วันนี้ (28 พฤศจิกายน) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรก่อกวน ว่าที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้กับประชาชนทุกวันอยู่แล้ว โดยเน้นการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลซึ่งมิจฉาชีพได้นำไปใช้ โดยได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งตอนนี้หน่วยงานภาครัฐ 85 หน่วยงานได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีอีก 9,000 หน่วยงานในภาคเอกชนที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้จะเตรียมเชิญเครือข่ายให้บริการสัญญาณมือถือมาหารือแก้ไขปัญหาซิมม้าในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งพบว่าในบางวัน 1 เบอร์ โทรหาผู้เสียหายเป็น 100 ครั้ง จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการใช้ AI ตรวจจับเบอร์โทรศัพท์ที่ผิดสังเกต ซึ่งในวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 พฤศจิกายน) ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับมาตรการลงทะเบียนซิมการ์ดสำหรับบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีเบอร์โทรศัพท์มากกว่า 5 เบอร์ จะต้องลงทะเบียนให้เสร็จภายใน 30 วัน
รับเคยโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก
ประเสริฐยอมรับด้วยว่าเคยโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาก่อกวน แต่เมื่อรู้ตัวว่าหลอกไม่ได้ก็วางโทรศัพท์ไป ทั้งที่ตนกำลังจะเตรียมถ่ายคลิป ซึ่งจากนี้จะต้องมีการฝึกอบรมประชาชนเพื่อฉีดวัคซีนในการป้องกันปัญหานี้ ส่วนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมานั้น ขณะนี้ได้ให้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินการสืบประวัติและติดตามดูพฤติกรรม ซึ่งขณะนี้พบว่าบางส่วนได้รับการช่วยเหลือและส่งกลับบ้านแล้ว
ขณะที่บางคนถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เพราะตอนนี้รัฐบาลได้ใช้ทุกองคาพยพ ทั้งกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนโยบายเชิงรุก ส่วนตัวคิดว่าจะต้องจับตัวการใหญ่ให้ได้ ซึ่งขอให้สังเกตว่าขณะนี้มีการดำเนินการจับกุมเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวการและผู้ที่นำข้อมูลส่วนบุคคลไปขาย
เตรียมเพิ่มโทษคนขายข้อมูล
ส่วนกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ (PDPA) ประเสริฐกล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้ทีมกฎหมายของกระทรวงเตรียมนำเสนอว่ามีกฎหมายใดที่จะต้องแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ระบุว่าคนที่แฮ็กข้อมูลมีความผิด แต่คนที่ซื้อขายข้อมูลไม่มีความผิด จึงต้องเพิ่มฐานความผิดเข้าไป รวมถึงกรณีการซื้อขายข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ที่รั่วไหล 4 แสนรายการ
ประเสริฐกล่าวต่อว่า จะมีการแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ 2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ 3. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะส่งให้สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในเดือนธันวาคมนี้ และหากไม่มีอะไรต้องแก้ไขจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาทั้งจำและปรับ ซึ่งจะพิจารณาโทษตามฐานความผิด โดยอาจจะสูงถึง 5 แสนบาท หากเป็นข้อมูลขนาดใหญ่
สวนกลับ ‘โรม’ อย่าพาดพิงคนชั้น 14 ปมนิรโทษกรรม
สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลมีการดำเนินการเดินผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยหรือไม่ ประเสริฐระบุว่า ขอดูที่สาระสำคัญและหลักการของกฎหมายก่อนพิจารณา ซึ่งถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชน เชื่อว่ารัฐสภาก็จะพิจารณา ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่สามารถตอบได้ว่าเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้เน้นไปที่นโยบาย ไม่ได้พูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เท่าไรนัก แต่ขอยืนยันว่าอะไรที่ไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับการเมืองจริงๆ
เมื่อถามว่ากรณีที่ รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาบอกว่าร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลจะทำให้ทุกคนได้สิทธิเท่ากัน เพราะตอนนี้หลายคนรับสิทธิเหมือนกับคนที่อยู่ชั้น 14 นั้น ประเสริฐระบุว่า “ไม่อยากให้พาดพิงบุคคลที่อยู่ชั้น 14 เพราะสิ่งที่ท่านได้รับเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง จึงขอส่งสัญญาณไปว่าอย่าทำให้เป็นประเด็นการเมืองมาก เพราะขณะนี้บ้านเมืองกำลังเดินหน้าไปด้วยดี ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องเป็นเรื่องสำคัญที่เรากำลังทำอยู่ ไม่อยากให้เร่งรัดเรื่องนี้จนเกินไป”
ส่วนท่าทีของรังสิมันต์จะทำให้การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นไปได้ยากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากพรรคก้าวไกลต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกพรรค ประเสริฐระบุว่า ขอให้พิจารณายกร่างกฎหมายด้วยความบริสุทธิ์ใจและการนำเสนออย่างมีวาระซ่อนเร้น ซึ่งหากต้องการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ พรรคเพื่อไทยก็พร้อมสนับสนุน