง ศิลปิน ที่ได้โพสต์ Call out ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25 และ 34 แต่ต้องเป็นการกระทำโดยสุจริตและไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น กรณีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม หรือดูหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณาและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 หรือ 393 หากเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) อีกส่วนหนึ่งด้วย
พล.ต.ต. ปิยะ ยังเปิดเผยด้วยว่า มีบุคคลมีชื่อเสียงเข้าข่ายความผิด 20-25 ราย รวมถึงบุคคลที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือสร้างข่าวปลอม (เฟกนิวส์) โดย บช.น. ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) ในการดำเนินคดี ทั้งนี้ ถ้าคดีขาดอายุความไม่สามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ อภิวัฒน์ ขันทอง ประธาน คตส. ยังได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับผู้โพสต์ข้อความให้เกิดความเสียหายแก่นายกรัฐมนตรีอีก 2 คดี คือ
- ยุทธเลิศ สิปปภาค อายุ 55 ปี ร้องทุกข์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ตามคดีอาญาที่ 244/2564
- พัชรพร จันทรประดิษฐ์ อายุ 23 ปี ร้องทุกข์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ตามคดีอาญาที่ 135/2564
ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป