×

‘จับตัวเอง-ขู่แม่’ แผนประทุษกรรมบีบหัวใจของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

20.08.2023
  • LOADING...
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าวของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้กลอุบายรูปแบบใหม่ในการหลอกลวงผู้เสียหาย นอกจากจะเป็นวิธีการหลอกที่เรายังไม่ค่อยพบเห็นแล้ว หากได้ติดตามจะทราบว่าสถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นได้ ‘บีบหัวใจ’ หัวอกคนเป็นแม่อย่างถึงที่สุด

 

เหตุประทุษกรรมจากลูกถึงแม่

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โทรศัพท์หมายเลข 698958129007 ได้โทรศัพท์ถึง ‘เอ’ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ปลายสายเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทไปรษณีย์ไทย แจ้งว่าเอเป็นผู้ส่งพัสดุผิดกฎหมายจากจังหวัดสงขลา หากเอไม่เกี่ยวข้องและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ จะต้องติดต่อตำรวจในพื้นที่ 

 

เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้โอนสายถึงตำรวจในพื้นที่ต่อเนื่องทันที ซึ่งในขณะนั้นเอเชื่อโดยสนิทใจและเริ่มทำตามขั้นตอนของตำรวจ จัดการโอนเงินที่มีทั้งหมดในบัญชี ปัญหาดูจะคลี่คลาย แต่สถานการณ์ไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากที่เอโอนเงินครบ ตำรวจได้แจ้งว่าบัญชีของเธอเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน 

 

นำไปสู่การติดต่อกับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นสายที่ 3 ในรอบนี้เป็นการพูดคุยแบบวิดีโอคอล ระหว่างเอกับเจ้าหน้าที่ ปปง. เอถูกสั่งให้ย้ายจากหอพักไปอยู่ที่โรงแรมใกล้เคียง ด้วยเหตุผลว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยขณะดำเนินการ

 

การพูดคุยดำเนินไปต่อเนื่องจนเอเริ่มให้ข้อมูลของผู้ปกครอง ชื่อ สกุล เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร และปลายสายได้ให้เอถ่ายคลิปพูดตามบท เพื่อบอกแม่ว่าถูกลักพาตัว ให้แม่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยที่เอมีหน้าที่แค่ถ่ายคลิปตัวเอง ห้ามติดต่อใครเพิ่มเติม ตลอดการถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ในวิดีโอคอลจะคอยเฝ้าดู

 

เอ ไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่าอีกด้านของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ติดต่อแม่ของเอด้วยไลน์ของเอ ซึ่งเอได้ให้รหัสไว้ เพื่อหลอกให้แม่เอหลงเชื่อว่าเออยู่กับคนร้ายจริง และเอจะตกอยู่ในอันตรายถ้าแม่ไม่โอนเงินจำนวน 3 ล้านบาทให้คนร้าย

 

แผนประทุษกรรมใหม่ บนพื้นฐานสถานการณ์เดิม

 

ทีมข่าว THE STANDARD ได้พูดคุยและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล หัวหน้าชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีนี้

 

พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวว่า รูปแบบที่ใช้ในการหลอกผู้เสียหายครั้งนี้ถือว่าเป็นรูปแบบผสมผสาน เริ่มต้นจากการหลอกแบบเดิมๆ ที่เรารู้ คือหลอกว่ามีพัสดุไปรษณีย์ เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

 

แต่ครั้งนี้วิวัฒนาการในเรื่องความเลวร้ายมีเพิ่มมากขึ้น คือการสร้างความกดดัน และความรู้สึกสะเทือนจิตใจ เจ็บปวดให้กับผู้เสียหาย ให้รู้สึกกลัวหรือช็อกจนถึงขีดสุด 

 

หากย้อนกลับไปดูพฤติการณ์ที่ผ่านๆ มาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะเห็นว่าคอลเซ็นเตอร์สาย 1-3 จะหลอกผู้เสียหายเพียงคนเดียว และจะพยายามสะกดไม่ให้ผู้เสียหายไปสื่อสารกับผู้อื่น แต่ครั้งนี้จะเป็นการหลอกผู้เสียหายไปพร้อมกับการหลอกผู้ปกครอง ฉะนั้นกรณีนี้ตำรวจสรุปได้ว่า คอลเซ็นเตอร์แบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม ทีมที่ 1 และ 2 สะกดเหยื่อที่เป็นนักศึกษา ทีมที่ 3 จะสะกดผู้ปกครอง

 

พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาชุดสืบนครบาลเคยเจอกรณีที่ใกล้เคียงกันแต่ไม่เลวร้ายถึงขนาดนี้ ที่ผ่านมาไม่มีการนำเรื่องของชีวิตมาล้อเล่น ไม่เคยพยายามแยกแม่กับลูก ครั้งนี้จึงถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุด 

 

“คนไทยที่ให้ความร่วมมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้รูปแบบหลอกเรียกค่าไถ่ ถือว่าจิตใจของเขาเลวร้ายมาก” พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าว

 

เมื่อถามว่าพัฒนาการของการหลอกเช่นนี้ ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และจะทำให้ยากต่อการตรวจจับหรือไม่ พล.ต.ต. ธีรเดชระบุว่า เจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโดยหลักพื้นฐานของผู้ปกครอง สิ่งที่เขารักและห่วงมากที่สุดคือลูกของเขา แม้เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและยืนยันได้ว่าบุตรหลานไม่ได้ถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ตัวคนร้ายอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน แม้เจ้าหน้าที่จะมีการให้ข้อมูลผู้ปกครองไปแล้ว แต่ผู้ปกครองที่ได้รับสายโดยตรงจากคนร้ายว่าจะทำร้ายร่างกายลูกก็เลือกที่จะเชื่อคนร้าย

 

ทำให้ตำรวจชุดปฏิบัติการต้องใช้แผนรับมือแบบการเรียกค่าไถ่ ไม่ใช่แผนรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ธรรมดา พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวต่อว่า ในกรณีที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เฉพาะชุดสืบสวนนครบาล ต้องระดมเจ้าหน้าที่เกือบทั้งกองกำกับ 

 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น แม่ของนักศึกษาไม่กล้าติดต่อตำรวจโดยตรงเพราะต้องทำตามชุดคำสั่งของคนร้าย แต่แม่ติดต่อพ่อและคนรอบข้างเพื่อจะรวบรวมเงิน ขณะนั้นแม่มีเงิน 500,000 บาท แต่คนร้ายเรียกเงิน 3 ล้านบาท เมื่อพ่อได้รับข้อมูลจากแม่จึงได้ตัดสินใจปรึกษาตำรวจ จนสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้

 

พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวต่อว่า ความแนบเนียนของกลุ่มผู้ร้ายตนไม่แปลกใจ เพราะ จากที่เคยไปปฏิบัติการทลายกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่ต่างประเทศ กลุ่มผู้ร้ายจะมีตำรา มีแผนประทุษกรรม มีบทสนทนาที่วางไว้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกสถานการณ์ อย่างสมจริง

 

แม้แต่ข้อมูลที่มีการแอบอ้างกับผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าหน้าที่ก็สมจริง จนเราที่เป็นผู้เสียหายหากค้นหาก็จะเจอข้อมูลของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้

 

กลุ่มผู้เสียหายในแผนประทุษกรรมที่คนร้ายเลือกได้ตามใจชอบ

 

เมื่อถามว่าชุดข้อมูลผู้เสียหายเหล่านี้ถูกนำมาจากไหน พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีส่วนของทีมงานหลังบ้าน ซึ่งทีมงานเหล่านี้จะมีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับมาจากหลายช่องทาง เช่น การที่ผู้เสียหายต้องกรอกข้อมูลเพื่อซื้อของออนไลน์ การลงชื่อเบอร์โทรศัพท์เพื่อแลกรับของแจก กลุ่มทีมงานหลังบ้านจะไปหาซื้อข้อมูลเหล่านี้มาจากผู้ที่รวบรวม 

 

และอีกวิธีคือการใช้แฮกเกอร์คอยแฮ็กข้อมูลจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่ไม่มีการป้องกันที่ดี ข้อมูลเหล่านี้ก็จะหลุดออกไปได้

 

สิ่งที่สังคมสงสัยว่าทำไมวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถยกระดับในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ พล.ต.ต. ธีรเดชอธิบายว่า

 

ประเด็นที่ 1 คือตัวผู้เสียหายไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลัวเสียงจากสังคมสะท้อนกลับมาว่าทำไมถึงถูกหลอก รู้เห็นกับคนร้ายสร้างสถานการณ์หรือไม่ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ถึงกลัวคำขู่ของผู้ร้าย

 

ประเด็นที่ 2 คือการที่คนไทยหลายคนยินยอมและเอื้ออำนวยกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ในการเปิดบัญชีม้าเพื่อเป็นเส้นทางการเงิน ทำให้เงินสามารถโอนออกนอกประเทศได้ 

 

พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวว่า ที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างเปิดบัญชีม้าอยู่ที่ 500 บาทต่อบัญชี แต่ด้วยการปราบปรามของตำรวจที่เข้มข้นขึ้น การเปิดบัญชีม้าทำได้ยากขึ้น ปัจจุบันอัตราค่าจ้างเปิดบัญชีจึงเพิ่มสูงถึง 17,000 บาทต่อบัญชี

 

ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับใคร สิ่งที่ทำได้คือตั้งสติ

 

พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวว่า บทเรียนจากกรณีนี้ผู้เสียหายที่เป็นนักศึกษาจะต้องตั้งสติให้ได้เร็วที่สุด เพราะถ้าตัวนักศึกษาเองไม่ถูกหลอก ผู้ร้ายก็จะไม่ขยายการหลอกไปถึงผู้ปกครองได้ สิ่งที่ตนอยากฝากไปถึงกลุ่มนักศึกษาหรือประชาชนทั่วไปว่า หากมีการโทรศัพท์ไปจากหน่วยงานของรัฐหรือตำรวจให้พึงระลึกว่า

 

“เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลามากพอในการโทรไปหารายบุคคล ยิ่งเฉพาะวันหยุด หรือวันหยุดราชการ และไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดที่จะให้โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ และเป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะชักชวนให้ผู้เสียหายไปเปิดโรงแรมห้องพัก”พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าว

 

ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจริงจะต้องแจ้งให้ประชาชนไปโรงพักหรือหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่มีเบอร์โทรศัพท์ไม่คุ้นชินโทรเข้ามาให้เรา ขอเบอร์โทรศัพท์กับผู้ที่อยู่ในสายเพื่อติดต่อกลับและวางสายนั้นทันที จากนั้นก็ให้ไปค้นหาว่าหน่วยงานดังกล่าวใช้เบอร์โทรศัพท์นี้จริงหรือไม่ และโทรไปที่เบอร์ที่ถูกต้องเพื่อตรวจสอบว่ามีรายชื่อเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวปฏิบัติงานจริง

หากรู้สึกว่ากำลังถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.com หรือโทรศัพท์สายด่วนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร 1441

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X